กกพ. ประกาศข่าวดี ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.98 บาท/หน่วย เรียกเก็บงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ดึงเงินคลอว์แบ็ค 12,200 ล้านบาทมาอุดหนุน เผยต่ำกว่าเป้ารัฐบาลที่กำหนด 3.99 บาท/หน่วย
30 เม.ย. 2568 – นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่าที่ประชุม กกร. ครั้งที่ 16/2568 มีมติปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนในงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 อยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย จากที่มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีการกำหนดให้มีการปรับอัตราค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการใช้เงินจากอัตราเรียกคืนผลประโยชน์ส่วนเกิน(Claw Back) คลอว์ แบ็ค 12,200 ล้านบาท ที่เป็นเงินเรียกเก็บจาก 3 การไฟฟ้า จากการประมาณการณ์ไว้ว่าจะมีการลงทุน แต่ไม่เป็นไปตามกำหนด จึงมีการเรียกคืนเงินมารวมทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท ซึ่ง กกพ. มีการตรวจสอบและทบทวนแล้วเห็นตัวเลขที่ชัดเจนหลังจากที่มีการประกาศค่าไฟ 4.15 บาทต่อหน่วยแล้ว
“จำนวนเงินคลอว์แบ็ค 12,200 ล้านบาท ตีเป็นค่าไฟจะเท่ากับ 0.17 บาทต่อหน่วย เมื่อนำไปหักกับกับค่าไฟเดิมที่เรียกเก็บกับประชาชา 4.15 บาทต่อหน่วยจะเท่ากับ 3.98 บาทต่อหน่วย โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานต้นทุนเดิมทั้งค่าเชื้อเพลิง และอัตราแลกเปลี้ยน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือประชาชนได้ในช่วงนี้ ซึ่งการใช้เงินดังกล่าว เป็นไปตามมาตรา 3(2) ที่ระบุว่าหากมีเงินส่วนเกินที่ กกพ. ตรวจพบ สามารถนำเงินส่วนนี้มาลดค่าไฟให้เป็นประโยชน์ในวงกว้างได้ ซึ่งถือว่าช่วงนี้อยู่ในช่วงวิกฤตจากสถานการณ์บีบคั้นทางเศรษฐกิจ และนโยบายของทรัมป์ ก่อนหน้านี้ก็เคยใช้เงินในส่วนนี้เข้ามาดูแลค่าไฟช่วงโควิด-19 เช่นกัน” นายพูลพัฒน์ กล่าว
นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า เงินในส่วนคลอว์แบ็คยังเหลืออีกประมาณ 8,000 ล้านบาท ที่สามารถนำไปใช้ในอนาคตได้ หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติข้างหน้าเพื่อช่วยดูแลพี่น้องประชาชร ซึ่งถือว่าการลดค่าไฟในรอบนี้เป็นการลดค่าไฟรอบที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ช่วงนายกเศรษฐา ซึ่งการลดค่าไฟดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ยังได้รับการจ่ายหนี้คืนเท่าเดิมที่ 20.33 สตางค์ คิดเป็นประมาณ 14,000-15,000 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกฟผ. ยังคงค้างหนี้อยู่ประมาณ 71,000 ล้านบาท ขณะที่งวดปลายปีจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อื่น ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งค่าเชื้อเพลิง แนวโน้มเศรษฐกิจ สถานการณ์การเมืองโลก และการเจรจาเรื่องภาษีที่เป็นภารกิจของรัฐบาล
“การคาดการณ์เศรษฐกิจ และปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจทั้งใน และต่างประเทศทำให้เราต้องมีการตัดสินใจที่จะแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ลง ว่าจะต้องดูแลประชาชน และดูแลเศรษฐกิจ รวมถึงดูแลผู้แบกภาระหนี้อย่าง กฟผ. ด้วย เพราะจะมีผลต่อเครดิตเรตติ้ง ซึ่งจะย้อนกลับไปเป็นต้นทุนของประชาชนในเรื่องค่าไฟ หากไม่จ่ายหนี้ ก็ต้องจ่ายในรูปดอกเบี้ย ก็จะเป็นต้นทุนของประชนชนในอนาคตเช่นกัน” นายพูลพัฒน์ กล่าว