กรมควบคุมโรค ย้ำโควิด-19 ระบาดเป็นปกติ ชี้ สงกรานต์ทำติดเชื้อพุ่งแต่ไม่รุนแรง เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนปีละครั้ง
GH News May 09, 2025 02:40 PM

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทยในรอบสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 4 – 8 พฤษภาคม กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วย 7,013 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 30 – 39 ปี และกลุ่มอายุ 20 – 29 ปี ตามลำดับ ส่วนผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยสะสม 41,197 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีการพยากรณ์โรคและได้แจ้งให้กับประชาชนทราบเป็นระยะตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงหลังสงกรานต์ที่จะพบตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้ สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลังเฉลี่ย 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 พบว่าในสัปดาห์ที่ 18 – 21 คือช่วงหลังสงกรานต์เข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน มีผู้ป่วยสูงขึ้น ซึ่งปี 2568 กรมควบคุมโรคก็ได้พยากรณ์เรื่องนี้ไว้แล้ว ดังนั้นการพบตัวเลขผู้ป่วยที่สูงในช่วงนี้ ไม่ได้เกินความคาดการณ์ไว้ ส่วนเรื่องสายพันธุ์ที่พบปัจจุบันคือ XEC มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพียงแต่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองแพร่กระจายได้เร็วขึ้น เป็นไปตามธรรมชาติของไวรัส

“ขออย่าตื่นตระหนก ในการที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น พบการระบาดในช่วงที่มีกิจกรรมมากขึ้น เนื่องจากอัตราการป่วยตายยังไม่ได้ผิดปกติ หลักๆ ยังคงเป็นกลุ่มเด็กที่ติดเยอะ แต่อัตราตายจะเกิดขึ้นเยอะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งยังคงเป็นรูปแบบเดิมของโควิด-19 ยืนยันได้ว่าการระบาดที่พบในตอนนี้ไม่ได้เป็นความผิดปกติ” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับความกังวลเรื่องอัตราป่วยตายของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น หากเทียบข้อมูลผู้เสียชีวิตในปี 2567 พบว่ามีอัตรา 0.03 ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขในปีนี้ ฉะนั้น จึงเป็นข้อมูลยืนยันได้ว่าความรุนแรงของโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสายพันธุ์อยู่บ้าง ขณะเดียวกัน มีการเทียบข้อมูลอัตราป่วยตายโควิด-19 กับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลก็พบว่าโรคไข้หวัดใหญ่มีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.01 น้อยกว่าโควิด-19 อยู่ 3 เท่า แต่ก็เป็นอัตราที่ต่ำมาก อย่างไรก็ตาม การตรวจ ATK แนะนำในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เด็กเล็ก และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เมื่อพบอาการป่วยก็จะได้พบแพทย์รับยาต้านไวรัส ส่วนการตรวจรายบุคคลก็ตรวจได้ในลักษณะเพื่อการป้องกันโรคได้

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ในระดับบุคคล โดยคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ได้ออกคำแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนปีละ 1 เข็ม เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ส่วนประชาชนทั่วไป สุขภาพแข็งแรงที่เคยรับวัคซีนมาแล้วนั้น แม้ภูมิคุ้มกันจะลดลงแต่ยังสามารถลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงได้

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมป้องกันโรคแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของไทย เป็นกระบวนการศึกษาวัคซีนต้นแบบเพื่อรองรับสายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ตอนนี้ความรุนแรงของไวรัสลดลงเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของไวรัส และประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้ว คล้ายกับไข้หวัดที่มีการฉีดวัคซีนกันทุกปี ตนมองว่าไข้หวัดใหญ่มีความรุนแรงมากกว่า เพราะมีการเว้นช่วงระบาดมาในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ของประชากรน้อยลง ดังนั้น สังเกตได้ว่าปี 2567 และปีนี้ จะพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.