สงครามโซเชียล ถล่ม ท่องเที่ยว ทุบเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้าย
SUB_NUM May 10, 2025 07:20 AM

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา “นักท่องเที่ยวจีน” เป็นตลาดที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย

การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีส่วนแบ่งเชิงจำนวนสูงถึงราว 27-28% อย่างชัดเจนในตอนนี้จึงสร้างความวิตกให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวอย่างหนัก แม้จะมีตลาดระยะไกล หรือ Long Hual ในฝั่งอย่างยุโรปและตะวันออกกลางที่เติบโตเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทดแทนได้

ปรากฏการณ์นี้ทำให้ถูกมองว่า “การท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และนำเงินเข้าประเทศของไทยกำลังจะดับลง หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไขแบบเร่งด่วน

ข่าวลบท่วม-รัฐขยับตัวช้า

แหล่งข่าวภาคธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งวิเคราะห์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวจีนนั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ตั้งแต่มีกระแสหนังจีนชื่อดัง “No More Bets” ที่ทำให้คนจีนกลัวที่จะมาเที่ยวไทย แล้วอาจถูกลักพาตัวไปปล่อยพม่า หรือกัมพูชาเหมือนในหนัง

และซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์การค้าพารากอน ต่อเนื่องมาถึงข่าวลักพาตัวนักแสดงจีน ข่าวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้กลายเป็นคำถามที่สะสมมานาน จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย

จากที่เคยมาเที่ยวไทยเดือนละ 7-8 แสนคน ตกลงมาอยู่ในระดับแค่ราว 3 แสนคนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือลดลงราว 50% และน่าจะยังอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องอีกในเดือนพฤษภาคมนี้

“การถูกถล่มด้วยสื่อโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่ข่าวเชิงลบไปทั่วประเทศจีน ทำให้คนจีนไม่เชื่อมั่น ไม่มาเที่ยวไทย บริษัททัวร์ในจีนก็ยกเลิกการขายแพ็กเกจและทำชาร์เตอร์ไฟลต์ แล้วเบนเข็มไปขายตลาดญี่ปุ่นและเวียดนามแทน”

สอดรับกับ “ธเนศ ศุภรสหัสรังสี” นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี ที่บอกว่า ต้องยอมรับว่าภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยไม่ดีมาสักพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของไทย

“ที่ผ่านมารัฐบาลขยับตัวช้า แก้ไขข่าวเชิงลบไม่สอดรับกับเหตุการณ์ กลายเป็นปัจจับลบที่ถาโถมเข้ามาต่อเนื่อง และยิ่งส่งผลกระทบหนัก ตอนนี้ตัวเลขจีนหายไปเกือบครึ่ง จากที่เคยหายไปแค่กลุ่มกรุ๊ปทัวร์ ตอนนี้กลุ่มเอฟไอที หรือกลุ่มที่เดินทางเองก็ลดลงเช่นกัน”

เช่นเดียวกับ “ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า ตอนนี้กระแสความนิยมประเทศไทยของคนจีนลดลงอย่างชัดเจน จากที่เคยติดจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 ในช่วงก่อนโควิด ปลายปีที่แล้วตกมาอยู่อันดับ 5 และเมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมาร่วงไปอยู่อันดับ 7

สะท้อนชัดเจนว่ากระแสความไม่ปลอดภัยและประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะข่าว “ทุนจีนเทา” ที่ลามไปในทุกวงการ และหนักจนทำให้บรรยากาศตอนนี้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จับตาโลว์ซีซั่นยุโรป/อินเดีย-ปากีฯ

“ดร.อดิษฐ์” ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไม่เพียงแต่ตลาดจีนเท่านั้นที่ชะลอตัวหนัก ตลาดหลักอย่างเกาหลีใต้ก็ลดลงเช่นกัน และที่น่าเป็นห่วงคือตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 จะเป็นช่วงที่ตลาดระยะไกล หรือ Long Haul เข้าสู่โลว์ซีซั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว Long Haul อีกตลาดแน่นอน

ไม่เพียงเท่านี้ ประเด็นความขัดแย้งของสงครามอินเดียและปากีสถานกำลังจะกลายเป็นปัจจัยลบตัวใหม่สำหรับตลาด Long Haul ซึ่งเบื้องต้นทำให้สายการบินเส้นทางจากยุโรป ตะวันออกกลาง ต้องบินอ้อม ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวแล้ว

“จากการมอนิเตอร์ผลกระทบจากสงครามอินเดีย-ปากีสถานของสมาคมแอตต้าพบว่า เริ่มมีกรุ๊ปอินเซนทีฟเลื่อนการเดินทางและชะลอการเดินทางแล้ว”

รับติดหล่มสงครามโซเชียล

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่าสถานการณ์ของภาคการท่องเที่ยวในวันนี้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะมีปัจจัยเรื่องความเชื่อมั่น ความหวาดระแวง ปรากฏเป็นข่าวเชิงลบบนโลกออนไลน์ถาโถมเข้ามาเต็มไปหมด

“หลาย ๆ เรื่องที่สื่อสารออกไปทำให้เกิดกระแสเชิงลบ เมื่อถูกเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลไปอย่างรวดเร็ว เราตามแก้ไม่ทันก็กลายเป็น Big Issue ไม่ว่าจะเป็นประเด็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ ฆ่า LGBTQ ทุนจีนเทา ฯลฯ

เรียกว่าทุกประเด็น ทุกกระแส ล้วนทำให้การบริหารจัดการยากทั้งสิ้น

เร่งปลุกตลาดจีนโดยด่วน

“ฐาปนีย์” บอกว่า ประเด็นปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร รับทราบทุกเรื่อง และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เองก็พยายามร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขต่อเนื่อง พร้อมทั้งทำให้เห็น KPI ในแต่ละเรื่อง ว่าแต่ละปัญหาจะแก้ไขอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ย่ำแย่ต่อเนื่องมานานของตลาดจีน ททท.ได้จัดทำโครงการกระตุ้นแบบเร่งด่วนผ่านโครงการ “สวัสดี หนีห่าว” ในช่วงวันที่ 29-31 พฤษภาคมนี้ โดยจัดเมกะแฟมทริป เชิญบริษัททัวร์จากทุกมณฑล (30 มณฑล) จากจีนรวม 300 คน และสื่อมวลชน KOL อีก 200 คน มาสำรวจบรรยากาศและสินค้าการท่องเที่ยวของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยให้กลับมาอีกครั้ง

และให้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มาเปิดงาน และจัดให้มีฟอรั่มร่วมพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลไทยได้บริหารจัดการข้อกังวลต่าง ๆ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนอย่างไรบ้าง รวมถึงนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของไทย

นอกจากนี้ ยังมีแผนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของจีน มาร่วมงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบ 50 ปี ไทย-จีน ในเดือนกรกฎาคม 2568

หลังจากนั้น ยังมีแผนเชิญบริษัททัวร์ทั่วประเทศจีน พร้อมสื่อ และ KOL จีนราว 500-600 คนมาเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย Thailand Travel Mart Plus 2025 (TTM+ 2025) ช่วงวันที่ 4-6 มิถุนายน 2568

“ยอมรับว่าการบริหารจัดการสถานการณ์ในช่วงนี้เป็นเรื่องยากมาก การออกมาตรการกระตุ้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องทำในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล” ฐาปนีย์ย้ำ

ของบฯ อัดฉีด “ชาเตอร์ไฟลต์”

นอกจากนี้ ททท.ยังได้เตรียมของบฯ 3,500 ล้านบาทจากรัฐบาล สำหรับกระตุ้นตลาดทั้งต่างประเทศและภายในประเทศผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการ Joint Promotion กับสายการบิน ด้วยการสนับสนุนเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินประจำ (Regular Flight) บางส่วน เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวจีน

2.โครงการ Joint Promotion กับแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง โดยร่วมกับโอทีเอรายใหญ่ให้ครอบคลุมการทำตลาดทั่วโลก และ 3.โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

“ฐาปนีย์” ย้ำอีกว่า กระสุนที่มีอยู่ตอนนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1.ทำอย่างไรให้หยุดการลดลงของตลาดหลัก และ 2.บริหารความเสี่ยงของเที่ยวบิน รวมถึงทำแคมเปญร่วมกับโอทีเอต่าง ๆ เพื่อดึงกลุ่ม FIT

“สรวงศ์” ยันรายได้ 4 เดือนโต

ด้าน “สรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการรายงานข่าวในสื่อโซเชียลทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เร่งจัดการ และเจ้าหน้าที่ก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

โดยจากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม-28 เมษายน 2568 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมประมาณ 9.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สะท้อนว่า แม้นักท่องเที่ยวจีนจะชะลอตัว แต่ในภาพรวมแล้วการท่องเที่ยวของไทยยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา มาชดเชยได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดจีนที่ถือเป็นตลาดใหญ่นั้น กระทรวงเตรียมหารือกับทูตจีนภายในสัปดาห์หน้า พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอจากภาคเอกชน ที่เสนอให้เชิญรัฐมนตรีท่องเที่ยวจีนร่วมฟื้นภาพลักษณ์ประเทศไทย

รวมทั้งเดินหน้าปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ หรือกลุ่มทุนสีเทาอย่างต่อเนื่อง และก็คาดหวังว่าการนำระบบใบ ตม.6 ออนไลน์มาใช้เมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะช่วยยกระดับความปลอดภัย และช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงที่จะเข้ามาสร้างปัญหาได้ดีขึ้น

ปรับลดเป้าจำนวน-รายได้

สำหรับในส่วนของเป้าหมายนักท่องเที่ยวและรายได้การท่องเที่ยวปี 2568 นั้น ล่าสุด ททท.ได้ปรับลดเป้าแล้ว โดยคาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 35.5 ล้านคน (เป้าเดิม 38 ล้านคน) ใกล้เคียงกับปี 2567 สร้างรายได้ราว 1.83 ล้านล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย 205 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ตลาดในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท

รวมรายได้จากการท่องเที่ยวไทยปี 2568 ที่ 3 ล้านล้านบาท เท่ากับปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

สำหรับนักท่องเที่ยวจีนนั้น ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายสุดคือ สถานการณ์ไม่ดีขึ้นและมีปัจจัยควบคุมไม่ได้มากกว่าเดิม จะทำได้ที่ 4.5 ล้านคน แต่หากสถานการณ์ยังสามารถดึงบรรยากาศความเชื่อมั่นกลับมาได้ น่าจะผลักดันไปถึงจำนวน 6.7 ล้านคน เท่าปี 2567

โดยล่าสุดพบว่าจำนวนที่นั่งสายการบินเส้นทางจีนเข้าไทยลดลงเหลือเพียง 7.9 ล้านที่นั่งต่อปี จากจำนวน 8.8 ล้านที่นั่งต่อปี เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา และ Sentiment ยังอยู่ในแนวลบต่อเนื่อง

นี่คือ “ความท้าทาย” และ “โจทย์สำคัญ” ที่จะวัดขุมพลังของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ “การท่องเที่ยว” ยังมีศักยภาพในการแข่งขัน และเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามเป้าหมายต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.