วันที่ 30 เม.ย.2568 เวลา 13.40 น. ที่รัฐสภา นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กรณีตึก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.แห่งใหม่) ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
โดยนายมณเฑียร กล่าวว่า ความจริงแล้วในการก่อสร้างหลัก ๆ มีอยู่ 3 เรื่อง คือ เรื่องการจ้างบริษัทออกแบบ เรื่องการจ้างบริษัทก่อสร้าง ในวงเงินที่ดำเนินการ 2.1 พันล้านบาท และการก่อสร้างดำเนินไปทั้งหมด 22 งวด เป็นเงิน 966 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 เป็นสัญญาหลัก คือสัญญาจ้างผู้ควบคุมงาน คือ บริษัท PKW เพราะฉะนั้นประเด็นที่มีอยู่ตอนนี้คือ เรื่องการออกแบบ ที่มีคนบอกว่าการออกแบบไม่มีการเซ็นรับรอง โดยวันนี้ได้นำเอกสาร มาให้ทางกรรมาธิการได้ดูว่าเราได้ถามไปยังบริษัทผู้ออกแบบแล้ว ซึ่งทางบริษัทผู้ออกแบบได้ยืนยันว่า บุคคลที่เซ็นรับรองยังทำงานอยู่กับบริษัทที่ออกแบบอยู่ ส่วนเรื่องการจ้างควบคุมงาน เราให้ทางบริษัท ยืนยันว่ายังเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทอยู่หรือไม่ ก่อนอื่นต้องชี้แจงให้ตรงกันว่า บุคคลที่อ้างว่าไม่ได้เซ็นในการควบคุมงานนั้น มีวิศวกรอยู่ 2 ประเภท คือ วิศวกรที่ปรึกษากับวิศวกรที่ควบคุมงาน เพราะฉะนั้นวิศวกรที่ควบคุมงานก็ต้องมาคุมงาน แต่วิศวกรที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องมาควบคุมงานแต่ต้องรับรองเอกสาร
"บุคคลที่เป็นข่าวอยู่นั้นคือวิศวกรที่ปรึกษา เพราะฉะนั้นการวิศวกรที่ปรึกษาไม่ต้องมาคุมงาน แต่เอกสารที่จะเซ็นรับในฐานะบริษัท ที่เป็นผู้คุมงานที่เราจ้างมา ต้องผ่านการรับรอง ของวิศวกรที่มี วอย. (วุฒิวิศวกรโยธา) ในส่วนของข้อมูลทั้งหมด ทั้งบริษัทผู้ออกแบบและบริษัทที่ปรึกษาก็ตาม ที่แจ้งรายชื่อวิศวกรมาให้เรา ในทางปฏิบัติถ้าจะมีการเปลี่ยนตัววิศวกรไม่ว่าจะบริษัทผู้ออกแบบหรือบริษัทที่ปรึกษาก็ตาม จะมีการทำหนังสือมาถึงเราว่าจะมีการขอเปลี่ยนตัว แต่ทั้ง 2 ท่านที่เป็นข่าว ไม่มีเอกสารเปลี่ยนบุคคลแต่ประการใด" นายมณเฑียร และว่า ข้อเท็จจริงในวันนี้ ดีใจที่ได้มาชี้แจงเพื่อที่จะได้ให้ข้อมูล ซึ่งพร้อมมอบข้อมูลทั้งหมดให้ทางกรรมาธิการ ดูตามขั้นตอน และพร้อมที่จะเปิดให้มีการตรวจสอบทั้งหมดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะของรัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานสอบสวน และหน่วยงานต่าง ๆ ตรวจสอบ
เมื่อถามว่า บริษัทผู้ออกแบบได้รับทราบการแก้ไขและมีผู้เซ็นรับทราบจริงหรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ยืนยันตามเอกสาร ในการก่อสร้าง การออกแบบ และตอนนั้นยังไม่มีตึก ฉะนั้น ในการอกแบบเหมือนเราไปจ้างคนที่เราอยากได้บ้าน 3 ชั้นและมีฟังก์ชั่นต่างๆ เขาก็เขียนมาในแบบรวมคุรุภัณฑ์ในบ้าน 3 ชั้น จากนั้นเราก็ไปหาผู้รับจ้าง และเมื่อผู้รับจ้างมารับจ้างจริงในทางปกติตอนออกแบบเราไม่รู้ว่าสถานที่จริงเป็นอย่างไร เมื่อสร้างจริงก็มีการปรับแบบเป็นปกติของตึกขนาดใหญ่ นี่คือสิ่งที่ต้องมีการแก้ไขแบบอยู่แล้ว แต่แบบนั้นต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและวิศวกรรม ฉะนั้น ของเราเมื่อเราจ้างคนออกแบบ และคนก่อสร้างเห็นว่าการก่อสร้างขัดกับแบบ หรือก่อสร้างแบขัดต่อกฎหมายหรือก่อให้เกิดความเสียหาย เขาก็หยิบประเด็นนั้นขึ้นมาเสนอผ่านผู้ควบคุมงาน เมื่อผู้ควบคุมงานเห็นว่าการทำงานจริงขัดต่อกฎหมายบ้าง หรือต้องปรับแบบบ้างเขาไม่มีอำนาจตามกฎหมาย นี่คือมาตรฐานกฎหมายทางวิศวะ เขาจึงต้องส่งไปให้คนออกแบบ บริษัทออกแบบจึงต้องเป็นคนมาดูว่าแบบที่ออกไว้ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อการทำงานจริง และขัดต่อหลักวิศวกรรม เขาก็ต้องแก้ไขพร้อมเซ็นรับรองกลับมา ของเราเมื่อเซ็นรับรองกลับมาในสัญญาเขียนเพิ่มเติมว่า ผู้คุมงานก็ต้องมาเซ็นรับรองด้วย ฉะนั้น วิศวกรขอผู้คุมงานต้องมารับรองให้เราด้วย ซึ่งเป็นสัญญาที่เราเขียนขึ้นมา และเมื่อรับรองเสร็จเราก็เห็นชอบให้ไปแก้ไขตามแบบตามที่ผู้ออกแบบดำเนินการปรับแก้ แล้วผู้ควบคุมงานรับรองมา ผู้ก่อสร้างก็เอาไปก่อสร้างตามแบบที่แก้ไข ซึ่งเป็นไปตามสัญญาและข้อกฎหมาย
เมื่อถามว่าการที่สตง.ออกมาชี้แจงเรื่องปล่องลิฟท์ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใช่หรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ใช่ เมื่อถามย้ำว่ากรณีวิศวกรที่ถูกระบุชื่อในการรับรองเป็นชื่อเดิมหรือถูกแอบอ้าง นายมณเฑียร กล่าวว่า ตอนที่บริษัทดำเนินการเสนอชื่อมา เขาเสนอชื่อและรายละเอียดของวิศวกรทั้งหมดว่าจะมีที่ปรึกษา ควบคุมงานกี่คน ซึ่งการควบคุมต้องแยกออกไปอีกว่าเป็นงานโครงสร้าง งานสถาปัตย์ เขาต้องมีการกำหนดแต่ละประเภทมา ฉะนั้น ถ้าเขาเปลี่ยนวิศวะต้องแจ้งเรามา แต่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรผู้ควบคุมงาน ไม่เคยเปลี่ยน มีชื่อนายสมเกียรติแต่แรก และรับรองแต่แรก และไม่ใช่มีชื่ออย่างเดียว วิศวกรแต่ละคนต้องมีหนังสือยินยอมว่าจะมารับผิดชอบงานนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีหลักฐานวุฒิบัตร บัตรประจำตัวประชาชน และวันแรกเขาจะรับรองว่า เขาจะควบคุมงานก่อสร้างนี้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ และไม่มีเอกสารการเปลี่ยนแปลง เราต้องยึดตามเอกสารนี้ก่อน และการที่นายสมเกียรติบอกว่าไม่รับรู้ด้วยก็ต้องไปดำเนินคดีกัน
เมื่อถามถึงข้อสงสัยในการแก้แบบและวัสดุต่างๆทางสตง.มีการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ว่าความผิดพลาดอยู่ตรงไหน ผู้ว่าสตง.กล่าวว่า ตอนนี้เรามีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเข้ามาตรวจสอบแล้ว ดังนั้น การตรวจสอบแบบกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนการตรวจสอบการก่อสร้างคณะกรรมการเข้าไปในพื้นที่แล้ว เก็บเหล็ก ปูน ซึ่งการเก็บเหล็กเขาไม่เก็บเหล็กที่กระเด็นออกมา เขาจะเก็บที่อยู่ในพื้น คาน และคอลิฟท์ ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาชีพ เราจึงต้อรอผลในการดำเนินการแต่เราต้องยอมรับว่ามีการแก้ไขจริง แต่การแก้ไขนั้นมีผลกระทบขนาดไหนอย่างไร ขอเรียนว่าผลเป็นอย่างไร สตง.รับได้หมด ใครผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย ส่วนเรื่องฮั้วหรือนอมินี เราเอาเอกสารให้ดีเอสไอแล้ว แต่การสอบของดีเอสไอ ตอนนี้กำลังสอบเอกชนอยู่ หลังจากนั้นน่าจะมาสอบเจ้าหน้าที่ของสตง. เราก็พร้อมให้ความร่วมมือกับดีเอสไอตลอดเวลา และกำลังตรวจสอบถึงการเข้ามาร่วมรับจ้างก่อสร้างของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ด้วย
เมื่อถามว่า ถ้าบริษัทคู่สัญญาทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ คุมงานหรือก่อสร้าง ทางสตง.มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่ ผู้ว่าสตง.กล่าวว่า ทำตามกฎหมาย เพราะบริษัทก่อสร้างเขาทำประกันไว้ คือบริษัทอิตาเลียนไทย ที่จะมีประกันตัวตึกกว่า 2.1 พันล้านบาท และประกันบุคคลที่สามอีกร้อยกว่าล้าน และประกันของอีกประมาณ 5 กว่าล้านบาท ถ้าเป็นความผิดของอิตาเลียนไทย ก็จะครบคลุม แต่ถ้าเป็นเรื่องออกแบบแล้วอิตาเลียนไทยทำตามแบบก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายนิดหน่อย แต่ทั้งนี้ ใครทำผิด ไม่ว่าใครก็ตามสตง.เป็นผู้เสียหาย ก็จะดำเนินคดีอาญา และแพ่งให้ถึงที่สุด
เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรอยต่อตำแหน่งผู้ว่าสตง.หรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึงปี เพราะตั้งแต่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ต่อด้วยนายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่า สตง. ถึงจะมาเป็นตน
เมื่อถามว่า สตง. ในฐานะเจ้าของโครงการ จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร นายมณเฑียร กล่าวว่า เป็นความผิดของใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนที่มารับจ้างหรือข้าราชการสตง. เราดำเนินคดีถึงที่สุด ทุกคนไม่เว้น
เมื่อถามว่า ที่อยู่ใหม่ของสตง. มองไว้หรือยังว่าเป็นที่ไหน ผู้ว่าสตง. กล่าวว่า ตอนนี้แค่คิดเรื่องถึกพัง เรื่องคนที่เสียชีวิต กับเรื่องจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ความกระจ่างเกิดขึ้น ตนแทบไม่มีเวลาแล้ว ดังนั้น ขอจบเรื่องพวกนี้ก่อน จากนั้นสตง.จะต้องประชุมว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนจะเป็นตึกสูงแบบเดิมหรือแนวราบยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องอนาคต ขณะนี้เราโฟกัสที่เรื่องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเรื่องไปดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิต
เมื่อถามว่ามีตัวแทนบริษัทอื่นอีกหรือไม่นอกจากไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 หรือไม่ เพราะมีการปรากฏภาพ 2 พ่อลูกคนจีน เข้ามาอยู่ในวันที่ลงนาม นายมณเฑียร กล่าวว่า เหตุการณ์นั้นตนไม่ได้อยู่ เพราะเพิ่งเข้ามาไม่ถึงปี แต่ตนจะไปตรวจสอบให้ เพราะตอบไปเดี๋ยวผิด และเท่าที่รู้ตอนนี้คนที่รับผิดชอบตามสัญญาคือบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10
ผู้ว่า สตง. ยังชี้แจงสรุปว่า สตง.เป็นองค์กรตรวจสอบ ไม่เอาความรู้สึก ไม่เอาข่าวทั้งหมด มาตรวจสอบเรา ต้องยึดตามกฎหมาย ตามระเบียบ ทุกอย่างเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเอกสาร เราจึงยินดีให้ความร่วมมือ กับคณะกรรมการตรวจสอบ และกมธ. ด้วยเอกสาร และระเบียบที่มีอยู่ทั้งหมด เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่ทุกอย่างจะต้องยืนอยู่บนฐานของความถูกต้อง
เมื่อถามว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบภายในเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ผู้ว่า สตง. กล่าวว่าต้องรอ 90 วัน ให้คณะกรรมาธิการดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ ผู้ว่า สตง. จะเดินฝ่าออกจากวงสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวจึงเดินตามพยายามสอบถามถึงข้อสงสัย ผู้ว่า สตง. บอกว่าวันนี้ยังไม่ได้กินข้าวเลย ผู้สื่อข่าวก็พยายามถามต่อเรื่องการบอกเลิกสัญญาตอนต้นปี แต่สัญญาไม่ได้ถูกยกเลิก เพราะอะไร ด้วยเหตุผลใด ผู้ว่า สตง. ชี้แจงว่า อยู่ในกระบวนการ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาของราชการ จะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1 ปี จริง ๆ แล้ว บริษัทนี้ ทำงานแล้วมีปัญหา เขาก็จะบอกเลิกสัญญาอยู่หลายหน่วยงานแล้ว แต่กระบวนการในการบอกเลิก มันนาน ต้องให้เวลาชี้แจง