ยุติธรรมลุยเมืองตรังแก้ปัญหาหนี้ ภายใต้ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 โดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน
GH News May 01, 2025 08:06 PM

 

ยุติธรรม ลุยแก้ปัญหาหนี้ ภายใต้ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 โดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน

วันนี้(1 พ.ค. 2568) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมปัญญาอนุสรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง  จังหวัดตรัง  นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ ๒ จังหวัดตรัง  โดยมี นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน จากสถานการณ์ ภาวะหนี้ของประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามมาตรการแก้ไข ปัญหาหนี้สิน ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน

 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อีกทั้งต้องเกิดจากความสมัครใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย สร้างการตระหนักรู้ และเข้าใจ เพื่อเลือกใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ใน การยุติข้อพิพาททางแพ่ง และข้อพิพาททางอาญาตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทพ.ศ. ๒๕๖๒ ประกอบด้วย การไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนฟ้อง ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒  และหลังศาล มีคำพิพากษา ตามระเบียบกรมบังคับคดี ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลิสซิ่ง ที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์ฟ้อง หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา เข้าถึง กระบวนการยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทาง การเงินให้แก่ประชาชน เป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนต่อไป

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้จัดงาน“มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความ เป็นธรรม” ปีที่ ๑ มาแล้ว ทั้ง ๗๖ จังหวัด จำนวน ๘๙ ครั้ง ช่วยเหลือลูกหนี้ได้ จำนวน ๑๓๒,๓๐๓132,303 ราย จำนวนทุนทรัพย์ ๒๓,๙๐๑.๘๔ ล้านบาท แยกเป็นลูกหนี้ก่อนฟ้อง ช่วยเหลือได้ ๖๖,๑๗๒ ราย ทุนทรัพย์ จำนวน ๑๑,๒๑๗.๐๔ ล้านบาท ลูกหนี้ หลังศาลมีคำพิพากษา ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ จำนวน ๖๖,๑๓๑ ราย ทุนทรัพย์ จำนวน ๑๒,๖๘๔.๘ ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ กยศ. ครั้งที่ผ่านมา มีการคำนวนยอดหนี้ใหม่ ๓.๖๕ ล้านบัญชีเสร็จแล้ว ผู้กู้ ๒.๙๘ ล้านราย ได้รับประโยชน์ ช่วยลดหนี้ผู้กู้เป็นเงินกว่า ๕๖,๓๒๖ ล้านบาท ปลดภาระผู้ค้ำได้๒.๘ ล้านราย 

สำหรับจังหวัดตรังมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดรายได้เข้ามาจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลับสวนทางกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับประชาชนที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น มีการกู้ยืมเงินทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อนำมาใช้จ่ายและต่อยอดการลงทุนการขับเคลื่อนโครงการ มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ปีที่ ๒ มีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้

(๑) การจัดงานรูปแบบ Events โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่าง กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่น รูปแบบการจัดงานวันนี้ ในทุก ภูมิภาคทั่วประเทศ รวม ๔๕ ครั้ง โดยครั้งแรก กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗ และครั้งที่ ๒– ๑๘ กองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อการศึกษาเป็นเจ้าภาพจัดงาน ทั้งนี้ ในการจัดงาน ๑๘ ครั้งที่ผ่านมา มีลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ยกว่า ๒๖,๐๐๐ ราย ทุนทรัพย์กว่า ๓,๘๑๕ ล้านบาท ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน กว่า ๑,๗๐๐ ล้านบาท และปลดผู้ค้ำประกัน ๒๔,๐๐๐ ราย

(๒) การจัดกิจกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ตามบริบทของพื้นที่ โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัด สำนักงานบังคับคดี จังหวัด และภาคีในพื้นที่

(๓) การจัดการไกล่เกลี่ยหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

สำหรับการจัดงานในจังหวัดตรัง ในครั้งนี้ กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ ๑-๒ พฤษภาคม ๒๕๖๘ จำนวน ๒ วัน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี สำนักงานยุติธรรมจังหวัดตรัง สำนักงานบังคับคดีจังหวัดตรัง ร่วมบูรณาการ กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ได้เชิญชวนลูกหนี้เข้าร่วมงานทั้ง ๒ วัน จำนวนกว่า 3,617 ราย ทุนทรัพย์รวม 211ล้านบาท โดยสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วม จัดการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ มีดังนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพ พาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำกัด, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารออมสิน, บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด, บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด, บริษัทเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิชเซ็ส จำกัด (มหาชน), กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน, สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ

โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ ในกรณีก่อนฟ้องคือการผ่อนผันการชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับลดดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือนงดฟ้องดำเนินคดี และรับเงื่อนไขปลดผู้ค้ำประกัน สำหรับในส่วนของชั้นบังคับคดี หรือหลังคำพิพากษา ประโยชน์ที่จะได้รับคือการขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้ งดยึดทรัพย์ งดขายทอดตลาด ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดี และยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย.

 

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.