คณะก.พ.ร.–กระทรวงทรัพย์ฯ เยี่ยมชมศูนย์ฮอตสปอตซีพี หนุนระบบตรวจสอบย้อนกลับยั่งยืน
ข่าวสด May 08, 2025 06:41 PM

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ผู้บริหารสูงสุด ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการด้านความยั่งยืนธุรกิจ CPCRT นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)-BKP ร่วมให้การต้อนรับคณะ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะ ในการเยี่ยมชมศูนย์บริหารจัดการข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาเเลกเปลี่ยนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture)

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร และผู้บริหารสูงสุดด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับและนโยบายด้านความยั่งยืนว่า เครือซีพี โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีการขับเคลื่อนเชิงรุกผ่านนโยบายที่ชัดเจนว่า “ไม่รับซื้อและไม่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่บุกรุกป่า หรือพื้นที่ที่มีการเผาทำลาย” นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ขึ้นมาใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการจัดหาวัตถุดิบในประเทศไทยและในปัจจุบัน ระบบดังกล่าวยังได้ขยายการใช้งานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการด้านความยั่งยืนธุรกิจ CPCRT กล่าวว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับของกลุ่มธุรกิจในเครือซีพีทั้ง CPP และ BKP ขณะนี้ได้มีการบูรณาการร่วมกัน เพราะปัญหาของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขกันอย่างจริงจัง และด้วยหลักการทำธุรกิจของเครือซีพี มุ่งมั่นทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ โดยศูนย์บริหารจัดการข้อมูลจุดความร้อน เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเชิงรุกในการตรวจจุดฮอตสปอตในพื้นที่การเกษตรเพื่อหาแนวทางลดการเผา และยกระดับภาคการเกษตรไทย รวมไปถึงยังได้ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างจริงจัง อีกทั้ง CPP ยังเป็นธุรกิจต้นน้ำ จึงได้มีการสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งร่วมมือกับคู่ค้าในการสนับสนุนเกษตกร รวมถึงมีการถอดบทเรียนเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงระบบฯ โดยร่วมมือกับยูนูสและมหาวิทยาลัยรังสิตในการถอดบทเรียนดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้มีการทวนสอบย้อนกลับ ณ แปลงปลูก จากองค์กรภายนอกคือ คอนโทรลยูเนี่ยน เข้าไปทำการประเมินและทวนสอบย้อนกลับ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานผ่านการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนในพื้นที่ร่วมด้วย ปัจจุบันได้ขยายระบบตรวจสอบย้อนกลับทั้งในไทย พม่า โดยจะมีแผนขยายไปยังลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมาทางกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรฯ ได้มีการประกาศ เป้าหมายการซื้อและขายเมล็ดพันธุ์ภายใต้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ 100% ของธุรกิจ พืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเป้าหมายในประเทศเมียนมาให้ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับภายใต้ MCIA เพื่อส่งออกข้าวโพดไปยังประเทศไทย โดยได้มีการวางแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน

นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือซีพีเป็นเอกชนไทยรายแรกที่พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ในกลุ่มธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกษตรกรที่มาลงทะเบียนต้องมี “เอกสารสิทธิ์“ ชัดเจนในการยืนยันพื้นที่เพาะปลูกว่าไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยเครือฯ ได้มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบย้อนกลับ รายงานจุดความร้อนในแปลงข้าวโพดซีพี ผ่านการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการระบุพิกัดพื้นที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งได้พัฒนาระบบให้สามารถตรวจจับแปลงเผา ติดตามจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในแปลงข้าวโพดของเกษตรกรที่จำหน่ายผลผลิตให้บริษัทผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับ หากพบเกษตรกรมีการเผาในพื้นที่ๆ จดทะเบียน ทางบริษัทจะดำเนินการตรวจสอบและหยุดซื้อจากแปลงที่เผาทันที นอกจากนี้บริษัทได้มีการแชร์ข้อมูลฮอตสปอตให้กับคู่ค้า เพื่อทำการติดตามเกษตรกรร่วมด้วย พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ภายใต้โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ไปพร้อมการเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนการเผาแปลงข้าวโพดผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับและแอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ เครือซีพีพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันระบบตรวจสอบย้อนกลับให้เป็นมาตรฐานที่ภาคการเกษตรนำระบบไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดมาตรการและแรงจูงใจในการยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ระบบตรวจสอบย้อนกลับนับเป็นอีกกลไกสำคัญที่มีประสิทธิภาพ ช่วยยุติปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในห่วงโซ่อุปทานด้านเกษตรกรรมปลอดการบุกรุกป่า และปลอดการเผา ตอบรับนโยบายการแก้วิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 สำหรับศูนย์บริหารจัดการข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรกรรม จุดเด่นคือการใช้ข้อมูลจากระบบ VIIRS (Visible Infrared Imaging Radiometer Suite) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Suomi NPP NOAA-20 NOAA-21 มาใช้ตรวจติดตามจุดความร้อน ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการดึงข้อมูลจากระบบ FIRMS ของ NASA มาประมวลผลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความแม่นยำสูง

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามสถานการณ์จุดความร้อนได้แบบเรียลไทม์ได้ทาง https://sgc.cptg.co.th/en/hotspot-report

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.