โบรกวิเคราะห์หุ้นกลุ่ม "ธนาคาร-ไฟแนนซ์" หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25%
BIG_FIN May 01, 2025 08:42 AM

“เอเซีย พลัส” วิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคาร-ไฟแนนซ์ หลัง กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% ลงสู่ระดับ 1.75% ต่อปี ชี้กดดันรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ ฝั่งต้นทุนเงินฝากประจำยังต้องรอ Repricing ตั้งสำรองไม่ต่ำลงจากไตรมาส 1 รับมือความไม่แน่นอนนโยบายการค้าสหรัฐ

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันนี้ (30 เม.ย. 2568) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 2.00% ลงมาสู่ระดับ 1.75% ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง

เบื้องต้นผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร (Bank) และหุ้นสถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์ (Non-Bank) ทางฝ่ายวิจัยได้รวมผลกระทบของการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ในประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารแล้ว โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (Net Interest Income: NII) งวดไตรมาส 2/2568 ของธนาคารใหญ่ (BBL, KTB, KBANK, SCB, TTB และ BAY ตามลำดับ) ตามดอกเบี้ยกลุ่ม M-Rate ที่จะปรับลงตามในลำดับถัดไป ในขณะที่ฝั่งต้นทุนเงินฝากประจำยังต้องรอการ Repricing

ด้านธนาคารขนาดกลาง อย่าง KKP และ TISCO ซึ่งพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่รับรู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (เช่าซื้อรถ + จำนำทะเบียน) ทิศทาง NII จะได้รับประโยชน์ในช่วงที่เหลือของปี หลังต้นทุนเงินฝากประจำปรับลง

ฝ่ายวิจัยคงคาดกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารปี 2568 อยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันปีก่อน (กำไรสุทธิกลุ่มไตรมาส 1/2568 คิดเป็นสัดส่วน 27% ของประมาณการกำไรทั้งปี) สอดคล้องกับแนวโน้มการดำเนินงานช่วงที่เหลือของปีที่มีแรงกดดันจาก NII และการตั้งสำรองที่ไม่ต่ำลงจากไตรมาส 1/2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐ

แม้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารใหญ่ อาจมีแรงกดดันเชิงเซนติเมนต์ของการลดดอกเบี้ยอยู่บ้าง แต่ภาพรวมอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ยังน่าสนใจ โดยธนาคารใหญ่ เลือก KTB ให้ราคาเป้าหมาย 25.25 บาท จากทิศทางผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ราว 9% สูงสุดในกลุ่มธนาคารใหญ่ รวมทั้งคาด Dividend Yield ราว 7% ต่อปี และธนาคารขนาดกลาง ชื่นชอบ TISCO ให้ราคาเป้าหมาย 102 บาท เพราะ ROE ราว 15% สูงสุดในกลุ่มธนาคาร รวมถึงประเมิน Dividend Yield ประมาณ 8% ต่อปี

สำหรับ Non-Bank เช่น MTC และ SAWAD จะได้ประโยชน์เช่นเดียวกัธนาคารขนาดกลาง แต่ด้วยกลุ่ม Non-Bank ใช้แหล่งเงินทุนจากตราสารหนี้เป็นหลัก ทำให้ระยะเวลาในการ Repricing ต้นทุนทางการเงินนานกว่า จึงมองประโยชน์ทางพื้นฐานต่อ Non-Bank จะเกิดขึ้นเร็วสุดปลายปี และรับประโยชน์เต็มปีในปี 2569 คงมุมมองชอบ MTC มากกว่า SAWAD ตามการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่า

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.