ในการประชุม “การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย พ.ศ.2571–2575” ครั้งที่ 1 จัดโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ร่วมกับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่ออนาคตของประเทศไทยและโลก
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า แผนที่นำทางฉบับใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 4 โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนที่นำทางมาแล้ว 3 ฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2564 ซึ่ง สอวช.และนาโนเทคได้ร่วมกันประเมินผลเพื่อทบทวนความสำเร็จและประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อยกระดับแผนที่นำทางฉบับใหม่ให้ตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น แผนฉบับใหม่นี้จะไม่ทำทุกเรื่องแต่จะเลือกทำในประเด็นสำคัญก่อน โดยมี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ Nano for Advanced and High-Quality Healthcare, Nano for Green Technology & Climate Change Solutions, Nano for Smart and Sustainable AgriFood, และ Nano for safety and ethics และเตรียมเชื่อมโยงกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 รวมถึงแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ที่ได้จัดทำแผนฯ ในปีพ.ศ. 2571-2575 เช่นเดียวกัน
“ในแผนที่นำทางฉบับก่อนสิ่งที่ยังขาดคือกลไกขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงงบประมาณที่สอดคล้องต่อการนำแผนไปสู่การปฏิบัติจริง เราอาจนำแผนที่นำทางที่ได้จากการระดมสมองร่วมกันครั้งนี้ นำเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนในระดับชาติ โดยภาครัฐจะเป็นผู้เชื่อมโยงแต่การขับเคลื่อนต้องอาศัยพลังจากภาคเอกชน อุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา” ดร.สุรชัย กล่าว
สอดคล้องกับ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการ ศน. ที่กล่าวว่า แผนที่นำทางฯ ทั้ง 3 ฉบับที่ผ่านมามุ่งเน้นภาพรวมของโครงสร้างประเทศ แต่แผนฉบับใหม่นี้จะเปลี่ยนแนวทางโดยใช้โจทย์จากภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง แล้วมองย้อนกลับไปเกือบ 20ปีของการพัฒนางานวิจัยและระบบนวัตกรรมในประเทศ
ด้าน ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สอวช. กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีนาโนจะต้องสอดคล้องกับแนวโน้มโลกในปี 2030 ซึ่งจะเป็นยุคของ “สังคมไฮบริด”ที่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาผสมผสานกับการทำงาน การตัดสินใจ และการใช้ชีวิต ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์สุขภาวะ และความเท่าเทียมมีบทบาทสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z และ Gen Alpha ที่จะเป็นแรงผลักสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมและนวัตกรรมสำหรับบทบาทของนาโนเทคโนโลยีในอนาคต
“อนาคตจะมีการบรรจบกันของนาโนเทคกับศาสตร์อื่น เช่น แพทย์แม่นยำ สุขภาพเฉพาะบุคคล และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตลาดนาโนเทคทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 91.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 สู่ 333.73พันล้านดอลลาร์ในปี 2032″ดร.คมเมธ กล่าว
ผอ. อาวุโสฝ่ายศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สอวช. กล่าวอีกว่า สำหรับแผนพัฒนานาโนเทคโนโลยีนี้จะถูกเชื่อมโยงแผน ววน. ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณและหากสามารถขับเคลื่อนได้จริง ก็จะเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อทุกภาคส่วน
“นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องไปด้วยกันกับความเข้าใจในทิศทางโลกความท้าทายระหว่างประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน”ดร.คมเมธ กล่าว
ทั้งนี้ ในจัดการประชุมฯ ยังได้มีการแบ่งห้องประชุมกลุ่มย่อยจำนวน 3 ห้อง เพื่อเปิดเวทีระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญนักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละสาขาโดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ได้แก่ ห้อง “Nano for Advancedand High-Quality Healthcare”ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับระบบบริการสุขภาพของประเทศผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)ที่ผสมผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ากับมาตรฐานคุณภาพด้านการรักษาเพื่อประยุกต์ใช้ในเวชศาสตร์เชิงป้องกันและการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสุขภาพ และผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub), ห้อง “Nano for Green Technology & Climate Change Solutions”ที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมพลังงานการตรวจวัดและบำบัดคุณภาพน้ำและอากาศ รวมถึงการจัดการก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้ง สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) บรรลุเป้าหมายCarbon Neutrality 2050 & Net Zero 2065 และห้อง “Nano for Smart and Sustainable AgriFood” ซึ่งมุ่งส่งเสริมระบบเกษตรอัจฉริยะและยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยีนาโนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าทางโภชนาการของผลผลิต การยืดอายุการเก็บรักษาโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้ ในการประชุมทุกกลุ่มยังให้ความสำคัญกับประเด็น ความปลอดภัยของนาโนฯ Nanosafety และจริยธรรมการใช้นาโนฯ ( Nanoethics ซึ่งถือเป็นประเด็นข้ามสาขาที่จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกันเพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีนาโนของไทยเป็นไปอย่างมีจริยธรรม ปลอดภัย และก่อประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม.