ปทุมธานีสร้างขยะมูลฝอยมากกว่าวันละ 2,000 ตัน ในจำนวนนั้นเป็นขยะอาหาร ทั้งอาหารเหลือ สินค้าที่หมดอายุ เศษผักที่ทิ้งเพราะเป็นส่วนที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาหารเหลือกลายเป็นมื้ออิ่มได้ หากมีการส่งเสริมการจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อส่งต่อให้แก่ผู้ยากไร้และกลุ่มเปราะบาง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปริมาณขยะอาหารในพื้นที่
ปรากฎการณ์ความสุขจากการแบ่งปันอาหาร จับคู่ผู้ทิ้งอาหารและผู้ต้องการอาหารที่ จ.ปทุมธานี เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี และมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ลงนามความร่วมมือใน“การขยายผลโครงการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดขยะอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน” โดยใช้กลไกชุมชนรักษ์อาหาร (Local Food Rescue) ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ จ.ปทุมธานี อาทิ ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ประสบภัย
ภายในงานภาคีเครือข่ายผู้ร่วมบริจาคอาหารส่วนเกิน ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดขนาดใหญ่ที่มีขยะเกิดขึ้นทุกวันมากกว่า 200 ตัน ด้วยเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบ มีเศษผักผลไม้ หรือที่เรียกว่า byproduct จำนวนมหาศาล ,ตลาดไท ที่เป็นตลาดกลางผักผลไม่จังหวัดปทุมธานี ,เซียร์รังสิต ,ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และซีพีแรม รวมถึงผู้แทนจากชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เข้าร่วม
โครงการนี้ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่เหมาะสมในหลายด้านครอบคลุมทั้งความปลอดภัยอาหาร การเก็บรักษา การขนส่ง การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การแจกจ่าย รวมถึงการคำนวณข้อมูลการปล่อยคาร์บอน ช่วยส่งต่ออาหารจากต้นทางไปยังปากท้องที่หิวโหยแทนที่จะทิ้งให้เสียเปล่า
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้พัฒนาเครื่องมือและแพลตฟอร์มสนับสนุนการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินลดปัญหาขยะอาหาร โดยจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยอาหารสำหรับการบริจาคอาหารโดยไบโอเทค การพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงผู้บริจาคอาหาร ผู้รับอาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเนคเทค การศึกษาวิจัยผลกระทบของอาหารส่วนเกินต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเอ็มเทค และยังมีทีมวิจัยนโยบายที่จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนกระบวนการบริจาคอาหารส่วนเกินและจัดตั้งเป็นธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank)
“ สวทช. จะนำผลงานวิจัยเข้าไปสนับสนุนการขยายผลการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในระดับท้องถิ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมผ่านกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยในการประสานงานและเชื่อมโยงหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จ.ปทุมธานี รวมถึงจะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ในการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดขยะอาหาร” ดร.จุฬารัตน์ กล่าว
ด้าน นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ความร่วมมือการขยายผลโครงการฯ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดล” นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญยิ่ง และจะเป็นต้นแบบที่มีคุณค่าและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้ด้วย โดยทั้ง 3 หน่วยงานของจังหวัด ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี จะเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนให้ปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดลเกิดขึ้นจริง และสามารถสร้างความยั่งยืนด้านอาหารให้กับชุมชนของเราต่อไป
ปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดล อาศัย อบจ.ปทุมธานี เป็นเซ็นเตอร์ส่งต่อสู่ปลายทาง “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า อบจ.ปทุมธานี จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สร้างเครือข่ายผู้บริจาคอาหารในพื้นที่ด้วยการเชื่อมโยงผู้ผลิตอาหาร ตลาดค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในการบริจาคอาหารส่วนเกินแก่กลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับอาหารร่วมกับอาสาสมัครและจิตอาสาในพื้นที่
“ อบจ.ปทุมธานีจะร่วมสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้การกระจายอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมถึงการจัดหาและสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น ลดภาระครัวเรือน และยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันยังสามารถลดปริมาณขยะอาหารที่ต้องจัดการในพื้นที่ ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม ลดงบประมาณท้องถิ่นในการจัดการขยะ ” นายก อบจ.ปทุมธานี ย้ำลดขยะอาหารเป็นนโยบายพัฒนาเมืองที่สำคัญ
โอกาสนี้ มีการลงพื้นที่ชุมชนบ้านมั่นคงโครงการสหกรณ์เคหสถานปทุมธานีโมเดล จำกัด ซ.คลองหลวง 35 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินให้แก่ชาวบ้านในชุมชน 200 คน ถือเป็นพื้นที่นำร่องปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดล ช่วยชุบชีวิตให้อาหารไม่กลายเป็นขยะไร้ค่า สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ผู้มีรายได้น้อย