นโยบายเศรษฐกิจของ Donald Trump เป็นเรื่องที่คุยกันไม่รู้จบ
แม้ว่าผมจะวิเคราะห์นโยบายหลักของ Trump สำหรับปี 2025 ไปหลายบทแล้ว แต่ผ่านไปแค่ 100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง ทุกอย่างแทบไม่มีอะไรเหมือนเดิม ทั้งลำดับ ทั้งจังหวะของนโยบาย แม้ตลาดจะทำใจไว้บ้างแล้วว่าความไม่แน่นอนจะต้องสูง แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับความผันผวนที่เกิดขึ้นจริงในตลาด
นักลงทุนไทยควรวางกลยุทธ์อย่างไร ถ้าการเปลี่ยนใจไปมาของ Trump เป็น “คุณลักษณะ” ไม่ใช่ “จุดบกพร่อง” ของ Trump Economics จึงเป็นคำถามสำคัญที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
เพื่อให้เราจดจำลักษณะของ Trumponomics ได้ขึ้นใจ ผมเลือก 5 ตัวอักษรที่สื่อถึงความหมายของนโยบายเศรษฐกิจประกอบกันเป็นคำว่า TRUMP
T = Transition การเปลี่ยนผ่านและสลับขั้ว
ไม่ว่านโยบายเก่าจะดีหรือไม่ แต่ถ้าเป็นของขั้วตรงข้าม Trump มีแนวโน้มที่จะพลิกนโยบายไปอีกข้างอย่างไม่ลังเล
นโยบายที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านมากที่สุดในตอนนี้คือการปฏิรูปการค้าผ่านภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ต่อทั่วโลก
ทางทฤษฎี การขึ้นภาษีไปที่ระดับสูงที่สุดในรอบ 100 ปี ไม่มีทางเป็นผลดีกับสหรัฐได้เลย แต่ Trump เลือกที่จะเปลี่ยนโดยให้เหตุผลว่าเป็นการกลับขั้วนโยบายที่เคยทำให้สหรัฐเสียเปรียบนานาประเทศโลก ทั้งที่ในความจริงทั้งสหรัฐและโลกได้ประโยชน์ทั้งคู่
Policy Transition มีโอกาสเกิดขึ้นอีก แบบคาดเดาจังหวะเวลาและผลกระทบไม่ได้ โดยนโยบายด้านการต่างประเทศมีโอกาสถูกเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องหลบด้วยการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เคยได้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศ
R = Revolt นโยบายท้าทายระบบ
สัญญาณชัดเจนของการก่อต้านต่อระบบคือการที่ Trump พยายามบีบให้เกิดการเปลี่ยนตัวประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่โดยธรรมเนียม ธนาคารกลางไม่ควรถูกแทรกแซง เพื่อรักษาความเป็นอิสระทางนโยบายการเงิน
Trump ให้เหตุผลว่า Fed ทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐด้วยการขึ้นดอกเบี้ยสูงและเร็วเกินไป สำหรับประเทศ EM ทั่วไปอาจไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย แต่สำหรับสหรัฐ ที่เป็นต้นแบบของการใช้นโยบายการเงินโลก ความพยายามเปลี่ยนประธาน Fed จากแค่เรื่องการใช้นโยบายการเงินไม่ถูกใจ เป็นการท้าทายความเชื่อมั่นในกติกาการเงินครั้งใหญ่
ผลของการ Revolt จะทำให้ตลาดตั้งคำถามกับความเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ดั้งเดิม เพิ่มความผันผวนให้กับทุกสินทรัพย์ของสหรัฐ ไล่ตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาล เงินดอลลาร์ ไปจนถึงตลาดหุ้น
นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องมองหาสินทรัพย์ ตัวแทนของตลาดการเงินสหรัฐ เงินลงทุนมีความเสี่ยงที่จะไหลออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
U = Uncertainty ความไม่แน่นอน
สำหรับตลาดการเงิน นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ดี อาจไม่แย่เท่ากับนโยบายเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
รัฐบาล Trump สร้างความไม่แน่นอนระดับนโยบายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การประกาศขึ้นภาษีกับคู่ค้า แล้วลดลงทันทีในอีกสัปดาห์ หรือการสัญญาว่าจะมีการเจรจาการค้ากับทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการเก็บภาษีการค้าเพื่อช่วยลดการขาดดุลการคลัง
ความไม่แน่นอนเหล่านี้สะท้อนในดัชนี Economic Policy Uncertainty ที่พุ่งแตะจุดสูงสุดเท่ากับระดับวิกฤต GFC หรือ Covid-19 ตลาดหุ้นจะผันผวนไปมาทั้งที่ไม่มีข้อมูลเศรษฐกิจใหม่
ผลกระทบสำคัญของ Uncertainty คือตลาดจะไม่สามารถคาดการณ์และวางแผนระยะยาวได้ ขณะเดียวกันนักลงทุนก็จะไม่มีแรงจูงใจให้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้น กลยุทธ์การลงทุนภายใต้ความไม่แน่นอน ทำได้เพียงคงหรือลดความเสี่ยง รอจังหวะกลับเข้าสู่ตลาด
M = Mighty ใช้อำนาจตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จ
ตลาดเข้าสู่ช่วงที่รัฐบาลสหรัฐบริหารด้วย Executive Order เป็นหลัก
นโยบายสำคัญตั้งแต่การขึ้นภาษี การคว่ำบาตรบริษัทต่างชาติ ล้วนไม่มีการผ่านรัฐสภา ไม่มี public debate และไม่มี checks & balances อย่างแท้จริง
ทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อให้ Trump กลายเป็นจุดศูนย์กลางของนโยบายทั้งหมด สามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ และต่อรองกับทั่วโลกได้ด้วยตัวคนเดียว
คุณลักษณะนี้มีผลเสียสองเรื่อง อย่างแรก นโยบายของ Trump จะมีผลกระทบกับตลาดมากผิดปกติทั้งทางบวกและทางลบ เนื่องจากตลาดมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นสูง เรื่องที่สอง คือนโยบายที่จำเป็นต้องผ่านสภาจริง เช่น การลดภาษีอาจมีโอกาสลดลงเพราะ Trump จะเลือกวิธีที่ไม่ต้องต่อรองกับสภาก่อน
Mighty เป็น Key Person Risk ที่นักลงทุนอาจต้องเดาใจสิ่งที่ Trump ชอบหรือให้การสนับสนุนก่อนเหตุผลอื่น
สุดท้าย P = Patriotism ปลุกกระแสความภูมิใจในชาติ
“Make America Great Again” หรือ MAGA ไม่ใช่แค่คำขวัญแต่คือยุทธศาสตร์
นโยบายของ Trump อาจไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจหรือตลาดการเงินสหรัฐ แต่มักเป็นนโยบายที่อ้างอิงความภูมิใจในชาติเป็นพื้นฐาน
ภายใต้แนวคิด MAGA ที่ไม่เพียงต่อต้านระบบ Globalization แต่กำลังมองความมั่งคั่งของชาวโลกเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ
จีนกลายเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งทั้งด้านเทคโนโลยีและทรัพยากร EU ถูกกล่าวหาว่าเอาเปรียบการค้า UN, WHO, IMF ถูกลดบทบาทหรือกีดกันไม่ให้มีอิทธิพลมากกว่าสหรัฐ ประเทศโลกที่สามเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการแย่งชิงทรัพยากร
นโยบายจะเปลี่ยนจากร่วมมือเพื่อประสิทธิภาพ ไปเป็นทำเองแม้ต้นทุนจะแพงกว่า นอกจากนี้ ยังเสี่ยงที่จะบานปลายไปสู่ความขัดแย้ง เช่น ความพยายามเข้าครอบครองทรัพยากรใน Greenland หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลายเป็นการแย่งแหล่งทรัพยากรสำคัญ
ในมุมกลยุทธ์ ควรเน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ MAGA เช่น พลังงาน กลาโหม โครงสร้างพื้นฐาน และ Semiconductor พร้อมกับหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ และกระจายพอร์ตไปยังสินค้าโภคภัณฑ์ หรือประเทศที่มีเศรษฐกิจและทรัพยากรที่อยู่ได้ในโลกหลายขั้ว
เมื่อเราเข้าใจและรู้กลยุทธ์ในการอยู่กับ Trumponomics ผ่านตัวอักษรในคำว่า TRUMP แล้ว เรื่องสำคัญต่อจากนี้คือต้องวิเคราะห์ให้ออกว่านโยบายเหล่านี้จะนำไปสู่อะไรกันแน่
ในปัจจุบัน ผมมองว่าตลาดยังคงมีความหวัง และเชื่อลึกๆ ว่า Trump จะกลับตัวในที่สุด
หมายความว่าความผันผวนและไม่แน่นอนในตลาดตอนนี้ เป็นเพียง “event-driven bear market” จากแรงกระแทกของข่าวภาษีและนโยบายการค้า สุดท้ายมีโอกาสกลับตัวได้เมื่อทุกประเทศยอมเจรจากับสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ผมมองว่า event-driven bear market อาจกลายเป็น “cyclical bear” ที่ฟื้นตัวยากและกินเวลานานกว่าที่คิด หากความไม่แน่นอนลากยาว กลายเป็นประเด็นที่กดดันให้กำไรของตลาดลดลง (earnings recession)
โดยสรุป Trumponomics จึงเปรียบเสมือนความไม่แน่นอน และความผันผวนที่สูงขึ้นสำหรับตลาดการเงินในช่วงนี้ ขณะที่ในระยะยาว นโยบายของ Trump คือความพยายามที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และลำดับอำนาจในการบริหาร
ทุกอย่างจะดีเหมือนที่ Trump บอก หรือจะแย่อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกังวล สำหรับโลกการเงิน “ทิศทางกำไรของตลาด” หลังจากนี้ จะเป็นเครื่องตัดสิน รอชมพร้อมกันนะครับ