‘กกร.’ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านโครงสร้าง Pool Gas ของ ‘พีระพันธุ์’ ชี้ลดค่าไฟได้ไม่กี่สตางค์ ซ้ำเติมภาคเอกชนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวน แนะตั้ง กรอ.พลังงาน หารือแก้ปัญหาไปพร้อมกันไม่ซ้ำเติมผู้ผลิต
1 พ.ค. 2568 – นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยว่า วันที่ 2 พ.ค. 2568 เวลา 10.30 น. ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทยจะเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านนโยบายโครงสร้าง Pool Gas เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ที่เป็นแนวคิดของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 6 พ.ค. 2568 จะมีการหารือในเรื่องดังกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วนายกฯ จะเป็นประธานการประชุมโดยตำแหน่ง ซึ่งในช่วงหลังมานี้ ได้มอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ เป็นประธานแทน ดังนั้น กกร. จึงต้องการยื่นหนังสือขอให้นายกฯ ได้ทบทวนแนวคิดดังกล่าวก่อนวันประชุม กพช. จากการที่กระทรวงพลังงาน อยากจะลดค่าไฟให้ภาคประชาชนถือเป็นเรื่องดี แต่แนวทางที่ทำไม่ตรงกับแนวทางที่ภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบันรวมถึงคนส่วนใหญ่มอง ที่ควรจะแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยวิธีปรับโครงสร้าง Pool Gas เป็นการแค่โยกภาระมาให้ภาคอุตสาหกรรม โดยการนำเอาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ต้นทุนถูกที่สุด เพราะมีราคาถูกและเสถียร
“สิ่งที่มีปัญหาในช่วงหลังมานี้ คือปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง จึงต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ซึ่งยังมีราคาสูงและผันผวน กระทรวงพลังงานจึงคิดที่จะสลับโดยนำก๊าซฯ ในอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเอกชนมองว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะก๊าซฯ มีส่วนประกอบสำคัญในด้านปิโตรเคมีที่สามารถสร้างมูลค่านำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีความอุดมสมบูรณ์สามารถมาสกัดส่วนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในยุคโชติช่วงชัชวาล แต่ในมุมมองปัจจุบันกลับบอกไม่ถูกต้อง ว่าควรนำก๊าซฯ มาใช้ให้คนทั่วไปเพื่อให้ลดต้นทุน และเมื่อคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ปรากฏว่าลดค่าไฟได้ไม่กี่สตางค์” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวประเทศจะเสียต้นทุนต่าง ๆ อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซฯ ต้องเพิ่มสัดส่วนต้นทุนที่เป็นภาระขึ้นไปอีก 60% หรือประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอน เกิดความผันผวนด้านสงครามการค้า และนโยบายภาษีสหรัฐฯ ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่หลายอย่างสู้ไม่ได้ เพราะต้นทุนไทยยังแพงมาก และสิ่งที่สำคัญกว่าได้มีข้อเสนอมาโดยตลอด คือ การตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อหารือเสนอแนะเพื่อให้เห็นปัญหาที่ตรงจุด ซึ่ง กกร. ในฐานะผู้ประกอบการเอกชนจะประสบปัญหาด้านการแข่งขัน จึงอยากให้ทบทวน และร่วมหารือกับภาคเอกชนไม่ใช่การใช้วิธีแบบนี้และเกิดการคัดค้านเพราะต่างคนต่างทำ ควรมีวิธีที่หารือเพื่อให้สอดคล้องระหว่างกัน