เพื่อไทย ป้อง‘ทักษิณ’ ชี้ศาลฎีกาตั้งคณะเตรียมไต่สวนปมชั้น 14 เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เชื่ออดีตนายกฯพร้อมรับการตรวจสอบตามกระบวนการ
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2568 นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งองค์คณะไต่สวนการบังคับโทษจำคุกของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปรักษาตัวในชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้
เพียงแค่คุยกับฝ่ายกฎหมายของพรรคว่า เรื่องนี้จะให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เราจะไม่ไปมีความเห็น เนื่องจากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และจะเห็นว่าขณะนี้มีหลายคนที่ใช้ความเห็นส่วนตัวมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ว่าทำได้หรือทำไม่ได้
“พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การจะไปวิพากษ์เรื่องศาลหรือควรไม่ควรนั้น เรากลัวจะถูกมองได้ว่าไปก้าวก่ายอำนาจศาลหรือไปดูหมิ่นศาล ฉะนั้น จึงควรว่าไม่อยากเอาเรื่องการเมืองไปกระทบอำนาจศาล” นายดนุพร กล่าว
ส่วนที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งข้อสังเกตว่านายทักษิณ ป่วยทิพย์ นายดนุพร กล่าวว่า เป็นความเชื่อของนายรังสิมันต์ แต่หากศาลเข้าสู่กระบวนการแล้ว ศาลจะมีวิธีสืบหาความจริงว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ ไปรักษาโรคอะไรบ้างที่โรงพยาบาล ซึ่งคงปฎิเสธไม่ได้ว่ามีเอกสารอยู่ แต่เป็นเอกสารส่วนบุคคล การจะนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น บางครั้งโดยข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้น เมื่อเรื่องไปถึงขั้นตอนของศาล ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมไป
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงศาลนัดไต่สวนนายทักษิณ ในวันที่ 13 มิ.ย.ว่า นายทักษิณ พร้อมรับการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมในทุกมิติ และน้อมรับคำสั่งของศาล โดยมิได้ก้าวล่วงอำนาจศาล
ยืนยันว่านายทักษิณ ไม่ได้อ้างสิทธิพิเศษใดๆ ให้กับตัวเอง กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่เคยฝ่าฝืนเงื่อนไขศาล หรือแสดงพฤติกรรมใดที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่ศาลใช้อำนาจไต่สวนเองนั้น ถือเป็นกระบวนการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งทุกฝ่ายควรเคารพและยอมรับ เวลาที่เข้าสู่กระบวนการรับโทษ ไม่ว่าจะอยู่กี่วันกี่เดือนกี่ปีแล้วออกมาก็ตาม มีระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย มีพ.ร.บ.ราชทัณฑ์คุ้มครอง นายทักษิณ มิได้มีอำนาจไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในสังคมประชาธิปไตย การตรวจสอบเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายล้างกันทางการเมือง ความเป็นธรรมต้องเกิดกับทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เมื่อศาลมีคำวินิจฉัย ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายควรเคารพและยอมรับในกลไกของกระบวนการยุติธรรม ขอให้เชื่อมั่นว่าอดีตนายกฯ เคารพและให้ความร่วมมือ พร้อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในทุกมิติ