กำหนดออกมาแล้ว สำหรับ วันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้
เป็นวันอังคารที่ 3 มิถุนายน2025 (พ.ศ. 2568) ซึ่งเหลือเวลาเพียงสามสิบกว่าวันต้นๆ ประชาชนชาวโสมขาว อันเป็นนิกเนมของเกาหลีใต้ ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะได้ไปลงคะแนน กาบัตรเลือกตั้ง ตามคูหาต่างๆ กัน เพื่อเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนเองชื่นชอบให้มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ
การเลือกตั้งในวันอังคารที่ 3 มิถุนายนข้างต้น ก็ถือว่าเป็น “การเลือกตั้งฉับพลัน (Snap Election)” เพราะตามกำหนดการเดิมจริงๆ ก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันพุธที่ 3 มีนาคม 2027 (พ.ศ. 2570) ซึ่งเป็นการร่นระยะเวลาเร็วกว่ากำหนดการเดิมถึงเกือบ 2 ปีด้วยกัน หรือราว 1 ปีกับ 9 เดือน
ทั้งนี้ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ดังกล่าว เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2022 (พ.ศ. 2565) ซึ่งตามกำหนดการก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีประมาณ 5 ปีครั้ง สำหรับ สถานการณ์ปกติ ไม่เกิดเรื่องอะไรที่ไม่คาดฝันกับประธานาธิบดี เช่น ถึงแก่อสัญกรรม คือ เสียชีวิต หรือทำผิดกฎหมายร้ายแรงจนต้องถูกออกจากตำแหน่ง เป็นต้น แต่เมื่อเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้นกับประธานาธิบดี ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีกันใหม่
สาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้ ต้องเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบฉับพลัน ก่อนกำหนดในครั้งนี้ ก็มาจากประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล ถูกศาลมีคำพิพากษาให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง อันสืบเนื่องจากการที่เขาได้ประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึก เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นั่นเอง ซึ่งการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว ยังเป็นไปในแบบสายฟ้าแลบ ไม่มีปี่มีขลุ่ย คือ มีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ และยังเป็นการประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบ 50 ปี ของเกาหลีใต้ อีกต่างหากด้วย ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำพิพากษาด้วยจำนวนคะแนนเสียง 8 ต่อ 0 เสียง หรือเป็นเอกฉันท์ว่า ประธานาธิบดียุน กระทำไปด้วยความไม่ชอบต่อกฎหมาย ละเมิดหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย ทำให้เขาต้องพ้นออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศไปอย่างมีมลทินในวัย 64 ปี
เป็นเหตุให้เกาหลีใต้ ต้องจัดการเลือกตั้งเพื่อเฟ้นหาประธานาธิบดีคนใหม่มาบริหารประเทศ ท่ามกลางการตีปีกดีใจของเหล่าบรรดาฝ่ายค้าน ที่จะได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มาประชันแข่งขันชิงชัยกับผู้สมัครฯ ของทางพรรครัฐบาลกันอีกรอบ เพราะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้ว ต้องถือว่า ผู้สมัครฯ ฝายค้านพ่ายแพ้ไปอย่างเฉียดฉิว
ว่าแล้ว พลพรรคฝ่ายค้านที่นำโดย “พรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี” หรือ ดีพีเค” (DPK : Democratic of Korea) ซึ่งมักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า “พรรคประชาธิปไตย” ซึ่งมีแนวนโยบายแบบเสรีนิยม รีบจัดประชุมพรรค พร้อมกับให้เหล่าสมาชิกพรรค ได้เลือกแบบเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีโหวต ในการสรรหาบุคคลที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้ง แซงหน้า “พรรคประชาชน” หรือ “พีพี” (PP : People Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยทันที
ผลปรากฏว่า ไพรมารีโหวตของพรรคประชาธิปไตย มากกว่าร้อยละ 90 ได้เลือก “นายอี แช-มย็อง” วัย 61 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หรือสมาชิกรัฐสภาของเกาหลีใต้ และยังเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย ให้มาเป็นแคนดิเดตไปสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีกับผู้สมัครฯ จากพรรคประชาชน ที่ ณ เวลานี้ ยังไม่ได้เลือกใครมาเป็นแคนดิเดตของทางพรรคฯ
พลันที่นายอี แช-มย็อง ได้รับเลือกไพรมารีโหวต ก็ประกาศออกมาทันที่ว่า “ตนมิใช่เพียงแคนดิเดตแต่เฉพาะของพรรคประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นแคนดิเดตของประชาชนทุกคนที่ต้องการให้ยุคสมัยแห่งการก่อกบฏจบสิ้นลง ต้องการก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤติ พร้อมกับแสวงหาความเป็นเอกภาพและความสุข
พร้อมกันนี้ แคนดิเดตแห่งพรรคประชาธิปไตย ยังได้ให้คำมั่นอีกด้วยว่า หากตนได้รับเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็จะเสริมสร้างศักยภาพด้านการทหาร กลาโหม การผลักดันอุตสาหกรรมไฮเทคให้เจริญก้าวหน้า รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างความเข้มแข้งให้แก่สถาบันประชาธิปไตยของเกาหลีใต้อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงนายอี แจ-มย็องแล้ว ก็ต้องบอกว่า เคยแพ้อย่างฉิวเฉียดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ให้แก่นายยุน ซ็อก-ยอล โดยได้นายอี แจ-มย็อง ได้รับคะแนนเสียงอยู่ที่ร้อยละ 47.83 ส่วนนายยุน ซ็อก-ยอ ได้คะแนนเสียงที่ร้อยละ 48.56
ขณะที่ สถานการณ์ของทางพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และเป็นคู่แข่งนั้น ก็คาดหมายกันว่า น่าจะเป็น “นายคิม มุน-ซู” อายุ 73 ปี ที่จะเป็นแคนดิเดตของพรรคฯ ในการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีกับนายอี แช-มย็อง คู่แข่งจากพรรคประชาธิปไตย ซึ่งนายคิม มุน-ซู ผู้นี้ ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และเคยเป็นอดีตผู้ว่าการจังหวัดคย็องกี รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานและแรงงานแห่งเกาหลีใต้ ในสมัยของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอลที่เพิ่งผ่านพ้นมา
ว่ากันถึงคะแนนนิยมของผู้ที่จะมาแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทั้งสองคนนั้น ตามการสำรวจโพลล์ของแกลลัป สำนักโพลล์ชื่อดังก็ระบุว่า นายอี แจ-มย็อง มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 34 ส่วนนายคิม มุน-ซู ผู้ที่คาดหมายว่าจะเป็นตัวแทนพรรคประชาชน มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 25 ตามหลังอยู่ถึง 9 จุด ซึ่งก็ถือว่า ทิ้งห่างกันพอสมควร
อย่างไรก็ตาม เส้นทางเข้าสู่ทำเนียบ “ช็อง วาแด” อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือที่หลายคนเรียกว่า บลูเฮาส์ (Blue House) ของนายอี แช-มย็อง ผู้ซึ่งเคยถูกทำร้ายด้วยมีดแต่รอดชีวิตมาได้ที่เมืองปูซาน เมื่อปีที่แล้ว ก็ใช่ว่าจะสะดวกโยธิน เพราะยังมีอุปสรรคขวากหนางขวางกั้น นั่นคือ คดีความที่เกี่ยวกับการพัวพันรับสินบนและคดีทุจริตโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแม้ศาลอุทธรณ์จะพลิกคำตัดสินของศาลชั้นต้น แต่ยังเหลือการพิพากษาของศาลฎีกาไว้ให้คอยได้ลุ้นกันด้วยใจระทึก