"นงนุช วงคง" เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปี 68
GH News May 09, 2025 08:08 PM

นงนุช วงคง” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปี 68 สืบทอดภูมิปัญญาหม่อนไหม ควบคู่เกษตรทฤษฎีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยวัสดุจากธรรมชาติ

อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นอาชีพที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านานซึ่งเป็นการสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาซึ่งมีเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น การผลิตผ้าไหมหนึ่งผืน ต้องใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม ไปสู่การถักทอเป็นผืนผ้าไหมที่มีความสวยงาม โดยกรมหม่อนไหมได้คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2568 นี้ นางสาวนงนุช วงคง เกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า “นางสาวนงนุช วงคง เป็นปราชญ์หม่อนไหม สาขาการเลี้ยงไหมหัตถกรรม (การเลี้ยงไหมครบวงจร) ของกรมหม่อนไหม ซึ่งประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาแล้วกว่า 41 ปี เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรและถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจ อีกทั้งยังใช้ความพยายาม ความอดทน และความตั้งใจจริง ในการพัฒนาคุณภาพสินค้าทั้งเส้นไหม ผ้าไหม ให้ได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟอกย้อมสีธรรมชาติที่ใช้ใช้วัสดุธรรมชาติในชุมชนอย่าง “โคลนขี้ช้าง” นำมาย้อมสีเส้นไหมซึ่งได้การตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยในปี พ.ศ. 2567 ได้รับรางวัลสุดยอดผ้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2567 ในผลงาน ผ้าไหมมัดหมี่ 4 ตะกอ ลายหนามเตย”

นางสาวนงนุช ประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยความใส่ใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ปุ๋ยคอกบำรุงแปลงหม่อน ใช้ฟางคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น นำสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการเลี้ยงไหม เช่น มูลไหมนำมาตากแดดและใส่ในแปลงหม่อน มีการนำระบบบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการฟอกย้อมสีเส้นไหมมาใช้ การใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ใบไม้ ดอกไม้ และโคลนขี้ช้าง มาย้อมสีเส้นไหมสำหรับทอผ้า รวมทั้ง นำเอาหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ผสมผสานในการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมควบคู่ไปด้วยกัน โดยมีการปลูกพืชผสมผสานเป็นแนวกันชน เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีภายในแปลงหม่อน

ซึ่งจากระบวนการทั้งหมดทำให้สามารถผลิตเส้นไหมได้ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ทำให้ไม่ต้องซื้อเส้นยืนจากที่อื่นเป็นการลดต้นทุนการผลิตผ้าไหม ในด้านมาตรฐานการผลิตโรงเลี้ยงไหมมีการบริหารจัดการ ถูกต้องตามหลักวิชาการ แปลงหม่อนได้รับการรับรองมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสําหรับหม่อนเพื่อผลิตใบ (มกษ. 3500 – 2553) เส้นไหมได้รับการรับรองมาตรฐาน การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตเส้นไหมดิบ : เส้นไหมไทยสาวมือ (มาตรฐาน มกษ. 5900 – 2565) ผ้าไหมได้รับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน สีทอง สีเงิน สีน้ำเงิน และสีเขียวนอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและภูมิปัญญา มาใช้การดำเนินงาน เช่น การนำเครื่องสาวไหมแบบปรับปรุงมาใช้แทนเครื่องสาวแบบเก่าเพื่อให้สามารถผลิตเส้นไหมต่อวันให้ได้มากขึ้นและเส้นไหมที่ผลิตได้มาตรฐาน การใช้ระบบน้ำระบบพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในการสูบน้ำรดแปลงหม่อน การใช้เครื่องเดินเส้นยืนและเครื่องม้วนเส้นยืนแบบมอเตอร์ ในการพัฒนาการผลิตผ้าไหม การนำขี้ช้างและโคลนมาใช้ย้อมสีเส้นไหมสำหรับทอผ้าเพื่อสร้างอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่า การทำการตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook (Meta) และ Instagram ในชื่อบัญชี Sodelaaor (โส็ตละออ) โดยมีความหมายว่า “ผ้าไหมสวย” โดยในปี 2567 สามารถสร้างรายจากผลิตภัณฑ์หม่อนไหมกว่า 2 แสนบาท

นางสาวนงนุช มีความรักและความภาคภูมิใจในการทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพราะนอกจากจะช่วยสร้างรายได้เพื่อช่วยจุนเจือครอบครัวและยกระดับคุณภาพชีวิตแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ตลอดจนยังคงตั้งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลานให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.