กนง.เผยไทยเข้าสู่ “พายุ” สงครามการค้า ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ 2 ฉากทัศน์ ชี้ กรณีโดนภาษี 10% คาดจีดีพียังโตได้ 2% แต่ยืดเยื้อ-รุนแรง-ภาษีสูงเหลือโต 1.3% ยัน ลดดอกเบี้ยติดต่อ 2 รอบในปีนี้ ยังไม่ใช้ “วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง” แค่ผ่อนคลายนโยบาย ลั่นไทยยังไม่เกิด Recession ส่วน “มูดี้ส์” ปรับมุมมอง “เชิงลบ” เชื่อเตือนเน้นทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าและนักท่องเที่ยวที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ เปรียบเหมือน “พายุ” กำลังจะมา แม้ว่าตัวเลขในไตรมาสที่ 1 และ 2 ยังไม่ชัด แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จะเห็นความชัดเจนว่าไทยจะโดนอัตราภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) เท่าไร และผลต่อการส่งออกชัดเจนขึ้น และสถานการณ์จะทอดยาว
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้มีการทำนโยบายการค้าผ่านการขึ้นภาษี Tariffs แบบรายเซ็กเตอร์ รายประเทศ และแบบ Universal Baseline Tariffs 10% ทุกประเทศ ซึ่งสร้างคามไม่แน่นอนสูง และสามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้น กนง.จึงมีการประเมินเศรษฐกิจภายใต้หลายฉากทัศน์
โดยฉากทัศน์แรก คือ Reference Scenario หรือ Lower Tariffs ภายใต้สมมติฐานที่การเจรจามีความยืดเยื้อ มีความไม่แน่นอนสูง และเก็บภาษีในอัตรา 10% ทุกประเทศ และจีน 54% ซึ่งทุกอย่างคล้ายเดิม ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัว 2% และในปี 2569 ขยายตัว 1.8% และการส่งออก 0.8% และปี 2569 อยู่ที่ -2.8%
และฉากทัศน์ที่สอง คือ Alternative Scenario หรือ Higher Tariffs สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง โดยไทยอยู่ที่ 36% (ตามตารางวันที่ 2 เม.ย.68) แต่กรณีสามารถเจรจาลดภาษีลงมาได้ครึ่งหนึ่ง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่น ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ส่วนจีนอยู่ที่ 72.5% ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัว 1.3% และในปี 2569 ขยายตัว 1%
อย่างไรก็ดี หากเทียบบผลกระทบภาคการส่งออกของไทยกับช่วงสงครามการค้า Trump 1.0 และการระบาดของโควิด-19 จะเห็นว่าในช่วง Trump 1.0 ภาคการส่งออก -3.3% และช่วงโควิด-19 ส่งออก -6.5% ขณะที่ผลกระทบรอบนี้ภาพในระยะ 1 ปีข้างหน้า จะเห็นผลกระทบภาคการส่งออกในกรณีฉากทัศน์แรก -4.1% และฉากทัศน์สอง -8.3% ส่วนกระทบภาคจีดีพีในระยะ 1 ปีข้างหน้า ฉากทัศน์แรก -0.4% และ -1.0% ในฉากทัศน์สอง
“เรามีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น สงครามการค้าทำให้เราอยู่ในพายุ In the Storm และหลังผ่านพายุปลายทางคงไม่เหมือนเดิมทั้งก่อนและหลังไม่มี Tariffs เพราะสหรัฐฯ ไม่เทรดเท่าเดิม โลกอุปสงค์ลดลง และลดการพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ มาค้าขายในภูมิภาค และกระจายการส่งออกมากขึ้น นโยบายการปรับตัวและโครงสร้างเป็นสิ่งที่จำเป็น และ Shock รอบนี้หนักพอสมควร จึงต้องอาศัยการปรับตัว โดยเรามีหลายฉากทัศน์ในการประเมิน แต่จะเห็นว่า 2 ฉากทัศน์นี้เรามีความมั่นใจ 70-80% แต่โอกาสที่จะเกิดในฉากทัศน์แรกมีสูงกว่าฉากทัศน์สอง”
นายสักกะภพ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น กนง.พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสม โดยขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) จะเห็นว่าในช่วงของการระบาดโควิด-19 กนง.ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ลงไปต่ำที่ระดับ 0.50% ต่อปี หากเทียบกับตัวเองถือว่ามีกระสุนไม่เยอะ และเทียบประเทศอื่นก็เช่นกัน จึงพิจารณาให้เหมาะสมให้สอดรับความเสี่ยงและแนวโน้มในระยะข้างหน้า ซึ่งสุดท้ายอาจจะต้องรอหลัง 90 วันที่จะเห็นความชัดเจนและกับมาพิจารณาอีกครั้ง
ดังนั้น ภายใต้มุมมองเศรษฐกิจแย่ลงและมีความเสี่ยงมากขึ้น กนง.จะดำเนินนโยบายการเงินให้เอื้อต่อปัจจัยเศรษฐกิจ แม้ว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง 2 ครั้งในปีนี้แล้ว แต่กนง.ยังยืนยันว่ายังไม่ใช่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง (Easing Cycle) แต่เป็นการดำเนินนโยบายผ่อนคลายลง เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ โดยวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงนั้น เศรษฐกิจจะต้องลดลงต่อเนื่องเหมือนในช่วงโควิด-19 แต่ครั้งนี้ไม่กระทบเหมือนโควิด-19 การดำเนินนโยบายแบบ Targeting น่าจะดีกว่า
ส่วนจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มองว่า ในส่วนของสหรัฐฯ หากมีการคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสูง เชื่อว่าจะทำให้สหรัฐฯ เกิด Recession ได้ ขณะที่ไทยนั้นยังไม่เห็นสัญญาณของการเกิด Recession
“นโยบายการเงินเราเคยต่ำสุดที่ระดับ 0.50% ในช่วงโควิด-19 แต่ขนาดของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ไม่ได้เท่าโควิด-19 ไม่ได้กระทบวงกว้าง ดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจึงไม่ใช่ Easing Cycle แต่เป็นการเปลี่ยนมุมมองของกนง.มาสู่การดำเนินนโยบายผ่อนคลายลงเพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจน่าจะดีกว่า”
นายสักกะภพ กล่าวว่า ส่วนกรณี Moody’s ปรับมุมมอง Outlook ไทยเป็น “เชิงลบ”Negative จาก “เสถียรภาพ” Stable แต่ยังไม่ได้ปรับลดอันดับเรตติ้งนั้น มองว่า เหตุผลของ Moody’s มาจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ช้าและเรื่องของภาระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งที่การดำเนินนโยบายต้องให้น้ำหนักในเรื่องนี้มากขึ้นในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากกรณีที่อันดับเรตติ้งของประเทศถูกปรับจะมีผลต่อต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจ แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบเรื่องนี้ เช่นเดียวกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เห็นผลกระทบว่าอ่อนค่ามากนัก อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมองถึงผลระยะยาวและมองถึงการดำเนินนโยบายที่ต้องมุ่งเน้นการสร้างรายได้สร้างประสิทธิภาพ และคำนึงถึงประสิทธิผลของการดำเนินนโยบาย เนื่องจากพื้นที่การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังค่อนข้างมีจำกัด
“ต่อให้ Moody’s จะเตือนหรือไม่เตือนก็ต้องมีการระมัดระวังการใช้พื้นที่ทางการคลังและทางการเงินอยู่แล้ว ภายใต้ภาวะปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนภาคเอกชนที่อาจจะลดลงไปจากสงครามการค้า ซึ่งสิ่งที่จะมาทดแทนได้คือการลงทุนของภาครัฐเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนโยบายที่ควรทำคือ นโยบายที่สามารถสร้างรายได้ระยะยาวมากกว่าการกระตุ้น”