พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ เม.ย. ลดลง 0.22% ติดลบครั้งแรกรอบ 13 เดือน-จ่อหั่นเป้าเงินเฟ้อปี68
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 100.14 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน เม.ย. 2568ว่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.22% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับการลดลงของราคาผักสด ในขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ราคายังคงสูงขึ้น
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากจากปัจจัยเรื่องราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงเป็นสำคัญรวมไปถึงผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล
คาดว่าในเดือน พ.ค. เงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบอีกเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง รวมทั้งภาครัฐมีแนวโน้มปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้างวดเดือนพ.ค. – ส.ค. 2568 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากเงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน กระทรวงพาณิชย์อาจจะพิจารณาปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีลง ทั้งนี้ยืนยันว่ายังไม่มีปัจจัยบ่งบอกว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด
นายพูนพงษ์ กล่าวว่าถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.68)ว่า สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.75%ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 101.28 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน เม.ย. สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.98% โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.91%
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมี.ค. 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 0.84% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 24 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลขคือ บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว