ปลดล็อกศักยภาพทางราง สินค้าไทยส่งตรงยุโรป ผ่านรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง
GH News May 04, 2025 12:21 PM

นครฉงชิ่ง (Chongqing) มหานครขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนตั้งอยู่บนโลเกชั่นทางด้านตะวันตกของแผ่นดินใหญ่ โดยจัดวางยุทธศาสตร์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และโลจิสติกส์ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งนับว่าเป็นประตูหน้าด่านที่สำคัญในการส่งสินค้าสู่สากล

โดย ‘ฉงชิ่ง’ มีเส้นทางคมนาคมขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่โดยเชื่อมต่อถึง 105 ประเทศ มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่กระจายครอบคลุมทั่วเมืองหลวง และการขนส่งสินค้าทางราง ก็ยังเชื่อมเส้นทางครอบคลุมต่อไปทั่วประเทศจีน

อีกทั้งในระดับสากลยังเป็นหนึ่งในทางผ่านสำคัญของ BRI หรือ Belt and Road Initiative อันเป็นโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย Silk Road Economic Belt ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมระหว่างจีนไปยังยุโรปอีกด้วย

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์

มาถึงคราว กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดกิจกรรมนำคณะเดินทางศึกษาดูงาน ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์ของการขนส่งทางรถไฟในการเชื่อมโยงตามแนวเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

โดยได้เข้าพบบริษัท New Land Sea Corridor Operation (NLS) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของจีนและประเทศพันธมิตร ภายใต้ โครงการ China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเส้นทางคมนาคมและการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาระเบียงทางบก-ทางทะเลใหม่แห่งฉงชิ่ง (Chongqing New Land Sea Corridor) ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งที่เชื่อมต่อจีนตะวันตกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้การขนส่งแบบผสมผสานทั้งทางรถไฟ ทางทะเล และทางถนน เพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้า

รวมถึงนำคณะเข้าเยี่ยมชม สถานีรถไฟ Tuanjiecun และลานตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางการขนส่งทางรถไฟจีน-ยุโรป ช่วยให้ได้เข้าใจถึงระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางรางข้ามประเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้

ขนส่งทางราง เติบโตก้าวกระโดด
ครอบคลุม 110 เมือง จากเอเชีย-ยุโรป

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน โดยสินค้าบางส่วนเริ่มหันมาใช้การขนส่งโดยเส้นทางรถไฟมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้และพลาสติก

โดยสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งเพียง 2,288 ตัน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 46,287 ตันในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตันในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 37.56 เมื่อเทียบกับปี 2566 และเมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก

รถไฟฟ้าสถานีหลีจื่อป้า

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังนครฉงชิ่งผ่านเส้นทางรถไฟใช้เวลาประมาณ 4 วัน ซึ่งถือว่ารวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ การขนส่งทางรถไฟจึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น ผลไม้สด หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง

ในปี 2566 รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากกว่า 430,000 TEU และปัจจุบันขบวนรถไฟจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากถึง 110 เมืองในเอเชียและยุโรป

เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) เริ่มต้นจากสถานี Tuanjie Village Central Station ผ่าน Alashankou (Horgos) เขตปกครองตนเองซินเจียง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ ไปยังเยอรมนี รวมระยะทาง 10,987 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 14-15 วัน

“กรมรางฯ จะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางของไทย และผลักดันนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางให้มีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งของประเทศเพื่อนบ้านและระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อไป” นายพิเชฐกล่าว

หนุนช่วงชิงความได้เปรียบ
ชูจุดแข็งไทยส่งออก‘ผลไม้พรีเมียม’

เมื่อเปรียบเทียบการขนส่งทางเรือ รถยนต์ และรถไฟแล้วนั้น นายพิเชฐเผยว่า สิ่งที่ไม่น่าเชื่อ คือ รถไฟเร็วกว่า แม้มีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับขนส่งทางรถยนต์ ซึ่งความเร็วกว่าตรงนี้ จะมีผลมากกับสินค้าที่ขึ้นอยู่กับเวลา

เช่น ทุเรียน ถ้าขนส่งห่างกัน 3 วัน จะเห็นว่าสภาพทุเรียนก็จะเปลี่ยน และทำให้ขายในราคาที่แตกต่างกันมาก รวมถึง มังคุด เงาะ ลำไยในช่วงฤดูหนาว ก็จะแตกต่างมากในแง่ของ ‘ราคา’ กับ ‘เวลา’

“เราจะเห็นว่ามีการพัฒนาการขนส่งทางรางดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากพื้นที่ตรงนี้ (ฉงชิ่ง) เขาพัฒนาขึ้นมาแล้ว 8 ปี แต่ว่ารถไฟลาว-จีน พัฒนามาประมาณ 4-5 ปี ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าสินค้าเกษตรในบริเวณนี้ ส่งเข้าออกบริเวณจีนฝั่งตะวันตก มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนอาจเรียกได้ว่า เปลี่ยนแปลงอย่างที่เราไม่เคยมีมาก่อน

ปัจจุบันเราก็ยังต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่เวียงจันน์โลจิสติกส์ปาร์คอยู่ เนื่องจากขนาดของรางไม่เท่ากัน แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่าการทำงานด้านศุลกากร การขนย้าย เปลี่ยนถ่าย เราก็ได้เรียนรู้ขึ้นมาก จนโตขึ้นปีละ 20-30 เปอร์เซ็นต์” นายพิเชฐชี้พร้อมทั้งยังชวนมองอีกว่า การแข่งขันในการส่งออกสินค้าในภูมิภาคนั้น แต่ละประเทศมีความได้เปรียบในการแข่งขันต่างกันไป ซึ่งปกติแล้วทางจีนกับเรา ก็ไม่ได้มีสินค้าประเภทเดียวกัน

ยกตัวอย่าง ผลไม้ ทางจีนเขาไม่ค่อยจะปลูกสักเท่าไร หรือปลูกได้ไม่ดีเท่าเรา เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ หรือมะม่วง พวกนี้ถึงแม้ว่าทางจีน หรือเวียดนาม พยายามจะปลูก แต่ก็มีคุณภาพที่ไม่ได้ดีเท่าเรา

“ขณะที่สินค้าบางอย่างจากจีน เราก็ผลิตได้ไม่ดีเท่าเขา หรือการแข่งขันราคา ทำได้ไม่ดีเท่าเขา ซึ่งสินค้าจากจีนส่งออกมาไทย หรือเราส่งไปจีน ต่างคนก็ต่างมีความได้เปรียบในประเภทของสินค้าของตัวเอง” นายพิเชฐระบุ

ยัน‘ทางรถไฟเชื่อมโลก’กำลังเกิดขึ้นจริง

เมื่อได้มาศึกษาประสิทธิภาพการขนส่งทางราง นครฉงชิ่งแล้วนั้น นายพิเชฐเผยว่า คำว่า ‘ทางรถไฟเชื่อมโลก’ มันเกิดขึ้นจริง และก็เริ่มจะจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากดูจากแผนที่จะเห็นว่า ‘สินค้าไทย’ สามารถส่งเข้าไปที่ภูมิภาคยุโรปผ่านทางรางได้แล้ว

“เราทดลองขนสินค้าประเภท Chemical จากมาบตาพุดไปถึงเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ได้แล้วถึง 2 ครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าการส่งครั้งนี้ทำได้จริง ซึ่งการทดลองขนส่งครั้งแรก ใช้เวลาขนส่งราว 30 วัน อาจจะใช้เวลามากหน่อย เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เขาก็พยายามจะเลี่ยง แล้วออกไปทางคาซัคสถาน เพื่อเข้าไปที่เบลารุสแทน

แต่ครั้งที่ 2 ใช้เวลาขนส่งเร็วขึ้นมา จากที่ใช้เวลา 30 วัน เหลือประมาณ 22 วัน ก็เกิดขึ้นจริงแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการใช้เวลาไปกับพิธีการศุลกากรเป็นส่วนใหญ่

โดยจุดเริ่มต้นขนจากแหลมฉบัง หรือมาบตาพุด ที่เป็นท่าเรือใหญ่ของเรา ผ่านเส้นทางรถไฟมาที่หนองคาย ไปเปลี่ยนถ่ายที่เวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ค ต่อด้วยรถไฟจีน-ลาว ผ่านบ่อเต็น โม่ห่าน คุนหมิง มาจนถึงฉงชิ่งที่นี่ ซึ่งเป็นฮับที่ใหญ่ที่สุดของจีนฝั่งตะวันตก

หลังจากนั้นก็จะกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน สามารถส่งไปทางตะวันออก ตะวันตก รวมถึงขึ้นไปทางเหนือของจีน ก็จะกระจายสินค้าจากที่นี่” นายพิเชฐย้อนเล่า

ก่อนจะขมวดให้เห็นว่า ความพิเศษของ ‘ฉงชิ่ง’ คือ มันสามารถขนสินค้าไปทางภูมิภาคยุโรป ผ่านทางซินเจียง อี้หนิง และไปทางคาซัคสถาน ข้ามไปที่รัสเซีย เบลารุส แล้วข้ามไปที่โปแลนด์ เข้าไปในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป

ดันรถไฟความเร็วสูง
ส่งคน-ขนสินค้าไว

หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เฟส 2 โคราช-หนองคาย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้วนั้น นายพิเชฐมองว่า เมื่อดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ก็จะสามารถขนคนมาท่องเที่ยว มาค้าขายและลงทุน แต่ส่วนหนึ่งก็สามารถขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่น้ำหนักเบา ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

“เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่า การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่หากดูการขนส่งชิ้นส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เช่น กล่อง ECU (Electronic Control Unit) ที่เป็นแผงอิเล็กทรอนิกส์น้ำหนักเบา ต้องการความเร็วในการขนส่ง ก็จะสามารถทำได้

รวมถึงการขนส่งสินค้าทางการเกษตร หรือผลไม้ที่มีมูลค่าสูงเช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด โดยใช้เวลาขนส่งจากแหลมฉบังมาถึงฉงชิ่ง ใช้เวลา 11 วัน ค่อนข้างสะดวกแล้ว เนื่องจากมีการทดลองกันมา 4-5 ปี มันจึงลดเวลาในการขนส่งลงเรื่อยๆ

ผมบอกได้เลยว่า แข่งกับการขนส่งด้วยรถบรรทุกได้สบายมาก เพราะว่ารถบรรทุกจะใช้เส้นทางผ่านภูมิภาคของลาว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นภูเขาแล้วเมื่อรถไฟความเร็วสูงของเราสร้างเสร็จ ก็จะสามารถลดระยะเวลาในการขนส่งลงได้อีก 3-4 วัน ทำให้การขนส่งเหลือเพียง 7-8 วันเท่านั้น” นายพิเชฐยืนยันหนักแน่น

ภายใน 4 ปี ขนส่งทางราง ‘แข็งแกร่งขึ้นอีก’

เมื่อมองอนาคตการขนส่งทางรางของไทยนั้น นายพิเชฐกล่าวว่า จีนเขาเห็นความสำคัญของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เขารู้ว่าตำแหน่งบริเวณฉงชิ่ง มันมีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์ จนเรียกได้ว่า ศูนย์กลางทางด้านตะวันตกของจีน

ส่วนประเทศไทยก็รู้เช่นเดียวกันว่า เราเป็นศูนย์กลางของ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญในการช่วงชิงความได้เปรียบด้านโลเกชั่น เพราะลงไปทางตอนใต้ก็เชื่อมต่อกับมาเลเซีย ออกไปทางตะวันออกก็เจอเวียดนาม กัมพูชา รวมถึงทางตะวันตกก็ติดพม่า รวมถึงเราสามารถผ่าน สปป.ลาว ไปถึงจีน

จากนั้นฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นไปอีกว่า ตอนนี้ไฟรางคู่เรามีมาถึงขอนแก่นแล้ว และกำลังเริ่มก่อสร้างรถไฟเส้นทางจากขอนแก่นไปยังหนองคาย ซึ่งภายใน 3-4 ปี โครงข่ายรถไฟของเราจะสมบูรณ์แบบแล้ว เราก็จะสามารถขนส่งสินค้าทั้งหมดอย่างสะดวก

หากเทียบเส้นทางรถไฟรางคู่ในภูมิของเราแล้วนั้น อาจจะยังสู้มาเลเซียไม่ได้ เพราะเขาสร้างรถไฟรางคู่เสร็จไปก่อนแล้ว แต่ข้อเสีย คือ มันไกลมาก ที่มีโลเกชั่นตั้งอยู่ทางใต้ ซึ่งไม่ว่าเขาจะขนอะไร ก็ต้องส่งผ่านประเทศไทย

รวมถึง สปป.ลาว เขามีรถไฟที่ทันสมัยก็จริง แต่ก็ยังเป็นรถไฟรางเดี่ยวอยู่ หรือกัมพูชา และเวียดนาม เขาก็กำลังพัฒนา

แต่ตอนนี้ในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ไทยค่อนข้างที่จะได้เปรียบแล้ว และในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า ไทยจะแข็งแกร่งขึ้นอีกมาก

ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.