เฮียล้านถาม ‘ร.ร.ฝึกกู้ภัย’ มีได้ยัง? รองผู้ว่าฯ แจง แบบเสร็จแล้ว – พร้อมเพิ่มคอร์ส ‘ฝึกค้นหาผู้ประสบภัยตึกถล่ม’
เมื่อวันที่ 30 เมษายน เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) พ.ศ. 2568 โดยมีผู้บริหารกทม. นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกทม. พร้อมด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต ตลอดจนข้าราชการกทม. เข้าร่วมโดยวันนี้มีวาระการประชุมที่น่าสนใจหลายญัตติ
ในตอนหนึ่ง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้ กทม. เร่งรัดการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร เนื่องจาก กทม. รับโอนภารกิจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาอยู่ภายใต้ กทม. ตั้งแต่ พ.ย.2546 แต่จนถึงปัจจุบันเรายังไม่มีศูนย์ฝึกดังกล่าว
“มันควรจะมีได้แล้ว เป็นศูนย์อบรมดับเพลิงและป้องกันสาธารณภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะ ภัยจากสาธารณะ หรือสัตว์มีพิษ เพื่อบรรเทาความสูญเสีย” นายสุทธิชัยกล่าว
โดย นายสุทธิชัย ยกตัวอย่างที่ผ่านมา จากเหตุการณ์อาคารสำนักงาน สตง.ถล่ม ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิต 63 ราย ยังค้นหาอีก 31 ราย ซึ่งเป็นเหตุที่เราไม่เคยพบเจอ ไม่ได้มีการฝึกมาอย่างเฉพาะ จึงควรมีประสบการณ์มากกว่านี้ รวมถึงกรณี ก่อสร้างคานสะพานพระราม 2 ถล่ม มีคนเสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 30 คน
จากนั้น นายสุทธิชัย หยิบยกถึงอีกหลายเหตุการณ์ อาทิ เหตุเพลิงไหม้ ย่านบางโพ, กรณีเพลิงไหม้รถบัสนักเรียน, สะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม, เครนถล่ม, ห้างสรรพสินค้าเพลิงไหม้, เหตุโป๊ะล่มท่าน้ำพรานนก ไปจนถึงเหตุอุทกภัยน้ำท่วมในปี 2554, ตึกถล่มย่านสุขุมวิท 81 เมื่อปี 2559, เพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน เป็นต้น
“สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะมีบทบาทสำคัญ เป็นกำลังหลัก แต่ยังไม่มีโรงเรียนฝึกอบรม” นายสุทธิชัย กล่าว
ต่อมา นายสุทธิชัย กล่าวถึงรายละเอียดของ โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 และ ศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร (หนอกจอก) พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงแบบที่เปลี่ยนไป และมีการยกเลิกบางส่วน
โดยเผยว่า ตนมีความเป็นห่วงว่า ข้าราชการได้ให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมหรือไม่ จึงอยากเร่งรัดเพื่อให้ กทม.มีศูนย์ฝึกอบรม เพื่อป้องกันเหตุต่างๆ ใน กทม.
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขอบคุณสำหรับญัตตินี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โครงการนี้มีการตั้งต้นมาก่อน ตั้งแต่ก่อนที่เราเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งจะมีการไปทำที่ นครชัยศรี เรื่องที่อยู่ในศาลเราคงไม่ก้าวล่วง เพราะคงจะมีการชี้แจงในศาลอยู่แล้ว
“แต่ก็มีเหตุผล ผมว่าเราคิดรอบคอบแล้ว สุดท้ายจะเกิดประโยชน์กับ กทม.แน่นอน เพราะเรามองว่า สถานีดับเพลิง ไม่ได้มีแค่เฟสเดียว ยังมีเฟส 2 มีปัญหาเรื่องผังเมืองต่างๆ ซึ่งก็มีรายละเอียดอยู่ในการยกเลิก ทุกคนเห็นตรงกันในกรอบกฎหมาย ยืนยันว่า มีการพิจารณาในกรอบกฎหมายที่ทำได้ และในส่วนของงบประมาณ ความจริงแล้วที่หนองจอก ทางสภากทม. ได้ผ่านการลงมติเห็นด้วยแล้ว ในปีงบ 2568” นายชัชชาติเผย
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เราได้ดำเนินการต่อ โดยที่หนองจอก ได้ของบปี 2568 และ 2569-2570 เอาไว้
หลักๆ แล้วในเรื่องผังเมือง ยังไม่ได้ชี้แจงเพิ่ม เพราะความเสี่ยงในเรื่องผิดกฎหมายผังเมือง ในที่เดิมนั้น ต้องไปต่อสู้กันต่อในศาล ว่าจะผิดอะไรอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญของการย้ายมาที่หนองจอก ซึ่งมีการเสนอของบฯ ปี 2568 ไปแล้ว คือ เรื่องการใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน ในสถานที่ใหม่
“ศูนย์ฝึกทั้งหลาย จะเหมือนของเดิมทั้งหมด แต่จะเอา ‘ศูนย์ฝึกทางน้ำ’ ออกจากตรงนี้ แต่ไปออกแบบที่ใหม่ คือริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามเสน ซึ่งทาง สปภ.และสำนักการโยธา ได้ร่วมมือกันอยู่ ในการตั้งงบปี 2569 เพื่อก่อสร้าง ซึ่งหากมีการเกิดเหตุอะไร จะเข้าไปดำเนินการได้สะดวกกว่า
ที่ใหม่ เราจะมีสถานที่ฝึก O เพิ่มขึ้นมา ซึ่งคือ ‘อาคารจำลองการค้นหาผู้ประสบภัย ในอาคารและตึกถล่ม’ ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุเร็วๆ นี้ ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องกลับมาทำ
สถานการณ์ตอนนี้คือ แบบทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว มีการทบทวนและสรุปแบบแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำราคากลาง โดยคาดว่าจะหาผู้รับจ้าง ทันในปีงบประมาณนี้” นายวิศณุกล่าว