ผู้ว่า ธปท.เตือนเศรษฐกิจไทยซึมยาว เจอพายุภาษีทรัมป์ถล่ม แนะเร่งปรับตัวออกมาตรการตรงจุด
GH News May 09, 2025 07:07 PM

ผู้ว่า ธปท.เตือนเศรษฐกิจไทยซึมยาว เจอพายุภาษีทรัมป์ถล่ม แนะเร่งปรับตัวออกมาตรการตรงจุด

วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาว่า ได้สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากต่อทั้งเศรษฐกิจของโลกและของไทย เปรียบเสมือนพายุลูกใหญ่ที่กำลังจะเข้ามา สร้างความกังวลกับทุกฝ่ายว่าพายุจะมาถึงเมื่อไร เมื่อพายุมาถึงแล้วจะมีผลกระทบกับภาคส่วนใดบ้าง ผลกระทบจะมากเพียงใด และกินระยะเวลายาวนานแค่ไหน และหลังจากพายุผ่านพ้นไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้มองว่า ปัจจุบันผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐฯที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก แต่สิ่งที่พอมองเห็นบ้าง ได้แก่ ประเทศคู่ค้าต่างเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงนี้ นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูความชัดเจน โดยคาดว่าผลกระทบจะชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเป็นรูปของ V shape แบบขากว้าง ซึ่งจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 และน่าจะลงไปอยู่ในจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 4

"ผลกระทบจาก shock ในรอบนี้ ไม่น่าจะจบเร็ว เพราะมีหลายประเทศที่ต้องเจรจา และการเจรจาไม่น่าจะง่าย แต่มองว่าไม่หนักเท่ากับ shock ในรอบอื่น เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40, วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 หรือในช่วงโควิด ความลึกของ shock ไม่หนักเท่าที่เคยเจอมาในอดีต" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดยผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวก็มีโอกาสสูงที่เมื่อผ่านพ้นวิกฤติไปแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีต แต่อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจสามารถเติบโตขึ้นได้ดีกว่าเดิมได้ หากใช้โอกาสจากวิกฤตินี้ในการขยายการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆให้มากขึ้น ยกระดับประสิทธิภาพในภาคบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และท้ายที่สุดแล้ว เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

"ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะหนัก หนีไม่พ้นพายุที่กำลังจะมา อาจะทำให้รู้สึกว่าหนักหน่วงเป็นพิเศษ เพราะมันสะสมหลายเรื่อง หลายระลอก ทั้งเรื่องโควิด เรื่องค่าครองชีพ ปัญหาหนี้ครัวเรือน สินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ปัญหาการท่องเที่ยว ซึ่งถ้าเทียบกับครั้งก่อน เราเจอหนักกว่านี้ ก็ยังผ่านมาได้ และครั้งนี้ จาก 2 ฉากทัศน์เศรษฐกิจที่ ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจก็ไม่ได้หดตัว ท้ายสุดแล้วเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ แต่อยู่ที่ว่าจะผ่านแบบไหน ซึ่งเราต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ขณะที่การออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ จะต้องเป็นการออกมาตรการที่ตรงจุดและเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิผลมากที่สุด เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการภาษีที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละ sector มีความแตกต่างกันไป

"โจทย์ของนโยบายที่จะใช้รับมือคือ ทำอย่างไรให้ช็อคนี้เบาลง อย่าให้ลึกมาก และต้องเอื้อให้สามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น และในระยะยาวเมื่อพายุผ่านไปแล้ว เราจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าเดิม มาตรการที่จะออกมานั้น ไม่ควรเป็นแบบปูพรม เพราะผลกระทบของแต่ละ sector มีความแตกต่างกัน บาง sector อาจทำให้เกิดผลกระทบเรื่องการย้ายฐานการผลิต เราก็ต้องดูเรื่องการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม หรือบาง sector ได้รับผลกระทบเรื่องการจ้างงาน การบรรเทาผลกระทบก็ต้องเป็นอีกรูปแบบ" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวอีกว่า ในบริบทเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์นี้ การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายด้านต่าง ๆ ด้วย ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมานั้น เป็นการพิจารณาที่สะท้อนจาก Outlook ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ กนง. เพื่อทำให้นโยบายการเงินช่วยเอื้อและรองรับกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าในภาวะที่กระสุนมีอยู่จำกัดจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้ เป็นผลจากดอลลาร์อ่อนค่า ประกอบกับ คนเลือกเข้าไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะทองคำ จึงทำให้ราคาทองคำสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำค่อนข้างมากกว่าสกุลเงินอื่น ดังนั้นเมื่อทั้งดอลลาร์อ่อนค่า และราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นผลให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้

"ตอนนี้คนวิ่งหาสินทรัพย์ปลอดภัย นั่นคือทองคำ ทำให้ราคาทองปรับสูงขึ้น ขณะที่เงินบาทของบ้านเราสัมพันธ์กับราคาทองค่อนข้างมากถึง 60% สูงกว่าสกุลเงินอื่น จึงทำให้ไปซ้ำเติมการแข็งค่าของเงินบาท ยอมรับว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง และไม่ได้เห็นในลักษณะนี้มานาน ซึ่ง ธปท.จะไม่เข้าไปฝืนกลไกตลาด แต่จะดูแลค่าเงินไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนเกินไป โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน หรือมาจากการเก็งกำไรค่าเงิน"

ส่วนความจำเป็นในการขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากผลกระทบต่างๆนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า การจะขยายเพดานหนี้สาธารณะต้องเป็นหน้าที่พิจารณาของกระทรวงการคลัง แต่ในมุมมองของตนนั้น เห็นว่ากระสุนทางการคลังเรามีจำกัด สะท้อนว่าจะต้องใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด การออกมาตรการบางอย่างอาจจะไม่มีความเหมาะสม หรือไม่มีความจำเป็น หรือไม่ตอบโจทย์กับบริบททางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น การกระตุ้นการบริโภค ในสถานการณ์ความกังวลสินค้าจากต่างประเทศกำลังทะลักเข้าไทย

#ธปท #ข่าววันนี้ #ภาษีทรัมป์ #เศรษฐกิจไทย #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #เงินบาท

 

 

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.