หนุนสุขภาวะคนข้ามเพศอย่างเป็นรูปธรรม แม้ภาพรวมสังคมไทยดูเหมือนจะเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทว่าบางส่วนยังคงต้องเผชิญกับการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เวทีประชุมระดับชาติ “ข้ามเพศมีสุข” ครั้งที่ 2 จึงกลับมาอีกครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุน
การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ 29 องค์กร เดินหน้าสร้างความเท่าเทียม พร้อมระดมความเห็นกำหนดทิศทาง สุขภาพ – สิทธิประโยชน์พื้นฐาน สร้างความเข้มแข็งให้คนข้ามเพศมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายด้านสุขภาวะที่ดีรอบด้าน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผยว่า หลักการสำคัญที่ สสส. ใช้ในการขับเคลื่อนสุขภาวะ คือ ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ประกอบด้วย การกำหนดนโยบายและการเมืองที่ชัดเจน การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน – ภาคประชาสังคม เช่นเดียวกับ ‘การประชุมสุขภาวะของคนข้ามเพศ ครั้งที่ 2’ ที่ส่งเสริมให้ทั้งองค์กรประชาสังคม ประชาชน ภาคีเครือข่าย รวมตัวกันเพื่อใช้ข้อมูลเชิงวิชาการในการขับเคลื่อนไปสู่นโยบายและการเมือง อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างเป็นระบบพร้อมรับฟังเสียงและสะท้อนปัญหาความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม
การถูกเลือกปฏิบัติ การมีสิทธิในด้านต่างๆ การหนุนเสริมการทำงานของชุมชนคนข้ามเพศเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเพื่อเรียกร้อง – เสนอแนวทางนโยบายที่เหมาะสม ล่าสุด กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. จัดสรรงบบัตรทองในปี 2568 เพื่อรองรับบริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ยาฮอร์โมนสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศได้สำเร็จ
นอกจากนี้ นพ.พงศ์เทพ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับฟัง การให้เกียรติ และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแสดงออกทางวิชาการอย่างเปิดเผย ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคนโยบายมีความเปิดกว้างและยืดหยุ่น เพราะความหลากหลายทางเพศถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมยุคใหม่ที่สมควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นก้าวสำคัญในเชิงกฎหมายที่มีความชัดเจนมากขึ้น แต่สิทธิ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ – คนข้ามเพศ ยังไม่ครอบคลุมมากพอ งานในวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เครือข่ายคนข้ามเพศได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอข้อเสนอเชิงวิชาการ เพื่อให้สังคม ภาคการเมือง และ
ภาคราชการ ทราบถึงความต้องการในการพัฒนาสิทธิประโยชน์ มาตรฐานบริการ ตลอดจนการเข้าถึงบริการสุขภาพ “สังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เปิดกว้าง ทั้งยอมรับตัวตนและสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนถึงความพยายามและความร่วมมือของเครือข่ายคนข้ามเพศที่ขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิประโยชน์ มาตรฐานของระบบบริการ การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ พร้อมแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบบริการให้มีความครอบคลุมและเท่าเทียมอย่างแท้จริง” นพ.พงศ์เทพ เผยทรรศนะ
ด้าน นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เล่าว่า สปสช. เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นสิทธิประโยชน์ของคนข้ามเพศ ทว่าจุดเริ่มต้นของการดำเนินการดังกล่าว มาจากกลุ่มนักวิชาการ – ผู้เชี่ยวชาญที่ได้สร้างแนวทางหลากหลาย โดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากล เพื่อกำหนดกรอบการให้บริการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพภายใต้การดำเนินการของ สปสช. มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อนำความเห็นต่างๆ มาขับเคลื่อนในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งรูปแบบของการให้ความรู้คุ้มครองสิทธิ์ ช่วยให้เข้าถึงสิทธิ์ และไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์ โดยมี สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ รวบรวมความเห็นในแง่มุมสุขภาพ – บริการให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนำมาเสนอเป็นสิทธิประโยชน์
ทั้งนี้ การมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมยาฮอร์โมนสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศที่กำลังดำเนินการ ไม่เพียงช่วยให้กลุ่มคนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการยาฮอร์โมนได้อย่างปลอดภัย แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการด้านความรู้สึกภายใน เกิดความเท่าเทียมด้านสุขภาพ ตลอดจนการเข้าถึงบริการครอบคลุมสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม “ความสำเร็จทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการดำเนินการของ สปสช. เพียงหน่วยงานเดียว แต่เกิดจากความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง ทั้ง สสส. และภาคีเครือข่าย ที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อให้เกิดการยอมรับและการพัฒนาสุขภาวะของคนข้ามเพศอย่างยั่งยืน ซึ่งความเข้มแข็งของเครือข่ายในปัจจุบันถือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนานาประเทศที่ต้องการพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง” นพ.นิธิวัชร์ กล่าว
ขณะที่ คุณณชเล บุญญาภิสมภาร ตัวแทนคณะทำงานจัดงานประชุมสุขภาวะของคนข้ามเพศ ตอกย้ำว่า การประชุมระดับชาติข้ามเพศมีสุข ครั้งที่ 2 คือ ผลสำเร็จจากการทำงานหนักของทุกภาคส่วนที่ทำให้สังคมไทยมีความปลอดภัยกับคนข้ามเพศมากขึ้น โดยเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเสียงของคนในชุมชนคนข้ามเพศ ภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ตลอดจนผู้ให้บริการสุขภาพกับคนข้ามเพศ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เพื่อนำไปพัฒนาบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง “ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศมักเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ หลายครั้งไม่ได้รับความสนใจหรือไม่มีพื้นที่ในการพูดคุยถึงปัญหาที่แท้จริง ซึ่งการจัดงานในวันนี้ถือเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม” คุณณชเล ทิ้งท้าย