กนง.ลดดอกเบี้ยตามคาด ตลาดยังคงผันผวน หลังปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.0% สู่ระดับ 1.75% จากความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงขาลงจากนโยบายการค้าโลก
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 30 เมษายน 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/4) ที่ระดับ 33.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/4) ที่ระดับ 33.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัว ขณะที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวล หลังสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐมีความคืบหน้าในการเจรจาการค้ากับประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและอินเดีย พร้อมกับกล่าวว่าการที่จีนยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางรายการของสหรัฐนั้น สะท้อนให้เห็นว่าจีนเต็มใจที่จะทำให้ความตึงเครียดด้านการค้าคลี่คลายลง อย่างไรก็ดี เบสเซนต์ไม่ได้ยืนยันว่าสหรัฐมีการเจรจาการค้ากับจีน
อีกทั้งมีรายงานว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยจะผ่อนปรนการเก็บภาษีบางส่วนสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ต่างประเทศที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ภายในสหรัฐ และจะป้องกันไม่ให้มีการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีอื่น ๆ สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี วานนี้ (29/4) สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เปิดเผย ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลงสู่รดับ 7.19 ล้านตำแหน่งในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 7.50 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 7.48 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.พ.
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.0% สู่ระดับ 1.75% ต่อปี จากความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการค้าจากสหรัฐ และการตอบโต้จากประเทศอื่น ๆ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงขาลงจากนโยบายการค้าโลก ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง และเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ
ด้านภาวการณ์เงินโดยรวมยังตึงตัว พร้อมคาด GDP ปี 2025 +2.0% และใน Scenario ที่สงครามการค้ารุนแรงมาก คาด GDP จะเติบโตเพียง +1.3% โดย กนง.ส่วนใหญ่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อใช้ในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy space) ที่มีจำกัด
ทั้งนี้ วานนี้ (29/4) บริษัทจัดอันดับเครดิต มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมองเชิงลบ (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) โดยการเปลี่ยนมุมมองครั้งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง อย่างไรก็ดี Moody’s ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1 ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.29-33.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/4) ที่ระดับ 11.1390/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/4) ที่ระดับ 1.1375/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซน ปรับลดลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือน เม.ย. จาก 50.9 ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50.3
ด้านดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นปรับตัวลดลงสู่ 49.7 ในเดือน เม.ย. จาก 51.0 ในเดือน มี.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 50.5 บ่งชี้ว่า การเติบโตทางธุรกิจโดยรวมในยูโรโซนแทบจะหยุดนิ่ง โดยภาคบริการซึ่งเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจหดตัวลงครั้งแรกในรอบหลายเดือน ขณะที่ภาคการผลิต แม้จะยังอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง แต่กลับมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.1353-1.1399 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1368/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/4) ที่ระดับ 142.30/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/4) ที่ระดับ 142.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในการประชุมนโยบายการเงินในพรุ่งนี้ (1/5) เนื่องจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ตลาดคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ หลังจาก BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มุมมองเกี่ยวกับระยะเวลาที่ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยยังคงแตกต่างกันอยู่ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าผู้กำหนดนโยบายของ BOJ จำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นในการประเมินผลกระทบจากภาษีของสหรัฐต่อราคาสินค้า ค่าจ้าง และโอกาสในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ขณะที่คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ระบุว่า ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจและราคาขยับไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการคาดการณ์
ทั้งนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ประเทศคู่ค้าในช่วงต้นเดือน เม.ย. ขณะที่ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2568 ลง 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ม.ค. เหลือ 2.8% ในรายงานฉบับล่าสุด โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 142.53-143.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 143.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ในวันนี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน เม.ย. จาก ADP , ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 12/2568 (ประมาณการเบื้องต้น), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน มี.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน มี.ค., สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2568 (ประมาณการเบื้องต้น) ของยูโรโซน
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.75/-7.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.0/-8.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ