พอล แชมเบอร์ส ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างของ ม.นเรศวร ชี้ผู้ออกคำสั่งไม่มีอำนาจ ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้ง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง-ตั้งคณะกรรมการสอบสวน
จากกรณี ดร.พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวสหรัฐอเมริกัน ซึ่งประจำอยู่ที่สถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกศาลจังหวัดพิษณุโลกออกหมายจับในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแจ้งความของ กอ.รมน.ภาค 3 ต่อมาอธิบดีอัยการภาค 6 มีคำสั่งไม่ฟ้อง ประกอบกับ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากคณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร ว่า ผศ.ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี ออกคำสั่งยกเลิกการจ้างงาน ดร.พอล แชมเบอร์ส โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่ถูกแจ้งคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ดร.พอล แชมเบอร์ส ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งยกเลิกการจ้างงานผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมระบุโต้แย้งว่าคำสั่งเลิกจ้างเป็นคำสั่งที่ไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของรองอธิการบดี รวมทั้งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศูนย์ทนายความฯระบุว่า เหตุผลในอุทธรณ์โต้แย้ง : ชี้คำสั่งเกินอำนาจ-ไม่ผ่านกระบวนการตามกฎหมาย
1.คำสั่งเลิกจ้าง เป็นคำสั่งที่ไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของรองอธิการบดี
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ลงนามในคำสั่งเลิกจ้าง ดร.พอล ทั้งสองฉบับที่ออกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 และ 24 เม.ย.2568 แต่การออกคำสั่งดังกล่าวอาจถือว่า เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ เนื่องจากตามคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ระบุการมอบอำนาจให้รองอธิการบดีปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี ไม่ได้ระบุถึงอำนาจในการ “เลิกจ้าง” บุคลากร ไว้
ดังนั้น รองอธิการบดีไม่มีอำนาจตามคำสั่งมอบหมายให้เลิกจ้างอาจารย์ได้โดยลำพัง จึงอาจทำให้คำสั่งเลิกจ้างทั้งสองฉบับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.คำสั่งยกเลิกการจ้างที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย และเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ว่าปัจจุบัน ดร.พอล จะถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2568 และอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการอนุญาต เนื่องด้วยถูกกล่าวหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม ดร.พอล เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ของประเทศสิงคโปร์ ISEAS-Yusof Ishak Institute ซึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าไม่ใช่ผู้เขียน ไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความเผยแพร่เนื้อหาในเว็บไซต์ดังกล่าว จึงไม่ใช่ผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
นอกจากนี้ วันที่ 1 พ.ค.2568 อธิบดีอัยการภาค 6 มีคำสั่งไม่ฟ้อง และอยู่ในระหว่างการส่งสำนวนความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 เพื่อพิจารณาว่าจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 ต่อไป จึงทำให้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการโต้แย้งสิทธิเรื่องการเพิกถอนคำสั่งการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
เมื่อหน่วยงานของรัฐจะออกคำสั่งที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคล อย่างการเลิกจ้าง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ทราบข้อเท็จจริง ได้ชี้แจง และแสดงหลักฐานของตนก่อน คำสั่งนั้นจึงจะถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่รองอธิการบดีไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และไม่ให้ ดร.พอล ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงหลักฐานใดๆ ก่อนจะมีคำสั่งเลิกจ้างออกมา
นอกจากนี้ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนเรศวรเองก็ระบุไว้ว่า พนักงานมหาวิทยาลัยจะถูกเลิกจ้างได้ต้องมีเหตุชัดเจน เช่น ขาดคุณสมบัติ หรือกระทำผิดวินัย ซึ่งในกรณีของ ดร.พอล ไม่มีหลักฐานว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม หรือเคยกระทำผิดวินัยใดๆ อีกทั้งผู้ลงนามในคำสั่งเลิกจ้างก็มีเพียงอำนาจในการบริหารทั่วไปและตั้งคณะกรรมการสอบสวนเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจเลิกจ้างโดยตรง
การออกคำสั่งดังกล่าวทำให้ ดร.พอล ขาดโอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอพยานหลักฐาน และกระบวนการโต้แย้งสิทธิทางกฎหมาย ดังนั้นคำสั่งยกเลิกการจ้างจึงเป็นคำสั่งที่เกินสมควรแก่เหตุ ไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.คำสั่งยกเลิกการจ้าง เหตุถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ได้เป็นเหตุสิ้นสุดสัญญา
ตามสัญญาจ้างที่ ดร.พอล ทำกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ได้ระบุชัดเจนว่าการสิ้นสุดแห่งสัญญาจะเกิดขึ้นในกรณีใดบ้าง ได้แก่ 1.เมื่อครบอายุสัญญา 2.ผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษถึงแก่กรรม 3.คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาโดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 เดือน ในกรณีที่ผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษไม่ผ่านผลการประเมินการปฏิบัติงานประจำปี ให้มหาวิทยาลัยนเรศวรบอกเลิกสัญญาได้ทันที
ดังนั้น คำสั่งการยกเลิกการจ้างทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว จึงไม่เข้าข่ายเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้น ประกอบกับผู้มีอำนาจลงนามคำสั่งดังกล่าวมิได้เปิดโอกาสให้ ดร.พอล ได้นำเสนอพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงแต่อย่างใดเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท ดังนั้น คำสั่งการยกเลิกการจ้างฯ จึงไม่ถือว่าเป็นเหตุให้สามารถยกเลิกการจ้างงาน และสิ้นสุดตามสัญญาที่ได้ทำกับมหาวิทยาลัยนเรศวรได้
ขอให้เพิกถอนคำสั่ง และตั้งคณะกรรมการสอบสวน ด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น คำสั่งของรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งสองฉบับ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอน “คำสั่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ 1586/2568 ลงวันที่ 21 เมษายน 2568 เรื่อง ยกเลิกการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และคำสั่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ 1629/2568 ลงวันที่ 24 เมษายน 2568 เรื่องแก้ไขคำสั่งยกเลิกการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย” และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงชะลอการพิจารณาเกี่ยวกับการจ้างงานจนกว่ากระบวนการโต้แย้งสิทธิทางกฎหมายจะเสร็จสิ้น