ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ามาหลายปี ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง จนทางการต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลติดลบมาต่อเนื่อง ขณะที่ปี 2568 นี้ มีความเสี่ยงสำคัญจากสงครามการค้าเข้ามา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังลูกผีลูกคน
แน่นอนว่าจะเป็นอีกปีที่ธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค อย่างธุรกิจบัตรเครดิต จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ภาพจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีการโอกาสพูดคุยกับ “พิชามน จิตรเป็นธรรม” ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ถึงปัจจัยต่าง ๆ ในปีนี้
“พิชามน” ฉายภาพว่า ปีนี้คาดภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) จะทรงตัว หรือโตไม่เกิน 1% เนื่องจากลูกหนี้ยังมีสัดส่วนภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูง รวมถึงคุณภาพหนี้ที่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ณ เดือน ก.พ. 2568 ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตอยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท หดตัว -2.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)
ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 8.56 แสนล้านบาท เติบโต 1.2% แบ่งเป็น สินเชื่อส่วนบุคคล 4.76 แสนล้านบาท หดตัว -5.6% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันอยู่ที่ 3.75 แสนล้านบาท เติบโต 7.5% แต่เป็นการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง จากเดิมจะขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก
“จะเห็นว่าสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตติดลบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินควบคุมการปล่อยสินเชื่อ สำหรับเคทีซีไม่ได้ต้องการเติบโตแบบหวือหวา แต่ต้องรักษาคุณภาพหนี้และพอร์ตสินเชื่อให้มีคุณภาพ”
สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้าเติบโตที่ระดับ 3% ซึ่งไตรมาสแรก บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลและจำนำทะเบียนอยู่ที่ 3.48 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 5.2% เฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลโต 0.6% ฐานลูกค้าอยู่ที่ราว 7 แสนราย หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.5% เพิ่มจากสิ้นปี 2567 อยู่ที่ 3.4%
“ทิศทางสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหลือของปีนี้อาจจะต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นหรือไม่ เพราะคนจะต้องมีรายได้ เศรษฐกิจจะได้หมุนและหนุนการเติบโตที่ดีขึ้น ปีนี้เราตั้งเป้า 3% น่าจะทำได้ตามเป้า แต่เป็นการเติบโตอย่างระมัดระวัง และขยายในกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ แต่เป็นกลุ่มที่มีอาชีพมั่นคงทางรายได้ เช่น หมอ พยาบาล หรือวิศวะ เป็นต้น”
“พิชามน” เล่าว่า กลยุทธ์สำคัญในการเติบโตพอร์ตสินเชื่อในปีนี้ คือ การเพิ่มช่องทางการหาลูกค้าใหม่ จากเดิมเคทีซีจะมีช่องทางการหาลูกค้าใหม่ผ่าน KTC Touch สาขาธนาคารกรุงไทย และไดเร็กต์เซล ซึ่งปีนี้จะขยายช่องทางในการรับสมัครสินเชื่อมากขึ้น โดยใช้จุดแข็งที่มี คือ ร้านค้าพันธมิตร (Partner) ผ่านกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าผ่านร้านค้าพันธมิตร ซึ่งเป็นการใช้สินเชื่อแบบมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ช่วยควบคุมความเสี่ยงได้
เบื้องต้นในเฟสแรก จะร่วมมือกับ 4 พันธมิตรร้านค้า กว่า 1,400 แห่ง ได้แก่ เอไอเอส (AIS) ที่มีสาขากว่า 400 แห่ง ทรูช็อป (True Shop) จำนวน 524 แห่ง แอดไวซ์ (Advice) 121 แห่ง และทีจี (TG) อีก 215 แห่ง เปิดจุดรับสมัครบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ผ่าน e-Application โดยลูกค้าที่มีความต้องการผ่อนสินค้าแต่มีเงินไม่พอ สามารถขอสมัคร ณ จุดขายได้
ซึ่งจะรู้ผลภายใน 30 นาที ทั้งนี้ การพิจารณาจะเป็นไปตามเกณฑ์ Credit Scoring และเกณฑ์ ธปท. หากได้รับการอนุมัติลูกค้าสามารถรับสินค้าได้เลย พร้อมรับโปรโมชั่นสุดคุ้ม ผ่อน 0% นานสูงสุด 24 เดือน
“การดูแลคุณภาพหนี้ เคทีซีใช้ระบบเครดิตสกอริ่งมาระยะหนึ่งแล้ว โดยตัว AI จะทำหน้าที่กรองข้อมูลเบื้องต้น ประกอบกับการตรวจทานจากคนอีกชั้นหนึ่ง เป็นการผสมกันระหว่าง AI และคน เพื่อให้ทั้งรวดเร็วและถูกต้อง วงเงินตามคุณภาพลูกหนี้ และเป็นไปตามที่ ธปท.กำหนด โดยหากรายได้เกิน 3 หมื่นบาท วงเงินได้ 5 เท่าของรายได้ บนภาระหนี้ที่ไม่เกินกว่าที่เรากำหนดเป็นไปตามเกณฑ์ให้สินเชื่ออย่างมีความผิดรับชอบ”
“พิชามน” กล่าวอีกว่า ในระยะถัดไปเคทีซีจะขยายไปสู่ร้านค้าพันธมิตรกลุ่มอื่นนอกจากกลุ่มสมาร์ทโฟน โดยอยู่ระหว่างเจรจากลุ่มอุปกรณ์ในหมวดยานยนต์ ค่ารักษาพยาบาล และอื่น ๆ ที่มีขนาดวงเงินค่อนข้างใหญ่ โดยโฟกัสที่ฐานลูกค้าพันธมิตรเป็นหลัก
ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น เพราะการผิดนัดชำระหนี้จะน้อยกว่ากลุ่มลูกค้าทั่วไป และวงเงินเฉลี่ยในการอนุมัติผ่านช่องทางผ่านร้านค้าพันธมิตรโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าช่องทางอื่นราว 50% ทำให้ภาพรวมพอร์ตสินเชื่อโดยรวมของเคทีซีจะเริ่มดีขึ้น ภายใต้การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นี้
ส่วนลูกค้าเดิมที่มีอยู่ราว 7 แสนราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ เคทีซีจะพยายามสนับสนุนให้เกิดการใช้บัตร โดยทำให้ฟีเจอร์ “รูด โอน กด ผ่อน” ทำได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการช่วยลูกค้าแบ่งเบาภาระหนี้ผ่านโครงการ “เคลียร์หนี้” ที่จัดต่อเนื่องมาแล้วถึง 15 ปี
“เฟสแรก เราเพิ่งเริ่มทำกับร้านค้ามือถือไม่นาน ปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 200 ราย ปีนี้เราคาดว่าจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นจากพันธมิตรร้านค้า 1,000 ราย สินเชื่อราว 40-50 ล้านบาท ดังนั้น กลยุทธ์นี้จะมาเป็นส่วนเสริมในการทำธุรกิจของเราให้ดีขึ้น”