ผู้เขียน | ทีมข่าวมติชนออนไลน์ |
---|
ส่องขีดกำลังรบ 2 ชาตินิวเคลียร์ อินเดีย-ปากีสถาน อะไรคือ ชนวนเหตุสงคราม?
ความขัดแย้งในเอเชียใต้ ระหว่าง อินเดีย และ ปากีสถาน 2 จาก 9 ชาติผู้มีอาวุธนิวเคลียร์ ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางการจับตาของคนทั้งโลก เพราะหากทั้ง 2 ชาติ เปิดฉากสงครามนิวเคลียร์ โลกทั้งโลกอาจถูกลากเข้าสู่หายนะได้
ไม่นานนี้ อินเดียเปิดฉากโจมตีปากีสถาน และแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน ให้เหตุผลว่า เป็นการโจมตี “โครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มก่อการร้าย” หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักท่องเที่ยวในแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอินเดียเมื่อเดือนที่แล้ว
มูลเหตุของวิกฤตการณ์นี้ เริ่มเมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา ที่แคว้นแคชเมียร์ในส่วนของอินเดีย เมื่อชายติดอาวุธ 4 นาย ออกจากป่ามากราดยิงนักท่องเที่ยว จนมีผู้เสียชีวิต 26 ราย
เกือบทั้งหมดเป็นชาวฮินดู และ ผู้ลงมือ ถูกระบุว่าเป็นมุสลิมเชื้อสายแคชเมียร์ หรือ ชาวปากีสถานที่เชื้อสายเดียวกัน รัฐบาลอินเดีย ก็ออกมากล่าวหาว่า รัฐบาลปากีสถาน อยู่เบื้องหลัง แม้จะไม่มีหลักฐานใดๆ ก็ตาม ขณะที่บางฝ่ายก็มองว่า อาจเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในแคชเมียร์ก็ได้
เหตุการณ์กราดยิงคร่าชีวิตนักท่องเที่ยวนี่เอง ทำให้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย สั่งระงับสนธิสัญญาแม่น้ำสินธุ (Indus Waters Treaty) ที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 ทันที สนธิสัญญานี้เป็นข้อตกลงระหว่างสองชาติในการแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำหกสาย ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของปากีสถาน ที่ใช้ทั้งเกษตรกรรม ชลประทาน และผลิตไฟฟ้า
ไม่เพียงเท่านั้น ยังปิดจุดผ่านแดนหลักนวกาห์-อัตตารี ระงับวีซ่าพิเศษสำหรับชาวปากีสถาน และขับเจ้าหน้าที่ทูตปากีสถานออกจากนิวเดลี ที่ ปากีสถาน ก็ตอบโต้ด้วยการปิดน่านฟ้า ระงับการค้า และ ขับเจ้าหน้าที่ทูตอินเดียออก
ขู่ด้วยว่า การตัดน้ำของอินเดียเป็น “การก่อสงคราม”
กระทั่ง 7 พฤษภาคม อินเดีย ได้เปิดฉาก ‘ปฏิบัติการซินดูร์’ (Operation Sindoor) อ้างมุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มก่อร้าย โจมตีทางอากาศ ถล่ม 9 สถานที่เป้าหมายในปากีสถาน และแคว้นแคชเมียร์ ฝั่งปากีสถาน จวบจนปัจจุบัน มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก
ข้อมูลล่าสุด ปากีสถาน ออกมาระบุว่าได้ยิงโดรนของอินเดียตก 25 ลำ ในดินแดนของตัวเอง และสังหารทหารอินเดียไปราว 40-50 คน อย่างไรก็ตาม พลเรือนก็เสียชีวิตอย่างน้อย 31 ราย ขณะเดียวกัน อินเดีย ก็ออกมาบอกว่า ได้โจมตีระบบป้องกันภัยทางอากาศในหลายพื้นที่ และระบุว่า ปากีสถานยิงข้ามพรมแดน สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 16 ราย รวมทั้งผู้หญิง 3 คนและเด็ก 5 คน
แหล่งข่าวระดับสูงด้านความมั่นคงของปากีสถาน เปิดเผยกับ CNN ว่าการสู้รบระหว่างเครื่องบินขับไล่ของปากีสถานและอินเดียเป็นหนึ่งใน “การต่อสู้ครั้งใหญ่และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การบินล่าสุด” โดยเครื่องบินขับไล่ 125 ลำต่อสู้กันนานกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่มีฝ่ายใดออกจากน่านฟ้าของตนเอง
ในสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน ออกมาโวว่ากองทัพปากีสถาน ใช้เครื่องบินที่ผลิตในจีน JC-10 ยิงเครื่องบินขับไล่ของอินเดียตก 5 ลำโดยเครื่องบินดังกล่าว เป็นเครื่องบิน Rafal ที่ผลิตในฝรั่งเศส 3 ลำ เครื่องบิน MiG-29 ลำหนึ่ง และเครื่องบินขับไล่ Su-30 ลำหนึ่ง
การตกของเครื่องบิน Rafal สัญชาติฝรั่งเศสครั้งนี้ ทำให้แวดวงผู้สนใจเรื่องอาวุธและกองทัพสนใจอย่างยิ่ง ด้วย Rafal สมรรถนะสูงน้องๆ F-35 มีเรดาร์ และ ระบบป้องกันตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ การถูกยิงตกครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งยังมาจากเครื่องบินจีนอีกด้วย
ฟากอินเดีย ก็ออกมาระบุว่า ได้โจมตีระบบป้องกันภัยทางอากาศในหลายสถานที่ในปากีสถาน ถือเป็นครั้งแรกที่ออกมายืนยันว่าได้โจมตีฐานทัพทหารปากีสถาน หลังจากปากีสถานโจมตีภาคเหนือและภาคตะวันตกของอินเดีย ด้วยขีปนาวุธและโดรนต่อเนื่อง
แน่นอนว่า ชาวบ้านหลายสิบคนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนต้องหลบภัยจากการสู้รบระหว่างอินเดียและปากีสถาน ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ สนามบินทั้งหมด 21 แห่งในภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ปิดให้บริการ
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ทั้งอินเดียและปากีสถาน เป็นชาติที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ศักยภาพกองทัพของทั้ง 2 ชาติ ก็เรียกว่า เป็นระดับมหาอำนาจทางทหารก็ไม่ผิดนัก
จากข้อมูลของ Global Firepower ประจำปี 2025 ซึ่งจัดอันดับกำลังทหาร อินเดียมีกำลังทหารที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะที่ ปากีสถานอยู่ในอันดับที่ 12
อินเดีย เป็นประเทศที่มีรายจ่ายทางการทหารมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2024 อินเดียใช้จ่ายด้านการทหารไป 86,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.3 % ของจีดีพี ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำด้านการป้องกันประเทศและอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่ง ปากีสถาน ใช้จ่ายไป 10,200 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.7% ของจีดีพี
ในด้านกำลังทหาร อินเดียมีทหาร 5,137,550 นาย ส่วนปากีสถานมีอยู่ 1,704,000 นาย น้อยกว่าอินเดียเกือบ 3 เท่า ที่สำคัญคือ ทั้ง 2 ชาติ ไม่มีเกณฑ์ทหาร
หากเจาะลึกดูเป็นรายการ เริ่มด้วยเครื่องบินทหาร อินเดียมี 2,229 ลำ ปากีสถานมี 1,399 ลำ ขณะที่ รถถังนั้น อินเดียมี 3,151 คัน ส่วนปากีสถานมี 1,839 คัน
ฟากกองทัพเรือนั้น ปากีสถาน ครอบคลุมพรมแดนชายฝั่งทางใต้ในทะเลอาหรับยาว 1,046 กิโลเมตร และมีทรัพยากรทางทะเล 121 รายการ ส่วนอินเดียชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ ครอบคลุมความยาวเกือบ 6,100 กิโลเมตร โดยมีทรัพยากรทางทะเล 293 รายการ
สำหรับอาวุธนิวเคลียร์นั้น พบว่า อินเดีย ใช้จ่ายไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ 2,700 ล้านดอลลาร์ เริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก เมื่อ พฤษภาคม 1974 และ 1988 ได้ทดสอบนิวเคลียร์อีก 5 ครั้ง ประกาศตนเป็นรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์
ขณะที่ปากีสถาน ลงทุนไป 1 พันล้านดอลลาร์ ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกไม่นานมานี้ ในปี 1998 และกลายเป็นรัฐมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองประเทศ ต่างก็แข่งขันกันสร้างอาวุธจนสูญเสียเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ ตามข้อมุลของ โครงการป้องกันขีปนาวุธของศูนย์การศึกษากลยุทธ์และระหว่างประเทศ (CSIS) อาวุธนิวเคลียร์ของอินเดีย มุ่งไปที่ปากีสถานและจีน ที่เป็นคู่แข่งหลัก อินเดียได้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลและขีปนาวุธภาคพื้นดินเคลื่อนที่ นอกจากนี้ อินเดียยังอยู่ระหว่างการพัฒนาขีปนาวุธสำหรับเรือและเรือดำน้ำร่วมกับรัสเซีย
ข้อมูลจาก CSIS ยังระบุว่า อาวุธของปากีสถาน ประกอบด้วย ขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลางแบบเคลื่อนที่เป็นหลัก ซึ่งมีพิสัยโจมตีอินเดียได้มากเพียงพอ ได้ความช่วยเหลือทางเทคนิคจากจีน ในโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อินเดีย เป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ในช่วงปี 2020-2024 รองจากยูเครน กินส่วนแบ่งในโลกที่ 8.3% ส่วนใหญ่มาจากรัสเซีย แม้ว่าอินเดียจะย้ายแหล่งผลิตอาวุธไปที่ฝรั่งเศส อิสราเอล และสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม
ตัวเลขของปากีสถานเองก็น่าสนใจ เมื่อการนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้น 61% ในช่วงปี 2015–2019 และ 2020–2024 เมื่อเริ่มได้รับส่งมอบอาวุธ อย่าง เครื่องบินรบและเรือรบ ทำให้ขึ้นไปเป็นผู้นำเข้าอาวุธอันดับ 5 ของโลก กินส่วนแบ่งที่ 4.6% ซึ่งซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่เป็นจีน โดยจีนจัดหาอาวุธให้ปากีสถานถึง 81% ขณะที่รัสเซียจัดหาอาวุธให้อินเดีย 36% ในช่วงเวลาเดียวกัน
รวบรวมจาก Aljazeera / CNN