กสศ. เผยความคืบหน้า โครงการ “ODOS Summer Camp – ค่ายแห่งโอกาส ภาคฤดูร้อน” แต่ละจังหวัดมีการตื่นตัวอย่างมาก ส่วน “โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา” ได้จัดทำหลักเกณฑ์-ดึงนักเรียนดีกลับสู่ระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะมีการคัดเลือกผู้รับทุนที่เหมาะสมต่อไป
สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการทางการศึกษา ในฐานะคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีรัฐบาลเปิดรับสมัครนักเรียน ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 อายุไม่เกิน 19 ปี จาก 878 อำเภอทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพฯเข้าร่วมโครงการ ODOS Summer Camp – ค่ายแห่งโอกาส ภาคฤดูร้อน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม-16 พฤษภาคม 2568 ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
โดยเป็นการศึกษาเหมือนเรียนซัมเมอร์ ระยะสั้นเพียง 6 สัปดาห์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับสมัคร และค้นหาเด็กที่มีพื้นฐาน และมีคุณสมบัติเพียงพอต่อการร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดถือว่ามีการตื่นตัวเป็นอย่างมาก และระบบข้อมูลของโครงการในปีนี้ก็สามารถเผยแพร่ไปยังกลุ่มเด็กเป้าหมายได้ดีในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ครูและผู้บริหารโรงเรียนเองก็ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่โรงเรียนประจำอำเภอ จะหาโอกาสในการให้เด็กได้ไปเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ ส่วนตัวเลขผู้สมัครนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
สมพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงนักเรียนดีที่หลุดออกจากระบบ ให้กลับเข้าสู่ระบบ ตามโครงการ One Dicstrict One Scholarship” หรือ ODOS หรือ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา นั้น ได้ดำเนินการเสร็จ เรียนร้อยแล้ว
โดยคณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เชื่อว่าจะสามารถคัดเลือกนักเรียนที่มีความเหมาะสมเข้ารับทุน และสามารถกลับมาพัฒนาประเทศได้ต่อไป
“กสศ.คาดหวัง ว่า การจัดสรรทุนโอดอสครั้งนี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและขยายโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้น เพราะเป็นทุนที่รัฐบาลตั้งใจให้การสนับสนุน และกระจายไปในทุกอำเภอ ซึ่งโดยวัตถุประสงค์ เนื้อหา และการดำเนินการของโครงการถือเป็นทุนที่ตอบโจทย์ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และให้โอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงอยากให้มีระบบการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ“
สมพงษ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการครั้งนี้ ถือว่า มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดี โดยอยากให้ทางผู้ดำเนินการ ถอดบทเรียนจากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง ปัญหาสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเด็ก การใช้เส้นสายของนักการเมืองเพื่อส่งบุตรหลานร่วมโครงการ เป็นต้น เพื่อให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน คัดเลือกเด็กที่มีคุณสมบัติ ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง