วันที่ 4 พฤษภาคม 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “โอกาสไทยกับนายกแพทองธาร” ถึงการรับมือแผ่นดินไหวครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่า ตอนนั้นตนเองอยู่ภูเก็ต กำลังประชุมกับส่วนราชการจังหวัดภูเก็ตติดตามเรื่องคมนาคม ทันทีที่ทราบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็ได้สั่งปิดประชุม และเปิดประชุมด่วน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ผ่าน Zoom กับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าและได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่เคยรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างจริงจังมาก่อน จึงต้องให้ความรู้ในการรับมือกับสถานการณ์ ขณะเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวก็ประสานงาน ติดต่อกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกรุงเทพมหานคร และส่วนราชการสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทยและกองทัพ พร้อมสั่งกองทัพ อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยเร่งนำประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง เรื่องอำนวยการก็มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นส่วนหน้าขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า วันต่อมาตนเองได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือการส่ง sms แจ้งเตือนภัย ซึ่งวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว sms ไม่สามารถส่งแจ้งเตือนประชาชน จากการทดลอง สามารถส่ง sms ได้แค่ 1,000 หมายเลขเท่านั้น แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง sms จะส่งถึงประชาชน เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน
โดยให้บูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ กระบวนการ พร้อมออกแบบข้อความ รวมถึงข้อปฏิบัติหากเกิดแผ่นดินไหว หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ขึ้น จำเป็นต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ง่ายที่สุด เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด หากเกิดเหตุคับขัน สามารถส่งข้อความฉุกเฉิน ต้องเป็นข้อความที่มีประโยชน์ ถูกต้อง และทันที ผ่านทาง Cell Broadcast ไปยังมือถือของประชาชนในพื้นที่ที่กำหนด ไม่ใช่แจ้งเตือนแผ่นดินไหวเท่านั้น ยังใช้สถานการณ์น้ำท่วม หรือเหตุความไม่สงบด้วย ส่งครั้งเดียว สามารถกระจายไปถึงประชาชนได้ทีละหลายล้านคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ว่า ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหาความเท็จจริง โดยหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า จะทราบคำตอบที่แท้จริงเหตุผลของเหตุการณ์ตึกถล่มได้อย่างไร ซึ่งต้องมีการจำลองเหตุการณ์จาก 4 สถาบันร่วมกับกรมโยธาธิการฯ นำข้อมูลจากการทดลองมาเปรียบเทียบข้อมูล เพื่อหาข้อมูลที่แท้จริงถึงสาเหตุ ตึกเดียวถล่ม มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งหมดจะต้องใช้เวลาประมาณ 90 วัน สำหรับตนเองรู้สึกว่าใช้เวลานานในการหาคำตอบ
“เรื่องนี้ตนรับไม่ได้หากจะไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ได้มีการกำชับกับตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ถ้าในกระบวนการหากมีความผิดตั้งแต่การอนุมัติ การอนุญาต และการถูกออกแบบขึ้นมา ถ้าผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี ยังไม่ต้องพูดเรื่องตึกถล่ม และตึกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้มีการตรวจสอบเช่นกัน อยากให้มีพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานที่ดีของประเทศ และตึกที่สร้างใน กทม. ด้วยข้อจำกัดของกฎต้องสามารถรองรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่หลังจากเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม ญาติของผู้สูญหายชาวเมียนมา เข้ามาบอกว่า “ช่วยด้วย” เขากังวลว่าคนในครอบครัวหายไปในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศของเขา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตนเองบอกว่า รัฐบาลจะช่วยอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นคนเมียนมา หรือคนไทย เพราะทุกคนคือคน ต้องช่วยกันสุดความสามารถอย่างเต็มที่ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบอยู่หน้างาน การค้นหาผู้สูญหายยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ พบจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทุกคนพยายามเคลียร์ไซต์งานให้หมด คาดว่าใกล้จะเสร็จแล้วไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ พยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตนำร่างกลับไปทำพิธีที่ตามที่นับถือหรือศรัทธาต่อไป
“หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอีกครั้ง ซึ่งไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้ รัฐบาลได้รองรับไว้หมดแล้วว่าจะทำอย่างไร ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยมีขั้นตอนการแจ้งเหตุ ขั้นตอนในการเอาตัวรอดรักษาชีวิต รัฐบาลเตรียมพร้อมทั้งหมด ทุกระบบถูกจัดการถูกวางแผนไว้อย่างดีและรัดกุม” น.ส.แพทองธาร กล่าว