ไม่พลาด! ‘ฟรีดริช เมิร์ซ’ นั่งนายกฯ เยอรมนี หลังได้เสียงหนุนพอในโหวตรอบ 2
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายฟรีดริช เมิร์ซ หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ซึ่งเป็นพรรคสายอนุรักษ์นิยม ได้รับเลือกโดยรัฐสภาเยอรมนีให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่ในวันที่ 6 พฤษภาคม ในการโหวตรอบสอง หลังเมิร์ซไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในรัฐสภาเพียงพอที่จะทำให้เขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ในการโหวตรอบแรก
ในการโหวตรอบแรก เมิร์ซได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐสภาเพียง 310 เสียง หมายความว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อยู่ในพรรคแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้โหวตสนับสนุนเขาอย่างน้อย 18 เสียง อย่างไรก็ตามในการโหวตรอบที่ 2 เมิร์ซได้รับเสียงสนับสนุนไป 325 เสียง เกินกว่าเสียงข้างมาก ทำให้เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่ได้สำเร็จ
เมิร์ซนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในเดือนกุมภาพันธ์ และจับมือกับพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การที่เมิร์ซล้มเหลวที่จะได้รับเสียงสนับสนุนมากพอที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในการโหวตรอบแรกสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อใจกันระหว่างแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์ในยุโรปที่ทำให้เยอรมนีต้องมีผู้นำที่แข็งแกร่ง
เมิร์ซกล่าวว่า เขาต้องการที่จะก้มหน้าทำงานมากกว่ามองหาสาเหตุว่าทำไมสมาชิกพรรคแนวร่วมรัฐบาลถึงไม่โหวตสนับสนุนเขาได้การลงคะแนนรอบแรก อย่างไรก็ดี เขาแน่ใจว่ากลุ่มแนวร่วมรัฐบาลจะทำงานด้วยกันด้วยความเชื่อมั่นของทั้งสองฝ่ายหลังจากนี้ โดยบอกด้วยว่าสิ่งที่เขาจะให้ความสำคัญสูงสุดคือรับประกันเรื่องเสรีภาพในเยอรมนีและฟื้นฟูขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
ภายหลังการโหวตรอบที่ 2 เมิร์ซได้เดินทางไปยังทำเนียบประธานาธิบดีเยอรมนีในกรุงเบอร์ลิน เพื่อเข้าพิธีแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของเยอรมนีนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่ในวันเดียวกัน เมิร์ซได้เริ่มทริปการเดินทางแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสและโปแลนด์ เพื่อทำให้เห็นว่าเยอรมนีจะกลับมามีบทบาทใหญ่ในเวทีโลกอีกครั้ง
ตอนนี้มีความท้าทายหลายอย่างที่รอเมิร์ซอยู่ อาทิ ยุโรปกำลังเร่งหาทางที่จะรับประกันความมั่นคงให้กับยูเครนที่ยุโรปหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมถึงสงครามการค้าโลกจากกำแพงภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์