ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การถล่มของอาคาร สตง. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นคำถามถึงสาเหตุว่า อาคารสูงและใหญ่ขนาดนั้น ทำไมถึงถล่มได้อย่างง่ายดาย
ขณะนี้ผ่านมาแล้วเดือนเศษ ยังไม่มีคำตอบถึงสาเหตุการพังถล่ม แม้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุต่างๆนานา แต่ยังไม่มีข้อยุติ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2568 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเจาะเก็บตัวอย่างลูกปูน เพื่อนำไปทดสอบกำลังอัดว่าได้ตามที่ออกแบบหรือไม่ มีกระแสวิจารณ์ถึงการเก็บลูกปูนที่เก็บเฉพาะบางตำแหน่งที่สมบูรณ์เท่านั้น หรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ จากการที่ได้เดินทางไปดูพื้นที่อาคาร สตง. ถล่มเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา มีข้อคิดเห็นว่า ขณะนี้หน้างานได้ทำการรื้อถอนซากอาคารจนถึงระดับพื้นดินแล้ว ตอนนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะเข้าถึงผนังปล่องลิฟต์ ที่ยังคงเหลือซากอยู่บางส่วนบริเวณชั้นใต้ดิน และเป็นจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการถล่ม
การพิสูจน์กำลังอัดของคอนกรีตที่ผนังปล่องลิฟต์ จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างมากในการหาสาเหตุการถล่ม
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวต่อว่า ได้เห็นภาพตัวอย่างการเก็บลูกปูนจากข่าว พบว่า เป็นการเก็บลูกปูนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว (75-100 มม.) ซึ่งเป็นก้อนลูกปูนขนาดใหญ่
และเก็บในบริเวณผนังที่มีความสมบูรณ์ ทำให้มีกระแสโต้แย้งว่าการเก็บลูกปูนดังกล่าว ครอบคลุมหรือไม่อย่างไร หรือมีการเลือกเก็บเฉพาะบางบริเวณหรือไม่นั้น
ในประเด็นนี้ มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
1.การเก็บตัวอย่างลูกปูน ควรต้องมีการวางแผนล่วงหน้า พร้อมๆ กับการรื้อซากตึกถล่ม เนื่องจากโครงสร้างแต่ละส่วน เช่น เสา คาน ผนัง พื้น ใช้คอนกรีตที่มีกำลังอัดไม่เท่ากัน ควรวางแผนว่า วันไหนเก็บลูกปูน ตรงโครงสร้างบริเวณใด และต้องทำเครื่องหมาย มีภาพถ่ายชัดเจน เพื่อใช้เป็นหลักฐานภายหลัง
2.การเก็บลูกปูนควรเก็บกระจายสุ่มให้ทั่ว อย่างครอบคลุม ตามหลักสถิติ จะได้ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ค่าเฉลี่ย ค่าความแปรปรวน ต้องมีจำนวนลูกปูนที่มากพอ และควรเก็บทั้งบริเวณที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในเชิงเปรียบเทียบกันได้
3.การเก็บลูกปูนมีหลายวิธี ควรนำเทคโนโลยีและงานวิจัยสมัยใหม่มาร่วมเก็บข้อมูลด้วย เช่น ในบริเวณโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถเก็บลูกปูนขนาดใหญ่ได้ สามารถเก็บลูกปูนขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1 นิ้ว (25 มม.) ตามมาตรฐาน NDST 3439 ของประเทศญี่ปุ่น
หรือ สามารถเก็บผงปูนไปทำการวิเคราะห์หากำลังอัดตามแนวทางงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวที่เพิ่งมีรายงานผลการวิจัยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
4.ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการหากำลังอัดของคอนกรีตจากซากคอนกรีตมาร่วมให้ข้อแนะนำด้วย จะทำให้เห็นมุมมองจากต่างชาติทางด้านนิติวิศวกรรมศาสตร์
5.ซากชิ้นส่วนที่เก็บตัวอย่างแล้ว ไม่ควรทำลายทิ้งทันที แต่ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อย แล้วนำไปเก็บไว้เป็นหลักฐาน ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถนำมาวิเคราะห์ในภายหลังได้
ศ.ดร.อมร พิมานมาศกล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดายมาก หากเราไม่ดำเนินการ 5 ข้อข้างต้นนี้ การเก็บข้อมูลวัสดุ ก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักพอ และมีข้อโต้แย้งได้ในภายหลัง
และตอนนี้ เหลือเวลาไม่มากแล้ว ที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ควรจะต้องพิจารณาแนวทางเก็บข้อมูลให้เหมาะสม เพราะหลังจากนี้ จะย้อนกลับมาเก็บข้อมูลอีกคงเป็นไปไม่ได้แล้ว