อินเดียร้อง Sotheby’s ระงับประมูลอัญมณี เชื่อมโยงพระบรมสารีริกธาตุ
BBC รายงานว่า รัฐบาลอินเดียขู่ที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท Sotheby’s ในฮ่องกง หากไม่ยุติการประมูลอัญมณีซึ่งเชื่อมโยงกับพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พร้อมกับขอให้ส่งคืนอัญมณีดังกล่าวให้กับอินเดีย
การประมูลนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ซึ่งรวมถึงอัญมณีที่ถูกค้นพบร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเมื่อกว่าร้อยปีก่อน
กระทรวงวัฒนธรรมของอินเดียระบุว่าการเปิดประมูลดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมายของอินเดียและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาของสหประชาชาติ และเรียกร้องให้ถือว่าอัญมณีเหล่านี้เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ควรแก่การเคารพบูชา การประมูลครั้งนี้ยังถูกประณามโดยชาวพุทธและนักวิชาการด้านศิลปะจากทั่วโลกอีกด้วย
กระทรวงวัฒนธรรมของอินเดียได้โพสต์จดหมายที่ส่งถึง Sotheby’s และคริส เปปเป ซึ่งเป็นเหลนของวิลเลียม แคล็กซ์ตัน เปปเป ผู้ที่ขุดค้นซากพบพระบรมสารีริกธาตุในปี 1898 ผ่านทาง Instagram
โพสต์ดังกล่าวระบุว่า Sotheby’s ได้ตอบสนองต่อหนังสือชี้แจงทางกฎหมายแล้ว และยืนยันว่าบริษัทให้ความสนใจอย่างเต็มที่กับเรื่องดังกล่าว กระทรวงยังกล่าวหา คริส เปปเป ว่า “ไม่มีอำนาจ” ที่จะขายโบราณวัตถุดังกล่าว พร้อมกล่าวหาบริษัท Sotheby’s ว่ากำลังมีส่วนร่วมใน “การแสวงหาผลประโยชน์จากยุคล่าอาณานิคมอย่างต่อเนื่อง” ผ่านการอำนวยความสะดวกในการขายครั้งนี้
วิลเลียม แคล็กซ์ตัน เปปเป เป็นผู้จัดการไร่ชาวอังกฤษที่ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุที่สถูปในปิปราวา (Piprahwa) ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของลุมพินี ที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า วิลเลียมได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุพร้อมจารึก ที่ผ่านการประกอบพิธีบูชาเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน
สิ่งที่เขาค้นพบยังรวมถึงอัญมณีกว่า 1,800 ชิ้น เช่น ทับทิม บุษราคัม ไพลิน และแผ่นทองสลักลวดลาย ซึ่งถูกเก็บไว้ในห้องอิฐที่ปิดสนิท ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย
วิลเลียม เปปเป ได้ส่งมอบวัตถุโบราณทั้งหมดให้กับรัฐบาลอาณานิคมของอินเดียในขณะนั้น โดยพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งได้ถูกส่งต่อไปยังพระมหากษัตริย์สยาม (รัชกาลที่ 5) ขณะที่โกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 ใบ หีบหิน และวัตถุโบราณอื่นๆ ส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์อินเดียในเมืองโกลกาตา ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ของจักรวรรดิกัลกัตตาในเวลานั้น
คริส เปปเป ระบุว่า สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในครอบครัวเปปเปเป็นเพียงของจำลองส่วนน้อยที่พวกเขาได้รับอนุญาตให้เก็บไว้ ด้านบันทึกของ Sotheby’s ระบุว่าครอบครัวเปปเปได้รับอนุญาตให้เก็บสมบัติที่ค้นพบราว 1 ใน 5 ของทั้งหมด
กระทรวงวัฒนธรรมของอินเดียกล่าวว่า การระบุว่าเป็น “ของจำลอง” เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะวัตถุเหล่านี้ถือเป็นมรดกทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ได้ของอินเดีย
โพสต์ของกระทรวงวัฒนธรรมอินเดียยังระบุว่า อัญมณีเหล่านี้ไม่ควรถูกปฏิบัติเสมือนวัตถุตัวอย่าง แต่เป็น “สรีระศักดิ์สิทธิ์และเครื่องสักการะซึ่งเคยฝังไว้กับสรีระของพระพุทธเจ้า”
กระทรวงยังตั้งข้อสงสัยถึงสิทธิของผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้ดูแลอัญมณีว่า ไม่มีมีสิทธิที่จะจำหน่ายถ่ายโอนหรือยักยอกทรัพย์สิน เพราะวัตถุเหล่านี้คือ “มรดกอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”
คำแถลงยังอ้างถึงรายงานเมื่อราวสิบปีก่อนที่ระบุว่า สิ่งของเหล่านี้เคยถูกเก็บไว้ในกล่องรองเท้า ชี้ว่าการดูแลรักษาก็เป็นหน้าที่ของผู้ครอบครองเช่นกัน
รัฐบาลอินเดียยังเรียกร้องคำขอโทษอย่างเป็นทางการจาก Sotheby’s และคริส เปปเป พร้อมขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของอัญมณีที่พวกเขาถือครองหรือการโอนวัตถุโบราณเหล่านี้
รัฐบาลอินเดียขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะมีการดำเนินการทางกฎหมายทั้งในอินเดียและฮ่องกง ภายใต้กฎหมายว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรม และอาจเปิดตัว “แคมเปญสาธารณะ” เพื่อชี้ให้เห็นบทบาทของ Sotheby’s ต่อการดำเนินการที่ถือเป็นความอยุติธรรมจากยุคล่าอาณานิคม”
ก่อนหน้านี้ คริส เปปเป บอกกับ BBC ว่าครอบครัวเคยพยายามบริจาคพระบรมสารีริกธาติ แต่ทุกทางเลือกก็มีปัญหา และการประมูลดูจะเป็นวิธีที่ยุติธรรมและโปร่งใสมากที่สุดในการส่งต่อพระบรมสารีริกธาติเหล่านี้ให้กับชาวพุทธ
คริส เปปเป ระบุว่า อัญมณีเหล่านี้ถูกส่งต่อกันในครอบครัว ตั้งแต่ลุงทวดถึงญาติ ต่อมาในปี 2013 มันก็ถูกส่งต่อมาถึงเขาและลูกพี่ลูกน้องอีกสองคน
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา อัญมณีเหล่านี้ได้จัดแสดงในนิทรรศการสำคัญ รวมถึงที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก ในปี 2023 และครอบครัวเปปเปยังเปิดเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่งานวิจัยของพวกเขาเอง
ด้านกระทรวงวัฒนธรรมอินเดียชี้ว่า ครอบครัวเปปเปได้นำวัตถุโบราณเหล่านี้ไปใช้ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่ทำให้พวกเขาได้รับเงินผ่านการประชาสัมพันธ์และการจัดแสดง