ธนากร เสรีบุรี ไม่มีใครยอมขาย (รถ) ขาดทุนไปตลอด
SUB_NUM May 07, 2025 09:21 AM
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ถือเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และคลุกคลีอยู่กับแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จีนมาตั้งแต่ต้น เรียกยุค (ก่อน) บุกเบิก ที่จะตัดสินใจนำรถยนต์แบรนด์จีน อย่างเอ็มจี เข้ามาทำตลาดในบ้านเราด้วย สำหรับ “ธนากร เสรีบุรี” รองประธานอาวุโส เครือ ซี.พี., นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน, ประธานกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและยานยนต์จีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ และในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ เอ็มจี ในประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้อัพเดตมุมมอง และการสะท้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่วันนี้มีค่ายรถยนต์จากจีนให้ความสำคัญและดาหน้าเข้ามาทำตลาดในบ้านเราเป็นจำนวนมาก โดย “ธนากร” ได้แสดงมุมมองและทรรศนะไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ล้างไพ่-สงครามราคา

ประเทศไทย และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ถือเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการ-ค่ายรถจีนให้ความสนใจเข้ามาทำตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือรถอีวี

ที่ผ่านมามีการแข่งขันโดยใช้กลยุทธ์ “ราคา” มาทำตลาด จนกลายเป็น “สงครามราคา” ในช่วงที่ผ่านมา

“ธนากร” ชี้ให้เห็นภาพชัดเจนว่า วันนี้ไม่มีค่ายรถยนต์รายได้ผลประโยชน์ หรือกำไร จากการใช้กลยุทธ์ “ราคา” มาทำตลาด แต่ทุกคน “ขาดทุน” ไม่ได้กำไร

จีน ถือเป็นประเทศที่ทำการค้าขายเน้นความรวดเร็ว จำนวนมาก ตัวอย่าง เช่น สินค้าเดิมขาย 120 บาท แต่หากต้องการจะขายให้ได้อย่างรวดเร็ว และจำนวนมาก เขาอาจจะลดราคาลงมาเหลือ 80 บาท เพื่อให้ขายสินค้าได้นั้นเป็นสไตล์จีน

แต่ต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ นั้นเป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ไม่มีใครที่ขายขาดทุนไปตลอด

รถยนต์ที่ผลิตออกมาสามารถเก็บได้ แต่ถ้าเก็บไว้นานก็จะตกรุ่น ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ยังสามารถเก็บได้ อย่างรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่าน จะเห็นว่ารถยนต์จากจีนมีการปรับลดราคาลงมาอย่างรวดเร็ว เพราะค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ต้องการ “เคลียร์สต๊อก” และได้ล้างไพ่ ไปแล้ว อีกทั้งเทรนด์เทคโนโลยีก็มีการอัพเดตอย่างเร็วเช่นเดียวกัน

รถยนต์สัญชาติจีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยที่มีการปรับราคาลงมาอย่างรวดเร็วก็เป็นเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน

แต่เราต้องไม่ลืมว่า “ไม่มีใครที่จะยอมขายขาดทุนไปตลอด เป็นไปไม่ได้”

และวันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและค่ายรถจีนที่เข้ามาทำตลาดจะต้องมีการปรับตัว

โดย “ธนากร” เชื่อว่าค่ายรถยนต์อีวีจีน ได้ล้างไพ่ สต๊อกหลังบ้านไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และยังเชื่อว่าการนำกลยุทธ์ “ราคา” มาใช้อีกนั้น ก็น่าจะยากขึ้น

เนื่องจากการทำตลาดในวิธีดังกล่าว เป็นการค้าขายแบบ “ขาดทุน” ผู้ประกอบการ หรือค่ายรถยนต์รายใหญ่ ๆ จะสามารถยืดสายป่าน อยู่ต่อไปได้ แต่ค่ายรถยนต์รายเล็ก ๆ ก็อาจจะต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไป

เหลือค่ายใหญ่ยืนระยะได้

นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยที่มีความแข็งแกร่งจากผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาด บวกกับคุณภาพมาตรฐานของลูกค้า จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัย และดัชนีชี้วัด และคัดกรองคุณภาพของค่ายรถยนต์จีนที่เข้ามา และสามารถยืนหยัดทำตลาดในประเทศไทยได้ต่อไป

ส่วนตัว “ธนากร” มองว่า จะมีค่ายรถยนต์สัญชาติจีนอย่างน้อย 5-6 ราย ที่จะสามารถยืนระยะ และทำตลาดต่อไปในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ส่วนที่เหลือจะมีรายใดที่ต้องถอดใจ กลับจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ต้องติดตาม

รวมอาเซียนให้แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ในส่วนของมุมมองต่อผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางด้านภาษีของสหรัฐอเมริกานั้น ซี.พี. และ “ธนากร” มองว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น คาดว่าในช่วงเวลา 2-3 เดือนจากนี้น่าจะได้เห็นความชัดเจน

เพราะสุดท้ายทุกประเทศจะต้องมาเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน และท้ายสุดผู้ที่จะได้รับผลกระทบครั้งนี้ก็คือ อเมริกาเอง

ส่วนประเทศไทยนั้น ขณะที่รัฐบาลไทย ควรจะเร่งดำเนินการเพื่อเจรจาให้เร็วที่สุด

ลำพังหากไปเพียงประเทศเดียวอาจจะต้องใช้เวลาในการรอค่อนข้างนาน แต่หากกลุ่มประเทศอาเซียนรวมตัวให้แข็งแรง เพื่อรวมกันเข้าไปเจรจาต่อรองกับทางอเมริกา เนื่องจากทุกประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“อะไรที่เกิดขึ้นรวดเร็วและปุ๊บปั๊บนั้น ถือว่าไม่ง่าย อเมริกาเองก็จะต้องเดือดร้อนกับมาตรการดังกล่าว สุดท้ายทุกคนต้องมานั่งคุยกัน คนอเมริกันเองก็คงไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกัน”

สุดท้าย ประธานกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและยานยนต์จีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้ตอกย้ำมุมมองว่า “อะไรที่เจ็บฝ่ายเดียวจะได้รับการแก้ไขช้า แต่ถ้าเจ็บทั้งสองฝ่ายทุกคนต้องเร่งแก้ไข” ไม่เฉพาะมาตรการกีดกันการค้าของอเมริกา แต่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.