มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดงานพิธีประกาศผลรางวัลนักศึกษานพรัตน์ทองคำ ครั้งที่ 39 ประจำปีการศึกษา 2567 โดยมี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานในการมอบรางวัล พร้อมเดินชมนิทรรศการผลงาน “นพรัตน์กับชุมชนยั่งยืน @ สีชัง” โดยมี ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการและรองอธิการบดีสายงานวิจัยและพัฒนา ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์รองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ทั้งนี้โครงการนพรัตน์ทองคำจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีนักศึกษาวิทยาลัย คณะวิชาต่างๆ สนใจเข้าร่วม โครงการจำนวน 53 คน มีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหานักศึกษาที่มีผลการเรียนดี มีความเป็นผู้นำ และเป็นนักกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยและสังคมไทยมาร่วมโครงการเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและความโดดเด่น ตามลักษณะแก้ว 9 ประการ หรือนพรัตน์ อันได้แก่ การมีความรู้ในเรื่องภาษาดี การมีความรู้วิชาการ และความรู้ธุรกิจดี การมีความสามารถใช้ความรู้นั้น เป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า มีความขยัน เอาใจใส่และอดทน การเป็นผู้มีมารยาทอันดีงาม มีความซื่อสัตย์สุจริต การมีความรับผิดชอบในหน้าที่เป็นผู้เห็นโอกาสที่จะสร้างความสำเร็จ และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามปณิธานของอาจารย์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และอาจารย์สนั่น เกตุทัต ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สำหรับผลการประกวดรางวัลนพรัตน์ทองคำ ครั้งที่ 39 ประจำปีการศึกษา 2567 ผู้ได้รับรางวัลนพรัตน์ทองคำ ได้แก่ นายวริศ สารพิษ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาดยุคดิจิทัล โดยได้รับเกียรติบัตร พร้อมโล่เกียรติยศ ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโท 100% รางวัลรองชนะเลิศนพรัตน์ทองคำ ได้แก่ นางสาววนิดา วงศาวัตร์ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีการเงิน ได้รับเกียรติบัตร พร้อมโล่เกียรติยศ ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโท 50%
รางวัล Friendship Award ได้แก่ นางสาววนิดา วงศาวัตร์ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี รางวัลนพรัตน์กับชุมชนยั่งยืน @สีชัง ได้แก่ ทีม 4 Angie’s โครงการ หอมปู-น้ำพริกปูมาจากสีชัง ประกอบด้วย นางสาววนิดา วงศาวัตร์ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี , นายวริศ สารพิษ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี , นางสาวชุติกาญจน์ กาลพัฒน์วิทยาลัยการแพทย์แบบบูรณาการ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบูรณาการสุขภาพและความงาม และ นางสาวอารยา แก้วใส วิทยาลัยการแพทย์แบบบูรณาการ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบูรณาการสุขภาพและความงาม และ รางวัล Outstanding Performance Award ได้แก่ นางสาววรรณิกา ธุสาวุฒิ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวแสดงความยินดีและให้โอวาทกับนักศึกษาว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ขยายแนวคิดของ “โครงการนพรัตน์ทองคำ” โดยมหาวิทยาลัยมองว่า นักศึกษาในยุคปัจจุบันนอกจากมีผลการเรียนที่ดีแล้วควรมีคุณลักษณะอื่นๆ ที่สะท้อนความเป็นนักศึกษา DPU ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงใช้โครงการนพรัตน์ทองคำยกระดับศักยภาพของนักศึกษาให้ครอบคลุมทั้งความรู้ทางวิชาการ รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการทำงานในอนาคต
“ในปีนี้อยากให้นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และประสบความสำเร็จเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว นักศึกษาจะได้รับทักษะด้าน Soft Skills ความรอบรู้และเข้าใจในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) การทำงานร่วมกันเป็นทีม ความสามารถด้านการสื่อสาร หรือความคิดเชิงธุรกิจ และความเข้าใจในผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการเป็นนักศึกษาเรียนดี ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงเริ่มเข้าไปปรับเข้ากับแนวคิดเหล่านี้” อธิการบดี DPU กล่าว
ในปีนี้เห็นว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนพรัตน์ทองคำ ใช้เวลาอยู่กับโครงการนานขึ้น และมีการทำกิจกรรมที่ลึกขึ้น อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าในอนาคตอยากให้โครงการเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นผู้ที่มาบรรยาย หรือมาเป็นผู้ฝึกอบรมให้กับนักศึกษาตลอดระยะเวลา 2 ภาคการศึกษา ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ จึงขอฝากความตั้งใจนี้ไว้กับคณะผู้บริหาร และฝ่ายกิจการนักศึกษาไว้ด้วย
ดร.ดาริกา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โครงการนพรัตน์ทองคำในปีนี้ ทุกคนล้วนเป็น ความภูมิใจของ DPU ดังนั้นไม่ว่าในอนาคตนักศึกษาจะก้าวออกไปอยู่ไหน ชื่อของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะยังคงอยู่กับเราทุกคนเสมอ ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ได้รับจากในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นจากโครงการนพรัตน์ทองคำหรือกิจกรรมอื่น ๆ ล้วนมีค่าอยากให้นักศึกษาฝึกฝนตนเองมากที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความสำเร็จอื่นๆ ต่อไป
ด้าน นายวริศ สารพิษ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดยุคดิจิทัล ผู้ได้รับรางวัลนพรัตน์ทองคำ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ที่ได้รับทุนการศึกษานพรัตน์ทองคำ สำหรับตนเองแล้วรางวัลที่ได้รับวันนี้เป็นความมุ่งมั่นที่พยายามทำมาตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 1 โดยได้วางแผน เตรียมตัว และตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนที่จะแข่งขันเพื่อให้ได้รับทุนดังกล่าว ดังนั้นเมื่อวันนี้มาถึง จึงรู้สึกภาคภูมิใจมาก
ทั้งนี้หลังเรียนจบมีแผนจะทำงานในสายการตลาดโดยตรง โดยเฉพาะในบทบาทของที่ปรึกษา หรือผู้วิเคราะห์วางแผนการตลาดทั้งในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เพราะตนเรียนสายการตลาดโดยตรง ก็อยากจะต่อยอดความรู้ไปให้ถึงระดับการทำงานที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ต้องการเข้าใจตลาดเชิงลึกและสร้างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการวางแผนที่ดีและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลอย่างรอบด้าน
“ฝากถึงน้องนักศึกษาที่สนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการและชิงทุนในอนาคต ใครที่อยากสมัครและมีเป้าหมายในการคว้ารางวัลหรือทุนนี้ อยากแนะนำว่าให้เริ่มตั้งแต่วันนี้เลย ผมเองเห็นรุ่นพี่ที่ได้รางวัลตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ก็เริ่มสอบถามข้อมูล เตรียมตัว และฝึกฝนตั้งแต่ตอนนั้น อยากให้ทุกคนเต็มที่กับมัน เพราะทุนนี้ไม่ใช่แค่โอกาสเรียนต่อระดับปริญญาโทเท่านั้น แต่มันคือโอกาสที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายในชีวิต และเสริมสร้างศักยภาพให้เราเป็นคนที่พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมอย่างมั่นคง” ผู้ที่ได้รับรางวัลนพรัตน์ทองคำ กล่าว
ด้าน นางสาววนิดา วงศาวัตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชีหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีการเงิน ตัวแทน ทีม 4 Angie’s กล่าวถึงรางวัลนพรัตน์กับชุมชนยั่งยืน @สีชัง ว่า โครงการ หอมปู-น้ำพริกปูมาจากสีชัง เกิดจากกลุ่มนักศึกษาได้ร่วมมือกับคุณครูและนักเรียนในพื้นที่ โรงเรียนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เพื่อสำรวจความต้องการและจุดเด่นของชุมชน โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ “ไอศกรีมปูม้า” ของดีขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง ภายหลังการพูดคุยกับชาวชุมชนและการเก็บข้อมูลเชิงลึกแล้วก็ได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “น้ำพริกปูม้า” ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ได้
“น้ำพริกปูม้าที่คิดค้นมีการผสมวัตถุดิบเฉพาะตัวทำให้รสชาติกลมกล่อมครบรสทั้งหวาน เค็ม เผ็ด และมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย โดยได้พัฒนาสูตรทั้งหมด 4 สูตร ได้แก่ น้ำพริกเผา, น้ำพริกตาแดง, น้ำพริกกะปิ และน้ำพริกปลาทู โดยเลือกสูตรน้ำพริกเผาสำหรับทดลองตลาดในระยะแรก เนื่องจากสามารถเก็บรักษาได้นานและเหมาะสำหรับการบรรจุจำหน่าย นอกจากนี้โครงการยังเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของนักเรียนโรงเรียนเกาะสีชัง โดยให้นักเรียนในพื้นที่ร่วมกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ ด้วยการวาดลวดลายฉลากบนขวด สะท้อนถึงเรื่องราวท้องถิ่นผ่านงานศิลปะที่จะช่วยสร้างจุดขายที่น่าจดจำให้กับผู้บริโภค” ตัวแทนนักศึกษา กล่าว
การดำเนินโครงการอยู่ภายใต้การให้คำปรึกษาจากคณาจารย์จำนวน 4 ท่าน ซึ่งดูแลทั้งกระบวนการพัฒนาสูตร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด โดยได้มีการจำหน่ายจริงในรอบทดลองรวมกว่า 40 กระปุก ซึ่งจำหน่ายหมดเป็นที่เรียบร้อยผ่านทั้งการขายในพื้นที่และช่องทางออนไลน์ เช่น LINE Official และ Instagram ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองตลาดที่มหาวิทยาลัยก่อน เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์มีศักยภาพจริง และสามารถตอบโจทย์ตลาดได้ ก่อนจะขยายผลสู่โรงเรียนเกาะสีชังอย่างเต็มรูปแบบ” ตัวแทนนักศึกษา กล่าว
นางสาววนิดา กล่าวถึงสิ่งที่นักศึกษาได้จากการทำโครงการดังกล่าวว่า “นอกจากจะได้เห็นชาวบ้านและนักเรียนในชุมชนจะสามารถมีแหล่งสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกันโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นแล้ว นักศึกษาเองก็ได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริง ทั้งด้านการคิด วิเคราะห์ วางแผน ดำเนินการสัมภาษณ์ การคิดสูตร การออกแบบสินค้า และการขายจริง ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญนอกห้องเรียนและเป็นทักษะที่ไม่สามารถหาได้จากตำราเพียงอย่างเดียว ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้เป็นแค่โปรเจกต์จบ แต่คือโอกาสที่ทำให้นักศึกษาได้สัมผัสชีวิตการทำธุรกิจจริง เรียนรู้จากของจริงและเข้าใจถึงพลังของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกับชุมชน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากคณาจารย์ต่อไปอีกว่า อาจจะนำศาสตร์ด้านอื่นและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ในเฟสต่อไป เช่น ศาสตร์ด้าน Food Science”