จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในที่ต่างๆ ของประเทศไทย สันนิษฐานว่ามีการปลูกข้าวในประเทศไทยมาเนิ่นนานมากกว่า 5,500 ปี ชาวนาไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นอาชีพหลักเปรียบเสมือน “กระดูกสันหลังของชาติ” นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทุกยุคสมัย ได้ทรงงานเกี่ยวกับข้าวและชาวนา ทั้งงานพระราชพิธีและงานต่างๆ
ปี พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความสนพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูปรับปรุงพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ด้วยทรงเห็นว่าเป็นการรักษาราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย และได้เสด็จพระราชดำเนินหรือมอบหมายผู้แทนพระองค์มาเป็นประธานในพระราชพิธีทุกปี และในปีเดียวกันนั้น ด้วยทรงมีความสนพระราชหฤทัยในการเกษตรกรรม และเป็นอาชีพหลักของประชากรในประเทศ โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งถือเป็นอาหารหลักสำคัญ จึงได้ทรงพระราชทานพื้นที่ในสวนจิตรลดา เป็นพื้นที่ทดลองปลูกต้นยาง องุ่น เลี้ยงโคนม และปลูกข้าว ทรงตั้งโครงการแปลงนาสาธิตขึ้นในสวนจิตรลดาอันเป็นที่ประทับ และพระองค์ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ไปยังแปลงนาสาธิตฯ และทรงขับควายเหล็ก รวมถึงทรงหว่านข้าวในแปลงนา
ซึ่งในโอกาสนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการข้าว ณ เวลานั้น ได้ทรงขับควายเหล็กอีกคันหนึ่งด้วยโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวต่าง ๆ มาทดลองปลูกในพื้นที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ภายใต้ “โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2504 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะการปลูกข้าวและพืชหมุนเวียน และเป็นที่มาของ “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน”
โครงการดังกล่าวได้ถูกสืบสานและต่อยอดจนถึงปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาการเกษตรและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ในปี 2567 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้ให้ผลผลิตที่น่าพึงพอใจ จากการปลูกพืชหมุนเวียนในนาข้าว โดยมีผลผลิตถั่วเขียวรวมกันถึง 72 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์ข้าวที่ได้ผลผลิตดี ได้แก่ ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105, กข6, กข79, กข85, กข99 (หอมคลองหลวง 72), กข24 (สกลนคร 72) และ กขจ1 (วังทอง 72) ซึ่งได้ผลผลิตรวมกันถึง 4,880 กิโลกรัม
ในโอกาสพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 กรมการข้าว ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำ “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” ไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแรกนาทำการหว่านข้าวในแปลงนาข้าวทดลองโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ภายหลังจากพระราชพิธีที่สนามหลวงเป็นประจำทุกปี และ นำเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานทั้งหมด 6 พันธุ์ จำนวน 2,590 กิโลกรัม ไปบรรจุในซองพลาสติกจำนวน 400,000 ซอง เพื่อแจกจ่ายให้แก่พสกนิกรผู้สนใจและชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่เหลือ กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาล ปี 2568 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป
พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน ประกอบด้วย
ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่ทนแล้งได้ดีพอสมควร เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม จำนวน 1,030 กิโลกรัม บรรจุ 136,000 ซอง
กข6 เป็นข้าวเหนียวให้ผลผลิตสูงและทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง คุณภาพการหุงต้มดี จำนวน 440 กิโลกรัม บรรจุ 73,000 ซอง
กข79 (ชัยนาท 62) เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปริมาณอมิโลสตํ่า (16.82 %) คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี เป็นข้าวเจ้า เมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้ จำนวน 420 กิโลกรัม บรรจุ 71,000 ซอง
กข85 เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย ให้ผลผลิตสูงถึง 862 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวน 200 กิโลกรัม บรรจุ 33,000 ซอง
กข99 (หอมคลองหลวง 72) เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ศักยภาพการให้ผลผลิต 957 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวสุก มีกลิ่นนหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวและนุ่ม คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้ จำนวน 285 กิโลกรัม บรรจุ 52,000 ซอง
กข24 (สกลนคร 72) เป็นข้าวเหนียว ไวต่อช่วงแสง ลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้ม ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,002 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 190 กิโลกรัม บรรจุ 35,000 ซอง
พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลให้กับเกษตรกร แต่ยังเป็นการสนับสนุนการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้พันธุ์ข้าวคุณภาพดีมีศักยภาพการให้ผลผลิตที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ