ความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมการดำเนินงานจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวเปิดตัวศิลปินที่เข้าร่วมโครงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 กลุ่มที่ 2 ณ ลานลม ชั้น 1 Central Phuket Festival จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันก่อน
นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ. โดย สศร. จัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 ระหว่างเดือน พ.ย.2568 – เม.ย. 2569 ภายใต้แนวคิด “นิรันดร์กัลป์” ใช้พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอ ใน จ.ภูเก็ต พร้อมทั้งจัดกิจกรรมคู่ขนานและกิจกรรมศาลาสำหรับแสดงผลงานนิทรรศการของกลุ่มศิลปินและองค์กรศิลปะทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จำนวน 13 ศาลา โดยได้ออกประกาศการรับข้อเสนอผลงานศาลาที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว จนถึงวันที่ 15 พ.ค. นี้ และประกาศผลการพิจารณาภายในเดือน มิ.ย. นี้
นางศศิฑอณร์ กล่าวว่า การจัดงานได้คัดเลือกศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งหมด 65 คน โดยเปิดตัวศิลปินกลุ่มแรกไปแล้ว 30 คน การเปิดตัวครั้งนี้เป็นกลุ่มที่สอง จำนวน 15 คน เป็นศิลปินเดี่ยว 13 คน และ ศิลปินกลุ่ม 2 กลุ่ม ดังนี้ ศิลปินชาวไทย 5 คน ได้แก่ 1.สะรุจ ศุภสิทธิเวช 2.ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ 3.วิลาวัณย์ เวียงทอง 4.สุพิชชา โตวิวิชญ์ และ 5.พัฒนพงศ์ มณเฑียร ศิลปินต่างชาติ 8 คน ได้แก่ 1. อู๋ ฉี-อวี้ ไต้หวัน 2. อาย็อง คิม เกาหลี 3. โกเน็กซี ตามาลันเรอา เมืองตามาลัน 4. มาลิน ยิม กัมพูชา 5.โอลิเวอร์ ลาริก เยอรมัน 6.จ้าว ย่าว จีน 7.เซอรีน ฮุย เนเธอร์แลนด์และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง 8 ทุย เทียน เหงียน เวียดนาม และเยอรมัน ส่วนศิลปินกลุ่ม 2 กลุ่ม ได้แก่ อเล็กซ์ มอนทีธและมารี ชีแฮน นิวซีแลนด์ และไถ พอลลีน กุนิเยร์ ฌาร์แด็ง และฟีลกู๊ด โคโอเปอ เรทีฟ ฝรั่งเศส ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัวกลุ่ม 3 ที่เหลืออีก20 คน ในช่วงเดือน มิ.ย. รวมทั้งจะเพิ่มศิลปินคนไทยในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินภาคใต้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับศิลปินนานาชาติ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และสร้างผลงานศิลปะร่วมสมัยไปสู่ระดับโลก
ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จ.ภูเก็ตมีความพร้อมในการจัดงาน Thailand Biennale, Phuket 2025 อย่างเต็มที่ ร่วมสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ นับตั้งแต่การเดินทางที่มีท่าอากาศยานนานาชาติรองรับเที่ยวบินตรงทุกวันๆ รวมกว่า 380 เที่ยวต่อวัน พร้อมการจัดระบบขนส่งมวลชนทุกทาง มีห้องพักของโรงแรมมากถึง 110,000 ห้อง จากโครงการนี้จะมีการติดตั้งประติมากรรมถาวรจำนวน 10 ชิ้น ในจ.ภูเก็ต เพื่อเป็นแลนด์มาร์คใหม่ด้านศิลปะ วันที่ 16 ส.ค. 2568 จะเปิดกิจกรรมต้อนรับศิลปินร่วมสมัยจากนานาชาติที่จะเดินทางมาสร้างสรรค์ผลงาน จากนั้นในเดือน พ.ย. จะเป็นการเปิดงานอย่างเป็นทางการ คาดว่า ช่วง 5 เดือนของเบียนนาเล่จะเป็นก้าวสำคัญ ทำให้ทั่วโลกรับรู้ภูเก็ตเป็นเมืองศิลปะ ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 13 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 497,000 ล้านบาท คาดว่า การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยปลายปีนี้จนถึงปี 2569 จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างรายได้มากถึง 500,000 ล้านบาท
นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ กล่าวว่าThailand Biennale, Phuket จะมีศิลปินเข้าร่วม 65 คน ที่มีความโดดเด่นและเหมาะสม จัดแสดงผลงานครอบคลุม 3 พื้นที่อำเภอ ได้แก่ เมืองเก่าภูเก็ต กระทู้ และแหลมพรหมเทพ ซึ่งออกแบบให้ผู้ชมและนักท่องเที่ยวสามารถเดินหรือปั่นจักรยานเที่ยวชมงานศิลป์ได้ จุดติดตั้งผลงานมีความหลากหลาย เช่น สะพานหิน โรงถลุงแร่เก่า รวมถึงในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ผลงานใกล้ชิดกับผู้คน เราไม่อยากให้ออกมาเป็นเบียนนาเล่ที่เงียบเหงา รวมถึงจะมีกิจกรรมคู่ขนาน และศาลาพาวิลเลี่ยนพื้นที่จัดแสดงผลงานนิทรรศการของกลุ่มศิลปินทั้งหมด 13 ศาลา ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่แสดงไม่เพียงแค่สร้างความคึกคัก แต่ถ่ายทอดเนื้อหาประวัคิศาสตร์ วิถีชีวิต ชุมชนภูเก็ต และจุดเปลี่ยนภูเก็ตจากยุคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะช่วยดูแลรักษาและปกป้องธรรมชาติ มหกรรมเบียนนาเลที่จะเกิดขึ้นเป็นการใช้ศิลปะหลากหลายสาขา สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของระบบทุนนิยม เพื่อเป็นพลังสร้างสมดุลทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
งานเปิดตัวศิลปินร่วมสมัยรอบที่สอง มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 ระหว่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของ สศร. และ มรภ. ในโครงการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จสูงสุด เพื่อประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงเพื่อสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสู่สาธารณชน