กรมพัฒนาที่ดิน เชิดชูเกษตรกรดีเด่น ปี 2568  “หมอดินราตรี” ต้นแบบปลูกพืชอินทรีย์ผสมผสาน สู่วิถีเกษตรคาร์บอนต่ำ
GH News May 09, 2025 08:08 PM

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานของเกษตรกรที่มีความโดดเด่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมยึดถือเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงานด้านการเกษตร 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า สำหรับในปี  2568 กรมพัฒนาที่ดิน ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคัดเลือก เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และในปีนี้ ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลใน งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่

นางราตรี บัวพนัส หมอดินอาสาประจำตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับรางวัล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ รางวัลชนะเลิศหมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2568 จากผลงานอันโดดเด่นด้านการปรับปรุงดิน การทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน และการเป็นผู้นำถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน

หมอดินราตรี ถือเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่สามารถฟื้นชีวิตจากอุปสรรคใหญ่ในชีวิตอย่างการเจ็บป่วย เป็นผู้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ บนพื้นฐานแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” และดำเนินการเกษตรคาร์บอนต่ำเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดการดิน น้ำ พื้นที่ และทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า พร้อมเปิดพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรทั่วประเทศ

ทั้งนี้ รางวัลที่ หมอดินราตรี ได้รับในครั้งนี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงความสำเร็จของเกษตรกรรายหนึ่ง แต่ยังตอกย้ำบทบาทสำคัญของ “หมอดินอาสา” ที่เป็นกำลังสำคัญของแผ่นดินในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

หมอดินราตรี เกษตรกรหญิงวัย 53 ปี จากบ้านดงมัน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับการคัดเลือกเป็น "เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2568" จากความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทางการเกษตร สู่นวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน

โดยหมอดินราตรี เติบโตมาในครอบครัวชาวนา และเริ่มทำงานรับจ้างหลังจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ก่อนหวนคืนสู่อาชีพเกษตรกรรมในภายหลัง แต่กลับต้องเผชิญกับศัตรูพืช น้ำท่วม ภัยแล้ง และต้นทุนสูงจากการใช้สารเคมี กระทั่งเธอได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต จึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังบนพื้นที่ 60 ไร่

 

ได้เข้าอบรมการทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน และน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและทำการเกษตรด้วยทางสายกลางตามหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาเป็นหลักในการคิดการปฏิบัติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ยึดหลัก พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยดำรัสไว้ โดยมีการบริหารจัดการ คือ จัดการดิน จัดการน้ำ จัดการพื้นที่ ประยุกต์ใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในการปรับปรุงบำรุงดิน อาทิ การผลิตปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และน้ำหมักชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ การใช้ปุ๋ยพืชสดอย่างปอเทือง และการประดิษฐ์เครื่องมือไถกลบตอซังข้าวจากยางรถยนต์เก่า เพื่อลดการเผา ลดต้นทุน และฟื้นฟูสุขภาพของดินอย่างยั่งยืน

สำหรับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ พื้นที่ส่วนที่ 1 มีพื้นที่ 42 ไร่ 3 งาน เป็นพื้นที่ลดการใช้สารเคมี ปลูกข้าวสลับกับพืชหมุนเวียนหลังนาคือปอเทืองและถั่วเขียว พื้นที่ส่วนที่ 2 มีพื้นที่ 16 ไร่ 1 งาน ปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน โดยปลูกข้าวสลับกับพืชหมุนเวียนหลังนาคือปอเทืองและถั่วเขียว ปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ พริก มะเขือเทศ มะเขือ หอมแดง ตะไคร้ ถั่วฝักยาว แตงกวา บวบมะระ ฟักทอง แฟง แค ไม้ผล ไม้ยืนต้น ได้แก่ กล้วย ขนุน มะขามเทศ พุทรา มะยม ไม้ป่า สมุนไพร ได้แก่ ข่า ตะไคร้ มะกรูด ขมิ้น มีสระน้ำ คลองเก็บน้ำ บ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และที่อยู่อาศัย จากการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่จนเกิดผลสำเร็จ

จากการเปลี่ยนวิธีการผลิต  สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 800–1,000 กิโลกรัม/ไร่ (ปี 2559) เป็น 1,150–1,250 กิโลกรัม/ไร่ในปี 2567 พร้อมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 365,100 บาท เป็นประมาณ 3.44 ล้านบาทต่อปี ด้วยการจำหน่ายข้าวอินทรีย์ พืชผัก ผลไม้ สมุนไพร ปลาทับทิมแปรรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ทั้งในตลาดท้องถิ่นและตลาดออนไลน์

นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน “สวนพ่อสอน” เพื่อรวมกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์และพืชปลอดภัย และมีการทำข้อตกลง (MOU) ส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และใบเตยอบแห้ง รวมทั้งได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เช่น ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ศูนย์เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) และศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา โดยเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน ปีละมากกว่า 3,000 คน

ด้วยผลงานอันโดดเด่นของนางราตรี ส่งผลให้ได้รับรางวัลสำคัญหลายรางวัล อาทิ

1.ใบรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม สังกัดกลุ่มเกษตรอินทรีย์ดงมัน ได้ผ่านการรับรองการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภายใต้กระบวนการพีจีเอส โดยมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย

2.เกษตรกรต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของกรมพัฒนาที่ดิน

3.บุคคลต้นแบบการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบ “โคก หนอง นา” ของกรมการพัฒนาชุมชน

4.รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพ ไร่นาสวนผสม ระดับจังหวัด ประจำปี 2567

ปัจจุบัน หมอราตรี เป็นหมอดินอาสาประจำตำบล ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มเกษตรกรในชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง รวมถึงเป็นผู้ประสานงานที่ดีระหว่างเกษตรกร หมอดินอาสา และเจ้าหน้าที่โดยจิตอาสา ประสบการณ์จากการป่วยและรอดชีวิตทำให้เห็นคุณค่าต่อผู้อื่นและเสียสละเพื่อตอบแทนบุญคุณในหลวงและแผ่นดิน จึงเป็นตัวอย่างสำคัญของเกษตรกรที่พลิกชีวิตจากอุปสรรคสู่นวัตกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ

กรมพัฒนาที่ดิน ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568 ทุกท่าน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.