ถึงเวลา CPR อุตฯยานยนต์
SUB_NOI May 09, 2025 01:00 PM
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง

เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกและถกกันมาพอสมควร ถึงทิศทางของอุตฯยานยนต์ไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของความเปลี่ยนแปลงรอบด้านทั้งเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิต พฤติกรรมของผู้บริโภค เทรนด์กรีนเอนเนอร์จี้ หรือแม้แต่ปัญหา ภูมิรัฐศาสตร์ และสารพัด สารพันปัญหา ล้วนถูกหยิบยก ยึดโยงรวมกัน

อุตฯยานยนต์ไทยจะก้าวผ่านช่วงเวลาของการ “เปลี่ยนผ่าน” ตรงนี้ไปได้อย่างไร เพื่อเดินหน้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ หรือ Next-Generation Automotive ได้อย่างแข็งแกร่ง และมั่นคง

ไทยต้องบาลานซ์การสนับสนุน และส่งเสริม ผ่านมาตรการรัฐบาล มาตรการภาษี เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้อุตฯยานยนต์ไทยไม่ต้องสะดุด

เพราะนั้นหมายรวมถึง จำนวนแรงงาน ผู้คนที่อยู่ในอุตฯยานยนต์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเกือบ ๆ 1 ล้านคน จะพลอยได้รับผลกระทบ ไม่เพียงแค่จำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้อง จากสถิติตัวเลขของอุตฯยานยนต์ไทยพบว่า ตลาดยานยนต์และชิ้นส่วนฯ รวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท และไทย คือ ผู้ผลิตรถยนต์ลำดับ 10 ของโลก

แม้ที่ผ่านมาปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลง จากระดับกว่า 1.9-2 ล้านคันต่อปี เหลือเพียง 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 5 แสนคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคันในปีนี้ จากปัจจัยโดยรวมยังไม่มีทีท่าว่า ยอดผลิตจะกลับไปที่ระดับ 2 ล้านคันได้

หนำซ้ำไทยยังเสียตำแหน่งประเทศที่มียอดขายรถยนต์มากเป็นอันดับสอง รองจากอินโดนีเซีย ให้มาเลเซีย ก้าวขึ้นมาแทนที่ ไทยร่วงลงไปอยู่อันดับสาม ส่วนยอดผลิตปีที่ผ่านมาไทยยังรั้งเบอร์หนึ่ง

แต่ส่วนของอินโดนีเซีย ผลิตที่ 1.419 ล้านคัน ส่วนมาเลเซีย ผลิตที่ 7-8 แสนคัน หลายคนอาจจะมองว่ายังห่างชั้น

CPR Automotive

แต่ปี 2567 ยอดผลิตรถยนต์ของมาเลเซียสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากตลาดในประเทศมีการเติบโตอย่างมากตามสภาวะทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่ง

เช่นเดียวกับเวียดนาม ที่ประกาศความชัดเจนเปิดรับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการส่งเสริมการลงทุน, อัตราค่าจ้าง ราคาพลังงาน ฯลฯ ทุกอย่างย่อมมีผลต่อต้นทุนการผลิต

คำถามหากค่ายรถยนต์จะต้องตัดสินใจเพิ่มการลงทุน เขาจะเลือกลงทุนในประเทศที่มีโอกาสและศักยภาพทางการขายที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือจะตัดสินใจเลือกลงทุนในประเทศที่มียอดขายลดลง ตรงนี้น่าคิด…

แม้อุตฯยานยนต์ไทยคงความแข็งแกร่งในเรื่องของระบบซัพพลายเชน ทักษะฝีมือแรงงาน และความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน

ลำพังความแข็งแกร่งและจุดขายเหล่านี้ ยังจะเพียงพอ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพื่อรองรับโอกาสของอุตฯยานยนต์ในอนาคตหรือไม่ ตรงนี้น่าคิด…แต่ต้องไม่ลืมว่าที่ไหนมีความต้องการของตลาด ที่นั่งย่อมมีการลงทุน

ดังนั้นการเทน้ำหนักไปใช้ฐานผลิตในประเทศ ที่มีความต้องการของตลาด มีโอกาสเติบโตที่มากกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกท้ายที่สุดแล้ว นักลงทุนจะเลือกไปลงทุน

มาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์ ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล ควรได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากปล่อยมาตรการลอตแรก “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ที่ทำร่วมกับ บสย.ออกมาแล้ว ยังไม่เห็นภาพของผลอย่างชัดเจน เราควรจะต้องมีลงดาบสอง ดาบสามลงมาต่อเนื่อง

เพื่อไม่ให้ขาดช่วง หรือว่าวันนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อาการยังไม่ถึงขั้น ต้องทำ CPR แต่เมื่อถึงเวลา การทำ CPR ก็อาจจะไม่ทัน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.