'ส้มจุก 'ปลุกชีวิต'คนจะนะ'
GH News April 30, 2025 05:09 PM

ครจะคิดว่า”ส้มจุก”ผลไม้กระกูลส้มชนิดหนึ่ง ที่ปลูกกันแถบภาคใต้ของไทย จะจุดประกายนำไปสู่การเรียนรู้ และสร้างความเข้มแข็งการจัดการชุมชน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจระดับฐานราก ให้กับชุมชน ภายใต้แรงขับเคลื่อนของคนในชุมชนเอง

จุดเริ่มโครงการมาจาก เมื่อ 10ปีที่แล้ว ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา ที่เคยเป็นแหล่งใหญ่ปลูกส้มจุก ส้มที่นี่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ส้มจุกเคยเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นกอบเป็นกำ ถึงกับมีคำพูดวา”บ้านอิฐสร้างมาจากส้มจุก” แต่พอมาถึงยุคปุ๋ยเคมีเฟื่องฟู คนที่บ้านแค ก็นำปุ๋ยเคมีมาใช้กับส้มจุกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหายนะ  เนื่องจากต้นสัมจุกไม่ชอบปุ๋ยเคมี จึงมีสภาพโคนต้นเน่า และตายในที่สุด จนทั้งชุมชนเหลือต้นส้มจุกเพียง 10  ต้นเท่านั้น ซึ่งเป็นต้นที่ปลูกกันตามบ้านเรือน

ด้วยความกลัวว่าส้มจุก บ้านแคจะสูญพันธุ์ไปจริงๆ  ชาวบ้าน ต.แค ได้รวมกลุ่มกันก่อตั้ง”วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ”ขึ้น เจตนา เพื่อปลุกชีวิตส้มจุกที่หลับไหล ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในปี2562  ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก่อเกิดการเสริมทักษะอาชีพปลูกส้มจุกในต.แค และผุดหลักสูตร ขึ้นมา 2ส่วน หลักสูตรที่เป็นวิชาการและหลักสูตรที่เป็นภูมิปัญญา โดยใช้คนในชุมชนที่ผ่านการอบรม และพัฒนาความสามารถให้เป็นโค้ช ของโครงการเป็นผู้ขับเคลื่อน ขยายแนวคิด

ปี2563 มีการยกระดับผู้ร่วมเรียนรู้  โดยมี 10คนที่เป็นวิทยากร ขยายเครือข่ายโครงการออกไปยังพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ดึงคนทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วม เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้นำศาสนา อสม.สร้างตลาด ผู้ปลูกส้มจุก  โครงการพัฒนาต่อเนื่อง ในปี 2564 ก่อเกิดเป็น”วิทยาลัยส้มจุก” หรือพัฒนาศูนย์เรียนรู้ ปี2565 ยกระดับผู้เรียนรู้จากวิทยากร  สู่การเป็นโค้ชระดับพื้นที่  20 คน


“ตอนเด็กๆผมวิ่งเล่น จะวิ่งไปทางไหนก็ชนต้นส้มจุก แต่เมื่อ 10ปีที่แล้ว แทบไม่เหลือ เราจึงต้องฟื้นฟู เอาต้นที่เหลือในชุมชนไม่ถึง 10 ต้น มาเพาะชำ ตอนกิ่ง ขยายพันธุ์ใหม่ แจกจ่ายชาวบ้านนำไปปลูกกันใหม่ และใช้ปุ๋ยคอก ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เราขยายแนวคิดนี้ออกไปจนเป็นเครือข่าย มีเกษตรอำเภอเข้ามาช่วยแนะนำ จนตอนนี้ส้มจุกฟื้นขึ้นมาได้ “จิตกร เคเจะหวัง ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.ท่าหมอไทร อ.จะนะ โค้ชพื้นที่ชยายผลการปลูกส้มจุก เล่า

อะหมัด หลีซาหรี

โครงการดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 6ปี ภายใต้การสนับสนุนของกสศ. จากจุดเริ่มต้นความตั้งใจต้องการปลุกส้มจุกให้ฟื้นคืนชีพ ได้ถูกต่อยอดกลายเป็นการส่งเสริมอาชีพคนในชุมชนในปีที่5และ6  จนปัจจุบันมีผู้ได้รับการสนับสนุนด้านอาชีพถึง 15  อาชีพ   อาทิ เลี้ยงไก่ชน ช่างซ่อมรถ ช่างตัดผม ทำขนมพื้นบ้าน การเลี้ยงแพะ ปลูกผัก  ฯลฯ ปลูกฝังให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าจากสิ่งรอบตัว

นายอะหมัด หลีซาหรี วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ ผู้เคยเป็นโค้ชโครงการปลุกส้มจุกมาก่อน  เล่าถึงการแปรสภาพโครงการส้มจุกมาเป็นการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 เมื่อ 5ปีก่อน ก่อให้เกิดคนกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีทั้งคนว่างงาน ตกงานจากที่อื่นและกลับมาอยู่ที่บ้านเดิม กลุ่มแรงงานนอกระบบ  เด็กต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันอีกด้วย  ทางโครงการส้มจุกฯ จึงคิดที่จะนำคนกลุ่มนี้ 50 คน เข้ามาร่วมโครงการอบรม ซึ่งต่อมาบางคนได้รับการเลื่อนระดับกลายเป็นโค้ชของโครงการ    แต่จากการชักจูง พูดคุย ทำให้รู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่สนใจอาชีพทำการเกษตร หรือสนใจปลูกส้มจุก บางคนมีแรงบันดาลใจและความสนใจเฉพาะตัวที่จะทำอาชีพอื่นๆ ซึ่งจากประเด็นนี้ ทำให้เกิดการสนับสนุนด้านอาชีพต่าง ๆ ที่ถือว่าตรงกับคอนเซ็ปต์ของกสศ.ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านอาชีพของชุมชน โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะมีผลดีทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

“เราขยายผลโครงการโดยเฉพาะกลุ่มเด็กออกนอกระบบ ซึ่งแต่ละวันเขาไม่ได้มีงานอะไรทำ  เราใช้ โค้ช 5 คน ต่อเด็ก 1คนทำการพูดคุย ต่อมาเราเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ดีมากๆ  อย่างน้องวรากร บิลนุภัทร เยาวชนที่จบชั้น  ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เขาไม่ได้สนใจอาชีพทำเกษตร แต่สนใจเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่้งต่อมาเขาค้นพบว่า การเพาะไก่ชน เป็นสิ่งที่เขาชอบ และมีความสุขในการทำ  นับเป็นการยกระดับโค้ชชีวิต ไปสู่โค้ชการมีอาชีพ”อะหมัด เล่า

เยาวชนบ้านแคที่เข้าโครงการปลุกชีพส้มจุก กลับค้นพบอาชีพใหม่ การเพาะพันธุ์เลี้ยงไก่ชน

จากต.แค ที่ปลุกชีพส้มจุกสำเร็จ ได้ขยายผลออกไปอีก รวมเป็น 5 ตำบล แต่อะหมัดบอกว่า  การมี 5ตำบลในมือ เกินศักยภาพในการดูแล จึงเหลือเพียง  3 ตำบล ที่เป็นเครือข่ายโครงการ  ก่อเกิด”สภาเสมอภาค 3ตำบล “ซึ่งเป็นการนำสถานการณ์ปัญหาของแต่ละพื้นที่มาแลกเปลี่ยนพูดคุย หาทางออกร่วมกัน  สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ตลอดจน”ผุดโครงการห้องสมุดเสมอภาค” ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็คือ ให้เป็นฐานการเรียนรู้

นอกจาก การส่งเสริมการปลูกส้มจุกให้เป็นพืชเศรษฐกิจแล้ว ทางโครงการ ยังเปิด”หลาดส้มจุก”ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งไม่ได้มีแต่การนำส้มจุกมาขาย แต่ยังเป็นการนำสิ่งอื่นๆอาทิ การเรียนรู้และกิจกรรมในชุมชน รวมทั้งสินค้าอื่นๆในชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม

“ปิ่นโตเสมอภาค”เป็นอีกสิ่งที่ได้จากโครงการส้มจุก  ซึ่งเป็นไอเดียของโค้ช ที่ขับเคลื่อนโครงการ ที่มองว่า  ผู้ที่เข้าร่วมโครงการอบรม บางคนมีอาชีพหลัก การเข้าอบรม เป็นการสละเวลาที่มาด้วยใจ ซึ่งการอบรมนอกจากจะได้อาชีพหรือไอเดียมุมมองอาชีพแล้ว ถ้าต้องการให้เขาเหล่านั้น มีสุขภาพร่างกายที่ดี  ก็ควรจะได้กินอาหารที่ดี  เป็นที่มาให้คนที่มีความพร้อมทำอาหารใส่ปิ่นโต จากบ้านมาแบ่งปันให้ผู้ร่วมอบรมอื่นๆ รับประทาน โดยผู้ทำปิ่นโตจะได้ผลตอบแทนวันละ  100 บาท

“จากวันนั้น ถึงวันนี้  ตลอด 6ปี ของโครงการ ไม่เพียงเสริมสร้างการเรียนรู้ แต่ยังทำให้คณะทำงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้เรียนรู้ ได้ค้นพบและได้แนวทางการทำงาใหม่ๆ ที่เชื่อมร้อยและถักทอคนในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญ ในแง่มุมต่างๆในการพัฒนาชุมชน   โครงการส้มจุกจึงได้กลายเป็นปลุกนิเวศการเรียนรู้ให้กับใครหลายคนในพื้นที่ ในมุมมองของผมคิดว่า ส้มจุกเป็นแค่เครื่องมือเดินเรื่อง  ที่นำไปสู่ความสำเร็จ ในการเปลี่ยน Mind Set เปลี่ยนบทบาท สิ่งที่พวกเราทำ จากหน่วยพัฒนาการเรียนรู้ ไปสู่การพัฒนาอาชีพ สู่คุณค่าคุณภาพชีวิต ของคนในพื้นที่ ยกระดับอาชีพสร้างอาชีพใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม “นายอะหมัดกล่าว

อาจกล่าวได้ว่า ด้วยศักยภาพของโครงการ และผู้ขับเคลื่อนที่เป็นคนในชุมชน จึงทำให้”โครงการส้มจุกปลุกชีวิตคนจะนะ “มีออร่าเปล่งประกายในตัวเอง  แล้วความคาดหวังต่อโครงการฯในอันดับต่อไปจะเป็นอะไร อะหมัด กล่าวว่า เราหวังให้โครงการส้มจุก จะนะ เป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ยังมีคนจำนวนมากที่อยากเข้าร่วมโครงการโดยเฉพาะเรื่องอาชีพ แต่เรามีการสกรีน ความตั้งใจจริง และศักยภาพความสามารถก่อน ว่าทำได้จริงหรือไม่ เพราะมีการให้เเงินทุนสนับสนุน  คนละ 2,500 บาท  มีทั้งเงินทุนและอุปกรณ์การทำอาชีพ   แต่ ณ เวลานี้ เรารู้สึกภูมิใจ ในสิ่งที่ได้ทำ และทำไปแล้ว และการพัฒนาในด้านอื่นๆที่จะตามมาต่อไป

การเสวนา เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ เกี่ยวกับโครงการ ส้มจุกฯ

ย้อนกลับมาที่ส้มจุก ทุกวันนี้ นับว่าเป็นผลไม้หายาก และมีราคาค่อนข้างสูงตกกิโลกกรัมละ 200-250 บาท ผู้สนใจต้องสั่งจองล่วงหน้า คนซื้อมักนำไปเป็นของฝากอันทรงคุณค่าให้ผู้รับ ด้วยเหตุนี้ การพลิกฟื้นการปลูกส้มจุก และปลุกให้เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นจะนะไม่ให้สูญหาย ไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือกาลเวลา ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างชุมชนเข้มแข็ง จึงเป็นผลตอบแทนที่เกินคาด จากโครงการปลุกชีพส้มจุก

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.