“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าธปท. ชี้ พายุเทรดวอร์ ใช้เวลา-ไม่จบง่าย จับตา Q4/68 เห็นผลชัด
Toey_Fin May 09, 2025 09:20 PM

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าธปท. เผย จับตาเศรษฐกิจไทย 4 ช่วงผลกระทบภาษีสหรัฐฯ คาดไตรมาสที่ 4/68 เห็นผลกระทบชัด ชี้ เจรจาใช้เวลา ยาวนาน ไม่จบง่าย ห่วงสินค้าทะลักเข้าไทย ย้ำนโยบายรับมือต้องหลากหลายตามเซ็กเตอร์ มองศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ชี้ ยังมีโอกาสโตหากเร่งปรับตัว-ค้าขายกันเอง ย้ำนโยบายการเงินดูแลต่อเนื่อง คาดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งเหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Meet the Press” ว่า ภายใต้ผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) เป็นอะไรที่สร้างความไม่แน่นอนสูงมาก และมีหลายอย่างไม่ชัดเจน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทำสมมติฐาน 2 ฉากทัศน์ จากเดิมไม่เคยทำ สะท้อนว่าเราเผชิญความไม่แน่นอนสูง จึงมองว่า พายุกำลังมา แต่สิ่งที่คนอยากรู้ คือ พายุมาถึงเมื่อไร ผลกระทบนานแค่ไหน มาแล้วกระทบใครบ้าง มีอะไรที่ต้องจับตามอง

ชี้ จับตาเศรษฐกิจ 4 พาท ฟื้นตัว V Shape ขากว้าง

“หน้าตา Shock ครั้งนี้ ไม่ใช่ลักษณะตัว V หรือ ตัว U ก็ไม่ใช่ หรือจะเป็น W ก็คงไม่ใช่ หรือ L ก็ไม่ใช่ แต่เป็น V Shape ขากว้าง ซึ่งผมทำหน้าที่ “กรมอุตุ” มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ แต่ตอนนี้มองไปข้างหน้าพายุมาแน่ๆ แต่ตอนนี้เราไม่เห็นตัวเลขชัดๆ และไม่เห็นกรอบการค้า แต่เริ่มเห็นการลงทุนชะงักเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเราต้องรอดูการเจรจา และเห็นหนักๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี หรือไตรมาสที่ 4/68 แต่พายุนี้ไม่จบเร็ว แม้จะเลื่อน 90 วัน จำนวนประเทศเยอะมาก ดังนั้น พายุนี้ ใช้เวลา ยาว และนานกว่าจะจบ”

ดังนั้น ในช่วงของเศรษฐกิจที่กำลังจะเจอ Shock และเศรษฐกิจปรับลดลง รวมถึงการใช้เวลาการฟื้นตัวคงใช้เวลา โดยมี 3-4 ช่วงที่จะต้องใส่ใจ คือ 1.ช่วงเศรษฐกิจกำลังจะลง จะลงลึกแค่ไหน 2.ช่วงจุดต่ำสุด 3.ช่วงการฟื้นตัว และ 4.หลังพายุผ่านไป

โดยพาทแรก คือ เศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอน และพายุกำลังจะมา ซึ่งยังไม่ได้เห็นตัวเลขชัดเจน และพาทสอง คือ การเจรจาไม่ใช่แค่สหรัฐฯ แต่มีหลายประเทศที่ต้องเจรจา และต้องใช้เวลา เพราะการเจรจาไม่ง่ายขนาดไหน เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ รายละเอียดไม่ชัด ซึ่งมีรายละเอียดอีกเยอะ โดยปกติใช้เวลาเป็นปี จึงเป็น “ตัวถ่วง” ของ “การลงทุน” ซึ่งตัวใหญ่ของการเจรจา คือ จีน จะต้องดูว่านานแค่ไหน ลึกแค่ไหน
ดังนั้น พาทแรกต้องใช้เวลา ซึ่งจุดต่ำสุดคงไม่เร็วกว่าไตรมาสที่ 4/2568 เพราะใช้เวลารอความชัดเจน และผลที่เห็น แต่ความลึกของ Shock ไม่เท่า Shock ครั้งก่อนๆ เช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2551 ส่งออกของไทยลดลง 13% แต่รอบนี้สมมติฐาน -1%

“ครั้งนี้ไม่ควรชะล่าใจเกินไป แต่ก็ไม่ควรตกใจเกินไป แต่สมมติฐานหากเกิดสงครามการค้าเต็มที่ จะเห็นเศรษฐกิจลงลึกกว่า แต่มีคนคิดว่าการเก็บภาษีเกิน 100% เป็นไปไม่ได้ เพราะหากดูภาคการผลิตของสหรัฐฯ พึงพาสินค้าขั้นกลางของจีนถึง 46% ดังนั้น โอกาสเกิด “เทรดวอร์” คงไม่เกิดขึ้นแน่ แต่ภาษี 10% ถือว่าเยอะมาก และยังไงเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกคงต้องลง จึงต้องจับตาพาทแรกและพาทสอง คือการเจรจา การลงลึกของเศรษฐกิจ แต่คิดว่าเศรษฐกิจไม่ลงลึกเมื่อเทียบกับ Episode อื่น”

พาทสาม คือ การฟื้นตัวใช้เวลาค่อนข้างยาวกว่าช่วงแรก เพราะเป็นการปรับตัวของซัพพลายเชน จึงต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะการปรับตัวไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าจะกลับมาสู่โลกปัจจุบัน

พาทสี่ คือ หลังพายุผ่านไป การเติบโตก่อนพายุมา หากไม่ปรับตัวการเติบโตจะต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด Shock เพราะนโยบายภาษีทำให้การค้าโลกชะลอลง ซัพพลายเชนปรับเปลี่ยน จะบั่นทอนประสิทธิภาพ ทำให้การเติบโตโลกและไทยเติบโตชะลอลง ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวโอกาสที่ไทยจะเติบโตต่ำกว่าในอดีตมีค่อนข้างสูง แต่ก็ควรใช้จังหวะนี้ในการปรับตัว ทำให้โอกาสเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนก็มี

เช่น ตลาดสหรัฐฯ มีตลาดค่อนข้างใหญ่ โดยสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ อยู่ที่ 15% ของการค้าโลก และที่เหลือ 85% จะทำอย่างไร หากเดินหน้าค้าขายกันเอง ลดกำแพงภาษีลดลง ทำให้ 85% รวมตัวกันค้าขายมากขึ้น จะทำให้การค้าขายของไทยได้มากขึ้น และหากไทยยกระดับภาคบริการโอกาสเติบโตเพิ่มสูงขึ้นก็มี เพราะเทียบประเทศอื่นพึ่งพาภาคผลิต แต่ไทยมีเศรษฐกิจภาคบริการค่อนข้างมาก

ศักยภาพเติบโตเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3%

ดังนั้น จุดแรกที่เห็นชัด คือ คนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะมี 5 เซ็กเตอร์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วน อาหารแปรรูป เครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ ที่โดนภาษี แต่สิ่งที่เราห่วงค่อนข้างเยอะ คือ พวกที่อยู่ในซัพพลายที่ส่งออกไปประเทศอื่น และผลิตต่อส่งออกไปสหรัฐฯ และอีกกลุ่ม คือ สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ จะมีสินค้าที่ทะลักเข้ามาในไทย จะกระทบหลายสินค้า ส่วนจะหนักแค่ไหน ต้องบอกว่าผลระยะยาวมหาศาล แต่คงไม่หนักเท่าโควิด-19 หรือปี 2540 ส่วนหลังพายุผ่านไป โลกจะเปลี่ยนแปลง ทำให้เราต้องปรับตัวให้อยู่บนโลกที่สง่างาม

“ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 3% หรือ 2% สูงๆ หากไม่มีการปรับตัว ศักยภาพการเติบโตลดลง แต่ก็อยู่กับการค้าโลกจะจบอย่างไร แต่หากมีการปรับตัวก็สามารถเติบโตได้ก่อนเจอพายุ”

โจทย์นโยบายต้องแตกต่างตามเซ็กเตอร์

สำหรับการรับมือ คือ โจทย์นโยบายจะต้องเอื้อให้การปรับตัวได้เร็วขึ้น และเอื้อในระยะยาวหลังพายุผ่านไป และสามารถเติบโตได้ดีกว่าเดิม ทำให้การปรับตัวสั้นลง และเอื้อการเติบโตระยะยาว ดังนั้น มาตรการที่ออกไม่ควร “ปูพรม” ผลกระทบแตกต่างกัน เช่น ใน 5 เซ็กเตอร์ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เยอะ แต่หน้าตาและผลกระทบแตกต่างกัน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจ 0.8% ของจีดีพี มีสัดส่วนส่งออก 77% มีผู้ส่งออก 200 ราย หรือ 75% ของการส่งออก และมีเอสเอ็มอี 5,000 ราย จ้างงาน 4 แสนราย แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ทำให้ผลกระทบไม่เหมือนเซ็กเตอร์อื่น ซึ่งหากการเจรจาไทยโดนภาษีเยอะ ต่างชาติจะย้ายฐานการผลิต หากไม่ต้องการให้เกิดนโยบายจะต้องมีเรื่องสิทธิประโยชน์ หรือส่งเสริมการลงทุน
หรือตัวอย่าง อาหารแปรรูป มีมูลค่า 0.7% และมีสัดส่วนส่งออก 76% หน้าตาบริษัทจะเป็น Local Content สูง และเป็นเอสเอ็มอีเยอะ 12,000 ราย เชื่อมโยงเกษตรกร และประชาชนฐานราก ทำให้การปรับตัว และย้ายฐานการผลิตไม่ง่าย ดังนั้น นโยบายไม่ใช่เรื่องของการย้ายฐานการผลิต แต่เป็นเรื่องของการปรับตัว

อย่างไรก็ดี ตัวที่ห่วงที่สุด คือ สินค้าทะลักเข้าไทย ซึ่งมีเซ็กเตอร์เยอะ ผลกระทบหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องนุ่งห่มสิ่งทอ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 0.8% มีเอสเอ็มอี 1.2 แสนราย ผลิตและจ้างงานกว่า 4 แสนคน รูปแบบบริษัทรายเล็กๆ มีความเปราะบางสูง ดังนั้น มาตรการบรรเทาผลกระทบแตกต่างกันเป็นมาตรการเชิงการค้า มาตรการทุ่มตลาด หรือมาตรการบังคับมาตรฐานเพื่อบรรเทาสินค้าทะลักเข้าไทย

ทั้งนี้ หากตัวเลขจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง 20% แต่ตัวเลขส่งออกโดยรวมของจีนยังโตกว่า 8% ไม่รู้ว่าโตจากไหน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัด ดังนั้น มาตรการที่ใช้คงไม่ใช่มาตรการกระตุ้น แต่ต้องเป็นมาตรการที่กำหนดมาตรฐานสินค้า และคงไม่ใช่สินค้าจีนเท่านั้น แต่มีประเทศอื่นๆ ด้วย

“Shock ที่เราเจอ เหมือนพายุที่กำลังมา เรือจะแล่นในสปีดเดิมไม่ได้ โจทย์ของนโบายตอนนี้ผมว่าไม่ใช่เรื่องกระตุ้นเพื่อให้สปีด หรือเรือวิ่งเร็วแบบเดิม เพราะการเจอ Shock แบบนี้ยังไงการเติบโตก็ต้องชะลอลง หนีไม่พ้น ดังนั้นโจทย์หรือการรับมือคือ ต้องทำให้ช็อคที่เจอเบาลง อย่าทำให้ผลกระทบลึกมาก และมาตรการต้องเอื้อให้เกิดการปรับตัวได้เร็วขึ้นในการเติบโตระยะยาวเมื่อพายุผ่านไป ดังนั้นมาตรการที่ออกมาไม่ควรปูพรมเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ค่อนข้างข้างแตกต่างกันไป”

ธปท.พร้อมดูแลตลาดเงินรับภาษีทรัมป์

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หากถามว่าธปท.ทำอะไรเรื่องนี้ คือ 1.นโยบายการเงิน ธปท.ทำมาต่อเนื่อง โดยธปท.ดูนโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายอื่น โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งล่าสุด 2 ครั้งต่อเนื่อง รองรับมุมมองเศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยดอกเบี้ยเอื้อและรองรับการชะลอตัว แต่กระสุนมีจำกัดต้องใช้อย่างระมัดระวัง

2.ตลาดการเงินค่อนข้างผันผวน เงินดอลลาร์แกว่ง และทองคำแกว่างเวลามีข่าว โดยการดูแลตลาดธปท.ก็ทำต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่ามีความผันผวนสูงมาก และ 3.มาตรการการเงินเป็นช่องทางที่ใช้อยู่ เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เน้นเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนและหลังเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

อย่างไรก็ดี ธปท.พร้อมและความจำเป็นที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม แต่ต้องดูผลกระทบออกมาในรูปแบบไหน หน้าตาแบบไหน

“ภาพตอนนี้เข้าใจว่า ภาพหนัก มัวหมอง และพายุกำลังมาชัดเจน ซึ่งภาพมันทำให้เรารู้สึกหนักเป็นพิเศษ แต่มันเป็นเรื่องที่สะสมมา ตั้งแต่เจอโควิด-19 มาเจอค่าครองชีพสูง เราไม่เถียง เพราะเราโดนหลายด้าน สารพัดด้าน ภาคประชาชนเจอเรื่องหนี้ครัวเรือน เอสเอ็มอีอ่อนแอและมาเจอสินค้าจีนทะลัก ธปท.ก็พร้อมและหากมีความจำเป็นที่จะออกมาตรการเพิ่ม”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.