จากกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยแนวทางเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาทำธุรกิจ แต่มักจะยื่นแบบรายได้ของธุรกิจให้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล และกรมสรรพากรอนุญาตให้หักรายจ่ายแบบเหมาจ่าย ฉะนั้นจึงอาจจะเพิ่มเป็น Vat ประเภทที่ 2 เหมือนกรณีประเทศในยุโรปทำ อาจขอเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ของรายได้ 1.5 ล้านบาท ประเมินว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาท
อ่านข่าว : พิชัย จ่อเก็บแวตธุรกิจต่ำ 1.8 ล. สกัดเลี่ยง จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม
ต่อมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างต่อประเด็นแนวคิดดังกล่าว ดังเช่น เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษาของอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมการออกแบบ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ ระบุว่า
ผมคิดว่าท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอาจจะฟังอธิบดีกรมสรรพากรเพลินจนลืมไปว่า ธุรกิจขนาดเล็ก SME ทั้งหลายในไทย ตอนที่ผ่านโควิดกันมานั้น ไม่รอดกันเป็นล้านราย ที่รอดก็บอบช้ำสาหัสจนถึงทุกวันนี้
รัฐบาลตั้งแต่ตอนนั้นกู้เงินไปหลายล้านล้านบาท บอกว่าจะเอามาช่วยธุรกิจ แต่ธุรกิจไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่รัฐไม่เคยช่วยโดยการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงเลย ช่วยกันทางอ้อมผ่านมาตรการภาษีนิดหน่อยไม่กี่เดือน ลดดอกเบี้ยเงินกู้ในจินตนาการ พวกเรารอดมาได้คือปาฏิหาริย์ หลายรายก็เริ่มรับผลกระทบจากหนี้ที่ต้องเริ่มใช้คืน ผลกระทบจากโควิดยังไม่เคยหมดไปสำหรับ SME แค่ลำพังเอาให้รอดยังยาก นี่กลับมีแนวคิดจะมารีดภาษีกับ SME อีก ร้านอาหารเล็กๆ คนทำเสื้อผ้าขาย แม่ค้าในตลาด ตายเรียบกันล่ะครับคราวนี้
ปัญหาของ SME เหล่านี้เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรไม่เคยเข้าใจ มองจากมุมมองว่าจะเก็บภาษียังไงแต่ไม่เคยคิดว่าเขาจะรอดกันมั้ย ข้าราชการในกระทรวงก็ยังคิดเหมือนรัฐบาลทหาร “เงินคลังไม่พอก็ต้องรีดภาษี” เป็นวิธีคิดที่ไม่มี empathy เลย และไม่ช่วยให้สถาการณ์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น ทุกอย่างก็จะแย่หนักไปอย่างทวีคูณ
ประเทศไทยนั้นโชคดีที่มี SME ที่แข็งแรงและมีความหลากหลาย รัฐบาลไทยรักไทยในยุคก่อตั้งมองเรื่องนี้ขาด การพัฒนา SME จึงเป็นนโยบายหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงยากลำบากมาได้หลายครั้งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐมนตรีหลายคนในสมัยนี้มองข้ามปรัชญาและวิธีคิดแบบไทยรักไทยไปแบบไม่มีเยื่อใย ไปมัวแต่ฟังคำแนะนำของข้าราชการประจำที่ทำงานกับรัฐบาลทหารมาจนเคยชิน คิดก็คิดแบบข้าราชการเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่
เป็นผู้บริหารต้องคิดให้เป็น ลงมาคุยกับชาวบ้านบ้าง ฟังปัญหาของคนตัวเล็กๆบ้าง คุยแต่กับบริษัทใหญ่โต สภา หอการค้า มันจะไปได้เรื่องอะไร ถ้าคุยกับแม้ค้าขายข้าวยังไม่เคยคุย ชาตินี้ก็ไม่เข้าใจปัญหาของประชาชนที่แท้จริงหรอกครับ คำตอบทางเศรษฐกิจมันอยู่กับประชาชน ไม่ได้อยู่กับข้าราชการในกระทรวง เป็นรัฐมนตรีต้องมาหาคำตอบจากประชาชนแล้วไปสั่งให้ข้าราชการปฏิบัติตาม ไม่ใช่ทำงานกลับทิศทางกัน
ถึงจะเชียร์รัฐบาล แต่เรื่องไม่เข้าท่า ก็ต้องด่าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกลับตัวกัน จะด่าไปทุกวันจนกว่าจะสำนึกครับ เพราะถ้าไม่ด่า เลือกตั้งครั้งหน้านี่หมดหวังแน่ๆ”
นอกจากนี้ นายดวงฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา นั่งคุยกับพี่ๆ เพื่อนในวงอื่นที่ไม่ใช่สถาปนิก เกษียณแล้วบ้าง เป็นเจ้าของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์บ้าง ทุกคนเจ็บหนักเรื่องธุรกิจครับ
รุ่นพี่คนหนึ่งทำ ธุรกิจส่งออกบริษัท valuation ระดับ 10,000 ล้าน ค่าเงินบาทที่แข็งขนาดนี้ ทำส่งออกลำบากมาก การท่องเที่ยวการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ลดน้อยถอยลงแบบกราฟดิ่งเหวในช่วงเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะพยายามโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยวให้หนักขนาดไหน นักท่องเที่ยวก็ยังหายไป เพราะเทียบมูลค่ากันแล้ว ไปเที่ยวญี่ปุ่นถูกกว่าไทย นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จากจีนและเอเซียอื่นๆ ก็คิดว่าไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงนี้คุ้มกว่า ยิ่งเราหมดหน้าร้อนกำลังเข้าหน้าฝน ไม่มีอะไรดึงดูดอีกต่อไป รายได้จากการท่องเที่ยวก็จะหดหายไปตามลำดับ ประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงไปจากเดิมอย่างน้อย 5-10 เท่ากันทีเดียว กลุ่มร้านอาหารและโรงแรมจะเริ่มได้รับผลกระทบก่อนในช่วงนี้
ตลาดหุ้น เราดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากมีข่าวเรื่องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ซื้อขายยังต่ำกว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มดีขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ภาพรวมใน 1 ปี กราฟยังมีแนวโน้มที่ดิ่งลง ส่วนหนึ่งเขาก็ว่ามาจากค่าเงินบาทที่แข็งเป็นหลัก
ที่น่าแปลกใจคือ ตัวเลขส่งออกของเราได้ดุลการค้ากับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา แต่สินค้า 5 อันดับแรกที่ส่งออกกลับไม่ใช่สินค้าเกษตรแบบที่หลายคนอาจคิด แต่เป็นสินค้าชิ้นส่วนอิเลคโทรนิค ซึ่งประเทศเราไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง บริษัทที่ส่งออกเหล่านั้นล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาเองที่มาเปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคในไทย แล้วส่งกลับไปขายสหรัฐ ปริมาณการส่งออกนี้มากจนทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐจนทรัมป์ประกาศขึ้นกำแพงภาษีกับไทย
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์คงมองว่าตัวเลขส่งออกดูดี เลยไม่ได้จัดการ declare เรื่องแหล่งกำเนิดให้ชัดเจน และผลจากการส่งออกที่สูงนี้เองเป็นผลเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งมาก การลงทุนจากต่างประเทศที่มากเกินไปใน sector การผลิตและส่งออก จึงก่อให้เกิดผลเสียไม่น้อยกว่าผลดี ดูเหมือนตัวเลขทางเศรษฐกิจจะดีและมีผลดีกับธุรกิจในท้องถิ่น แต่ก็ทำให้เกิดปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เรื่องค่าเงิน หลายรัฐบาลที่ผ่านมาละเลยเรื่องการพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นมานานมาก และรัฐบาลปัจจุบันต้องเริ่มต้นกันใหม่หมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี
ภาคการเกษตร เคยเป็นความหวังของประเทศ แต่กระทรวงเกษตรฯไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลตรงของพรรคเพื่อไทย ผมก็ต้องบอกเพื่อนไปว่าจริงๆทำอะไรไม่ได้มาก กระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมา ต้องบอกเลยว่า underperforming อย่างไม่น่าให้อภัย ราคาสินค้าเกษตรและปริมาณสินค้าเกษตรไม่ได้สมคุลกับความต้องการของตลาดและราคาเลย เหมือนไม่ได้คุยกันกับกระทรวงพาณิชย์ซักเท่าไหร่ การส่งออกเราไม่ได้เปรียบจากสินค้าเกษตรเลย กะจะปลูกทุเรียนไปขายจีนกันท่าเดียว การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆเพื่อไปเปิดตลาดใหม่ๆทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ไม่มี พอจีนซื้อน้อยลงเพราะไปปลูกเองในเวียดนามเยอะขึ้น ส่งออกการเกษตรเราก็หงอย เหมือนทั้งกระทรวงเกษตรฯไม่มีใครทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จะช่วยประเทศได้เลยในช่วงนี้
วงการอสังหาริมทรัพย์ นี่คือวิกฤติขั้นสุด ที่เราไม่ค่อยรู้สึกเพราะทุกโครงการก็ขยันทำการสื่อสารในออนไลน์ในทาง positive เพื่อขายของ วิกฤติที่เกิดขึ้นสาเหตุหลักเนื่องมาจากธนาคารไม่ปล่อยกู้เลย คนซื้อบ้านคอนโดก็ซื้อไม่ได้ เจ้าของโครงการเองจะกู้ทำโครงการใหม่ก็ทำไม่ได้ เพราะทุกธนาคารคิดเหมือนกันเรื่องไม่ปล่อยสินเชื่อ คนไทยทั้งประเทศตอนนี้เป็นความเสี่ยงของธนาคารเพราะธนาคารไทยเอาเงินไปลงทุนในตลาดต่างประเทศได้เงินเยอะกว่า ประกาศกำไรกันหลายหมื่นล้านทุกธนาคาร แต่คนไทยกระดิกตัวไม่ได้จนแทบจะอดตาย เงินบาทที่ไม่ยอมให้อ่อนค่ากันก็เพราะเหตุนี้ เป็นการสมคบคิดที่ลงตัวระหว่างหน่วยงานที่กำกับนโยบายค่าเงินกับธนาคาร ทุกคนรวยไปพร้อมกันยกเว้นประชาชนคนไทย ชวนให้คิดว่าถ้าธนาคารไทยจะมีอิสระในการเอาเงินพวกเราไปหากำไรโดยที่ไม่เอามาช่วยคนไทยด้วยกันแบบนี้ บางทีมันอาจจะถึงเวลาที่เปิดเสรึเรื่องใบอนุญาตการตั้งธนาคารกันหรือยัง คนไทยอาจจะอยากได้ธนาคารขนาดเล็กที่คุยกันรู้เรื่องกับคนไทยมากกว่านี้ ปล่อยกู้ให้คนไทยมากขึ้น คนไทยซื้อบ้านอยู่ได้ง่ายขึ้น อสังหาริมทรัพย์ก็จะเคลื่อนตัวได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งพาการซื้อจากต่างชาติเกือบครึ่งหนึ่งแบบที่ผ่านมา พอตลาดต่างชาติเลิกซื้อเพราะค่าเงินบาทแข็ง ทุกโครงการก็แทบล้มกันเป็นแถว อสังหาริมทรัพย์เป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งของประเทศเพราะเป็นต้นน้ำไปยังธุรกิจก่อสร้างและแรงงาน มูลค่ารวมกันน่าจะเกือบ 5 ล้านล้านบาทในตลาด ถ้าเอาตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาไม่ได้ ที่เหลือก็เคลื่อนตัวยาก
จะเห็นได้ว่าความหายนะของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มจากความเห็นแก่ตัวของธนาคารก่อให้เกิดความลำบากแก่สภาพคล่องในภาพรวม ไปจนถึงค่าเงินบาทที่แข็งผิดวิสัย ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ สิบทักษิณก็เอาไม่อยู่ รัฐบาลต้องตัดสินใจทิ้งระเบิดลูกใหญ่ เปิดเสรีธนาคาร ปัญหาการปรับตัวจะรวดเร็วทันที พอจะแก้ปัญหาทั้งระบบไปได้อย่างรวดเร็ว ดัดนิสัยธนาคารไทยกันบ้าง วิธีคิดของธนาคารไทยในปัจจุบัน เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ “รวยกระจุกจนกระจาย” คนแก้คือธปท.ก็ไม่อยากแก้ เพราะแก้แล้วเสียประโยชน์ เราก็ต้องอยู่ไปแบบนี้
ปัญหาเรื่องธนาคารนี่เองก็เชื่อมโยงไปยังปัญหาเรื่องหนี้ ธุรกิจที่เป็นหนี้ปรกติก็ต้องยืมเงินธนาคารมาหมุน พอหนี้เยอะเครดิตเสียธนาคารก็เริ่มไม่ปล่อยกู้ ธุรกิจก็ต้องกู้หนี้ยืมสินจากรอบตัวกันเป็นพัลวัน ปัจจุบันเพื่อนฝูงกันที่ต้องหมุนเงินกันนอกระบบก็ยืมกันจนชนเพดานหนี้นอกระบบแล้ว ถ้าจะยกระดับหนี้นอกระบบไปให้ไกลกว่านี้ก็ต้องเข้าไปใน sector ของ dark economy ละ เงินในกลุ่มผิดกฎหมายที่ปล่อยกู้จากรายได้มาจากเว็ปพนันออนไลน์เป็นต้น เพื่อนก็ยังหวั่นใจอยู่ว่าควรจะไปกันทางนั้นมั้ย
แนวคิดเรื่องการซื้อหนี้จากระบบที่คุณทักษิณเคยพูดออกมาวันหนึ่ง จึงเป็นเหมือนหยาดฝนที่สาดลงมาบนแผ่นดินที่เหือดแห้ง ธุรกิจใหญ่เล็กที่เป็นหนี้ เป็น NPL ก็ดูเหมือนจะมีความหวัง บริษัทซื้อหนี้เสียที่มีอยู่ 7-8 แห่งก็เตรียมขานรับทันที พร้อมระดมทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหนี้เสียออกจากระบบไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้าน เชื่อกันว่า ถ้ามีการซื้อหนี้เสียออกจากระบบอย่างรวดเร็วไปพร้อมๆกับการแก้กฎหมายให้สามารถแก้เครดิตบูโรได้ในสามเดือน ประเทศไทยจะกลับมามี SME ที่แข็งแรงไม่น้อยกว่า 13 ล้านรายที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศได้ไม่น้อยกว่าหลักล้านล้านบาทในปีหน้า โดยไม่ต้องใช้งบลงทุนจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว น่าเสียดายที่รัฐบาลยังไม่ออกมาตะครุบรีบทำเรื่องนี้ เข้าเลยว่ารัฐมนตรีคนไม่เป็นหนี้ไม่มีวันเข้าใจ อาจจะมีแต่คุณทักษิณคนเดียวที่เข้าเรื่องนี้ลึกซึ้งที่สุด
การนำเม็ดเงินลงทุนเข้ามาก็ต้องทำกันต่อไป ตั้งแต่ data centre ไปจนถึง mega project อย่างแลนบริดจ์ และสถานบันเทิงครบวงจร รัฐบาลมีหน้าที่สร้างโอกาส ก็ต้องทำกันต่อไป ใครจะไม่เห็นด้วยก็มีหน้าที่ต้องฟังเขา จะต่อต้านไม่ได้ แต่วินาทีนี้ถ้าไม่สร้างโอกาสสำรองไว้ ประเทศไทยก็จะยังไม่เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศเลย ในภาวะค่าเงินบาทแข็งแบบนี้ เราต้องหาเงินลงทุนเข้ามาให้มากที่สุดเพื่อ counter การลงทุนของธนาคารและทุนไทยที่ออกไปนอกประเทศ
การระดมต่างประเทศเข้ามาซื้อพันธบัตรของรัฐก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยในการหาเงินเข้าคลังแทนที่จะไปรีดภาษีกับประชาชน เป็นการนำเงินทุนเข้าประเทศโดยตรง หลายคนก็กังวลว่ารัฐบาลจะมีภาระในการจ่ายผลตอบแทน ผมก็เลยบอกว่าลองออกพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำให้คนเอาเงินเข้ามาเก็บไว้ได้ในระยะยาวดูสิ จะเห็นความแตกต่าง การออกพันธบัตรเพื่อ back up เงินสกุลดิจิตอลของไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงเงินที่อยู่ใน grey economy ขึ้นมาเข้ารัฐ เข้าระบบได้แบบเดียวกับคาสิโน เงินใน grey economy ของไทยผมเชื่อว่ามีอยู่ประมาณ 2% ของ GDP เอากลับขึ้นมาพ้นจาก grey area ที่เกิดขึ้นตั้งแต่โควิดได้ ผมว่า GDP เราจะกลับมาบวก 5% ได้เหมือนปาฏิหาริย์
คุยกันจนหมดแรง สรุปได้ว่าประเทศยังมีทางไปแต่ก็แลดูสิ้นหวังเหมือนคนเกายังเกาไม่ถูกที่คัน action ของรัฐบาลยังไม่ได้ลงมือทำแบบที่เคยทำได้ อาจจะเพราะถูกมัดมือมัดเท้าไว้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบ้าง ใจดีเชื่อข้าราชการมากเกินไปบ้าง รัฐมนตรียังขยันคุยกับชาวบ้านน้อยไป พรรคร่วมไม่ค่อยทำงานให้เป็นประโยชน์กับประชาชน กังวลแต่ประโยชน์ตัวเอง เสถียรภาพของรัฐบาลก็ปริ่มน้ำ ฝ่ายค้านก็โจมตีจุกจิกรายวันเสียเวลาตอบโต้จนคิดไปข้างหน้าไม่ทัน คนรอบข้างที่ให้คำปรึกษาก็ไม่มีความสามารถ ส่วนคนมีความสามารถก็ไม่มีโอกาสได้ปรึกษา เห็นใจรัฐบาลกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกคนก็ท้อใจเพราะยังไม่เห็นมีอนาคต บางทีอาจจะถึงเวลาทิ้งพวกพ้องเดิมเสียที ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแบบเด็ดขาด อะไรไม่เวิร์คก็ต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้ มันก็จะอึมครึมไปอีกหลายเดือน เกรงว่าภาคธุรกิจเขาจะไม่ไหวกัน