‘ขุนคลัง’ เคาะแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 ยังฉลุย ลุ้นโตเฉียด 3% ประเมินพิษภาษีทรัมป์เริ่มพ่นพิษกดเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตั้งแต่ไตรมาส 3 แจงรัฐบาลเร่งหามาตรการรับมือ เล็งทบทวนงบประมาณปี 69 โยกจากโครงการไม่จำเป็นมาใช้ในโครงการจำเป็น พร้อมเตรียมชง ครม. เคาะปรับเงื่อนไขคุณสู้ เราช่วย หวังครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น
1 พ.ค. 2568 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2568 จะขยายตัวได้เกิน 2.5% และมีโอกาสไม่น้อยที่เติบโตได้ใกล้ 3% ขณะที่ประเมินว่าทั่วโลกจะเริ่มเห็นผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2568 โดยเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะเริ่มชะลอตัวลง ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการในระหว่างนี้ คือ จะต้องมาเร่งพิจารณาว่าประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร เพื่อทำให้เศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอลงทั่วโลก ลดลงน้อยที่สุดสำหรับประเทศไทย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเติบโตในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าด้วย
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 นั้น เดิมคาดว่าจะขยายตัวได้เกิน 3% อย่างแน่นอน หากไม่มีผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ แต่เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงนี้เข้ามาก็ต้องยอมรับว่าทั่วโลกจะสะดุดเหมือนกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่ไทย ซึ่งรัฐบาลได้มีการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับปัจจับเสี่ยงดังกล่าวแล้ว โดยแนวทางหนึ่งคือการทบทวนงบประมาณปี 2569 โดยเฉพาะในโครงการที่ไม่เร่งด่วน ต้องไปดูว่าจะปรับเปลี่ยนได้อย่างไร เพื่อนำมาใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน
“ถามว่าจะเอาเงินมาจากไหนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวลง คงต้องบอกว่าตรงนี้มีหลายวิธี แต่เวลานี้เรื่องการสร้างหนี้ใหม่ คงเป็นโจทย์สุดท้ายของรัฐบาลที่จะทำ ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ทำถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ดังนั้นโจทย์แรกที่รัฐบาลมองคือ การทบทวนงบประมาณปี 2569 โยกมาใช้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน เรื่องนี้อาจจะต้องมีการหารือกันในสภาว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นแบบนี้ เราจะมีทางออกแบบใดได้บ้าง และการใช้จ่ายเม็ดเงินก็คงไม่ได้ใช้ทีเดียว ครั้งเดียว ข้อสำคัญของการใช้เงินคือ จะต้องมีโครงการให้ชัดเจน” นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ จะต้องมีการทบทวนโครงการดิจิทัล วอลเล็ตด้วยหรือไม่นั้น นายพิชัย ระบุว่า งบประมาณปี 2569 จะมีส่วนของโครงการดิจิทัล วอลเล็ตอยู่ไม่มาก มีเพียงนิดหน่อยเท่านั้น โดยยังไม่อยากไปพูดว่าจะมีการทบทวน จะตัดงบหรือไม่ตัดงบโครงการนี้ด้วยหรือไม่ คงต้องให้หน่วยงานกลับไปพิจารณาดูก่อน
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2568 กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับเกณฑ์ เงื่อนไขโครงการคุณสู้ เราช่วย เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไขมาตรการจ่าย ปิด จบ ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (NPL) แต่มียอดหนี้คงค้างไม่สูง ไม่เกิน 5 พันบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้าง เพื่อปิดหนี้ได้ทันที โดยเบื้องต้นจะมีการปรับเพิ่มวงเงินหนี้คงค้างเป็น 1-3 หมื่นบาทต่อบัญชี เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะมาดูแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ NPL ในส่วนที่มูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็นลูกหนี้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ราว 4 แสนกว่าราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร์ (ธ.ก.ส.) ราว 6.7 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้คงค้างนานมาก ก็จะเอามาพิจารณาเงื่อนไขเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ วงเงินรวมราว 1 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะต้องไปหารือว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มนอนแบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด วงเงินรวมราว 7-8 หมื่นล้านบาท ยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นจะต้องหารือรายละเอียดกับนอนแบงก์แต่ละแห่ง โดยต้องมีการแยกประเภทลูกหนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขต่อไป
“ถ้าแก้ 3 ส่วนนี้ได้ ซึ่งคิดเป็นลูกหนี้ 3 ล้านกว่าคน แปลว่ากลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาอยู่ในระบบตอนนี้ 5.4 ล้านราย ก็จะหายไปแล้ว 3 ล้านกว่าราย” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่หนี้มีมากกว่า 1 แสนบาท ซึ่งมีราว 2 ล้านคน โดยพบว่ามีราว 5 แสนราย ที่มีหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท ก็ต้องไปหารือกับสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วเยหลือที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมองว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ส่วนการซื้อหนี้ไม่เหมาะที่จะดำเนินการกับลูกหนี้กลุ่มนี้