ผู้เขียน | เบญจมาศ เกกินะ |
---|
นพ.กระแส ชนะวงศ์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก
ฉายภาพการศึกษา-วัฒนธรรม
‘ไทย-จีน’สานสัมพันธ์50ปี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง
ครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-จีน ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษก่อให้เกิดความรักความผูกพันที่แน่นแฟ้นในทุกมิติทั้งสังคม ศิลปวัฒนธรรม การค้าและการศึกษา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยเกริก ถือเป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาเอกชน ที่มีการสานความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแนบแน่น ปัจจุบันมีนักศึกษาจีน กว่า 3,000 คน จากจำนวนนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทยกว่า 30,000 คน พัฒนาการศึกษาให้เป็นนานาชาติ โดยจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติภาษาและวัฒนธรรมจีน เปิดสอนหลักสูตรภาษาต่างประเทศ (ภาษาจีน) และวัฒนธรรมจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติได้เข้ามาศึกษากับคณาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นอาจารย์เจ้าของภาษา กับการเรียนการสอนที่มีความเป็นสากล…
นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ฉายภาพจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างไทย-จีน ที่มีความชัดเจนว่า ดร.เกริก มังคละพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกริก ได้พัฒนาจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจาก ดร.เกริกมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ มีชื่อเสียงอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง 7 ปีที่ผ่านมา พบว่านักการศึกษาจากจีนสนใจทำความร่วมมือจัดการศึกษากับมหาวิทยาลัยไทย จึงถือเป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์โลก ที่ภาษาจีนเข้ามามีบทบาทสำคัญ
และความหมายของคำว่า หลักสูตรนานาชาติ ไม่ได้มีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษาจีนด้วย ทำให้ไทย-จีน มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยปัจจุบันการศึกษาของจีนมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก หลายเรื่องเราต้องเรียนจากจีน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิธีการเรียนการสอน รวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอน
ไทย-จีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน
ไทย-จีน มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน แม้ทางการทูตจะนับได้ 50 ปี แต่ถ้านับตามจริง น่าจะนานนับหลายร้อยปี ผมเองเคยมีประสบการณ์ ในช่วงก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะประกาศความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ ผมเคยเป็นหนึ่งใน 16 แพทย์ที่มีโอกาสเดินทางไปประเทศจีน เช่นเดียวกับนักกีฬาต่างๆ ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเชื่อมความสัมพันธ์ จนมาถึงทศวรรษนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน มีความมั่นคง แข็งแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศจีนยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ทูลเกล้าฯถวายเหรียญอิสริยาภรณ์ เหรียญมิตรภาพ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นที่ประเทศจีน ให้ชื่อว่า “โรงเรียนสิรินธร” จนกระทั่งเกิดเป็นคำพูดทางประวัติศาสตร์ว่า ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน…
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนไทยกว่า 3 หมื่นคน อาจเรียกได้ว่ามากที่สุดในแถบเอเชีย แต่ก็ยังไม่น่าตกใจมากนัก หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างเช่นออสเตรเลีย มีนักศึกษาจีนมากกว่า 300,000 คน และยังประกาศรับอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้นอกจากสร้างความสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกช่องทางหนึ่ง
สาเหตุที่คนจีนเลือกมาเรียนไทยมีปัจจัยสำคัญคือ ความใกล้ชิดและธรรมชาติของคนไทยที่มีความเป็นมิตร มีการต้อนรับขับสู้ มีอาหาร และบรรยากาศที่คล้ายคลึงกับประเทศจีน ทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยก โดยหลักสูตรที่นักศึกษาจีนเลือกเข้ามาเรียนที่ไทย มีหลากหลาย ทั้งบริหารธุรกิจ การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ
สร้างความเชื่อมั่นเตรียมพร้อมเปิดรับนักศึกษา
และเรื่องสำคัญที่ทำให้นักศึกษาจีนเลือกมาเรียนที่ประเทศไทย คือ เชื่อมั่น ซึ่งมี 4 ข้อหลักๆ ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยต้องเน้นเรื่องการศึกษานานาชาติ 2.ริเริ่มนวัตกรรม ความคิดใหม่ๆ ให้สมกับความเป็นมหาวิทยาลัย 3.ต้องสามารถผสมผสานวิชาการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมสามารถทำงานได้จริงและมีคุณสมบัติดีเพียงพอที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ จุดเน้นสำคัญคือ การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำในทุกขั้นตอน 4.ความมีคุณธรรม กตัญญูกตเวที อาจารย์ทุกระดับเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่นักศึกษารวมถึงต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน
ขณะเดียวกันต้องสร้างความน่าเชื่อถือและความศรัทธาให้แก่นักศึกษาและประชาชน อย่างแรก คือ ต้องมีระบบที่เชื่อถือไว้ใจได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้ระบบดังกล่าวเข้าที่เข้าทาง เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องมียุทธศาสตร์ และอาจารย์ที่มีศักยภาพ เหมาะสมกับตำแหน่งและภาระงาน เพื่อให้เกิดเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง โดยที่มหาวิทยาลัยเกริกจะมีการทบทวนการทำงาน และปฐมนิเทศบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัย เกิดความภาคภูมิใจในการทำงาน และที่สำคัญ นักศึกษาที่จบไปแล้วจะต้องมีภาวะผู้นำในทุกหลักสูตร ซึ่งตนพยายามจัดหลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำทางการเมืองและการค้าให้กับ ส.ส.และ ส.ว.ที่อยากมาเข้าร่วม มีการเปิดคณะสื่อสารการเมือง เพื่อให้นักการเมืองที่ตั้งใจ เข้ามาทำความดีเพื่อประเทศชาติเข้ามาเรียน และสามารถทำงานได้สำเร็จเป็นที่ยอมรับ มีผลงานเป็นที่พอใจของประชาชน ผมเองเคยผ่านงานการเมืองมา แต่ไม่เคยพูดเรื่องการเมืองมาหลายสิบปี วันนี้ที่พูดเพราะอยากตอบแทนระบบการเมืองไทยว่า ผมเองเคยเป็นลูกศิษย์ของรัฐสภา และเห็นว่านักการเมืองเองก็อยากทำความดี อยากมีชื่อเสียง ทำให้ประชาชนชื่นใจ เราเป็นครู ก็ต้องส่งเสริมให้เขาเหล่านั้นสามารถทำงาน และได้รับความดีความชอบและที่สำคัญได้ความรักจากประชาชน
สานสัมพันธ์การศึกษาไทย-จีน
ซึ่งในช่วง 4-5 ปีก่อนที่มหาวิทยาลัยเกริกจะเริ่มต้นจัดการเรียนการสอนภาษาจีน ผมได้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างเครือข่ายทำให้เกิดความร่วมมือ ด้านการศึกษาระหว่างไทยกับจีน ส่วนตัวคิดเสมอว่านักศึกษาไทยและจีน จะทำหน้าที่เสมือนนักการทูต แม้ไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่โดยปริยายถ้าเราทำดี มีมาตรฐาน ทำด้วยความมีคุณธรรม วัฒนธรรม ประเพณี ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีของคนไทย ก็จะถูกเผยแพร่สู่นานาชาติโดยนักศึกษาจีนและไทย
สิ่งที่ผมมองเห็นอีกอย่างคือ คนจีนยอมรับคนไทย ในความเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี มีความอ่อนน้อมถ่อมต้น มีสัมมาคารวะ ที่สำคัญเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความงดงาม ทำให้เกิดความนับถือ ยอมรับ ชื่นชม ในความมีน้ำใจของคนไทย
ประกอบกับปัจจุบันอัตราการเกิดน้อยลง มหาวิทยาลัยต่างต้องปรับตัว เปิดรับนักศึกษาระดับนานาชาติ และที่ตรงที่สุดคือ ประเทศจีน เพราะเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก และมีความสำคัญต่อประเทศไทย ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรหันหน้าเข้าหากัน ทั้ง ม.รัฐและเอกชน รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต้องมานั่งหารือเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจีน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 30,000 คน หากขยายเป็น 200,000-300,000 คน เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อประเทศ ส่วนผลเสีย ก็ต้องมาวางมาตรการเพื่ออุดช่องโหว่ เพื่อให้มีแต่ผลดี และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ หรือถ้าพูดแบบการตลาด ก็ต้องบอกว่าเงินทองก็จะไหลเข้าประเทศมากขึ้น จากค่าเล่าเรียน การใช้จ่าย การท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ถ้าคิดกันแบบนี้ก็อย่าลังเลใจ วางยุทธศาสตร์อุดช่องโหว่ เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน
ผมมานั่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริกมากว่า 8 ปี ผมมองเห็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งมีความแข็งแรงด้านโครงสร้าง ดังนั้นหากเปิดมหาวิทยาลัยนานาชาติที่เป็นภาษาจีน จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาล แน่นอนว่าอาจมีสิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นบ้าง แต่ถ้าเราเตรียมการดี ก็จะสามารถป้องกันความเสียหายได้ หรือหากจะมีเรื่องเสียหายอะไรบ้าง ก็ขอให้เสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น ควรเริ่มต้นเอาจริงเอาจัง
ปีแห่งการเฉลิมฉลองสัมพันธ์ไทย-จีน
50 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นโอกาสดี ที่จะใช้โอกาสนี้เสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรง ไทยกับจีน มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และทุกคนยอมรับคำพูดที่ว่า ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน ยิ่งยุคนี้คิดว่าความสัมพันธ์ของรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทยค่อนข้างมั่นคงแข็งแรง วิถีชีวิตของคนไทยและจีน มีความใกล้ชิดกันมาก เพราะฉะนั้น 50 ปีนั้นมีความหมาย และเป็นเรื่องที่เราต้องเฉลิมฉลอง แน่นอนที่สุดต้องยอมรับว่า ประเทศจีนมีความเติบโต ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษาที่มีความก้าวหน้าไปไกล ดังนั้น ไทยเองควรจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ ร่วมมือ และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน พอที่จะได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยในการพัฒนาประเทศ
ผมเคยได้รับคำถามจากนักเรียนจีนว่า ประเทศไทยทำอย่างไรคนจีนถึงอยากมาเที่ยว ผมเองก็บอกว่า ไม่รู้ แต่อาจเป็นเพราะอัธยาศัยของคนไทย ที่มีความเป็นมิตร เห็นคนจีนเหมือนญาติสนิทมิตรสหาย และรู้ว่าคนจีนเป็นคนดี คนไทยคุ้นเคยกับคนจีนมาเป็นร้อยๆ ปี เมื่อมาเมืองไทยก็เกิดความสบายใจ ตรงนี้เป็นคำถามสั้นๆ ที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย…
เบญจมาศ เกกินะ