ที่ดินปราจีนพุ่ง 3 ล้าน/ไร่รับอีอีซี ผังเมืองใหม่เพิ่มเขตอุตสาหกรรม
SUB_NUM May 10, 2025 07:40 AM

ขยายพื้นที่จังหวัดที่ 4 EEC “ปราจีนบุรี” ทำที่ดินราคาพุ่ง จับตา “กบินทร์บุรี-ศรีมหาโพธิ์” นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว หลังนายทุนวิ่งซื้อที่ดินชาวบ้านรวมแปลงใหญ่รับนักลงทุน ขยับราคาซื้อขายจากไร่ละ 400,000 บาทเป็น 1 ล้าน แต่คนในพื้นที่ห่วงสุดท้ายปราจีนบุรีจะกลายเป็น “บ่อขยะ” ของ EEC กังวลมีแต่ โรงบำบัดของเสีย รีไซเคิลขยะพิษ เข้ามาตั้งอยู่ในปัจจุบัน

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากข้อเสนอผ่านทางสมุดปกขาวของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ที่จะขยายพื้นที่ EEC ไปยังจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นจังหวัดที่ 4 ต่อจังหวัดชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในหมู่นักค้าที่ดินที่เตรียมกว้านซื้อที่รองรับการเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดยนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวในงานสัมมนาครั้งล่าสุดว่า การขยายพื้นที่ EEC ไปปราจีนบุรีนั้น ถ้าคนในพื้นที่ตอบรับ กระบวนการต่อไปก็คือ การออกร่างกฤษฎีกาขยายเขตจาก 3 เป็น 4 จังหวัดแล้วเข้า ครม.อนุมัติ โดยจะกำหนดพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่ผังเมืองจะต้องกำหนดเป็นโซนนิ่ง ก็จะเห็นว่า ตรงไหนจะใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นสีม่วงได้บ้าง

ปราจีนบุรี จว.ที่ 4 อีอีซี

แหล่งข่าวในจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มนายหน้าค้าที่ดิน ทุนท้องถิ่น รวมถึงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ได้รวมตัวกันกว้านซื้อที่ดินให้ได้แปลงใหญ่ในหลายอำเภอของจังหวัด เพื่อขายให้กลุ่มทุนจากบริษัทใหญ่ ทั้งส่วนกลางและทุนท้องถิ่นจากต่างพื้นที่ พร้อมทั้งพยายามผลักดันผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อผลักดันให้ปราจีนบุรี กลายเป็นจังหวัดที่ 4 ของ EEC ส่งผลให้ราคาที่ดินหลายพื้นที่พุ่งขึ้นไปสูงมาก โดยเฉพาะ ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรีเองมีที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินของ ส.ป.ก.ครึ่งหนึ่ง และที่ดินโฉนดอีกครึ่งหนึ่ง

ปรากฏนายทุนได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินราคาถูกทั้ง 2 ส่วน โดยเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก.ใช้วิธีการรวบรวมได้เป็น 1,000 ไร่ แต่ตามระเบียบของ ส.ป.ก. แต่ละคนจะถือครองที่ดินได้ 50 ไร่ หากจะถือครองที่ดิน 100 ไร่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบยุ่งยาก ดังนั้นนายทุนจะหาบุคคลอื่นมาใส่ชื่อ “สวม” โดยแบ่งแปลงละ 50 ไร่ และรอจังหวัดที่จะประกาศเป็นพื้นที่ EEC

ราคาที่ดินใน 3 จังหวัด EEC ปัจจุบันมีราคาสูงมาก ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในปราจีนบุรี และต่างก็พยายามวิ่งล็อบบี้เพื่อให้ปราจีนบุรีกลายเป็นจังหวัดที่ 4 ของ EEC โดยมีเสียงในพื้นที่เข้ามาว่า มีกลุ่มทุนการเมืองหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มปากน้ำ เข้ามาซื้อที่ดินแถว ต.บ่อทอง วังตะเคียน ประมาณ 20,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า กลุ่มสหวิริยาก็เข้ามาซื้อที่ดินแถวกบินทร์บุรีเช่นกัน” แหล่งข่าวกล่าว

นายทุนเร่ “รวมแปลงใหญ่”

นายธนกฤษ เตชะปัญญารักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า นโยบายที่จะนำจังหวัดปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่ 4 ของอีอีซี ถือเป็น “ข่าวเชิงบวก” ส่งผลให้นักลงทุนมีความต้องการที่ดินในจังหวัดปราจีนบุรีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาที่ดินภายในจังหวัดปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะ อ.กบินทร์บุรี ที่เป็นโซนพาณิชย์และโซนอุตสาหกรรม ซึ่งตามกฎหมายการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต้องใช้ที่ดินตั้งแต่ 500-1,000 ไร่ขึ้นไป ขณะนี้ในอำเภอกบินทร์บุรี ยังมีที่ดินว่างหลายแห่ง ราคายังต่ำตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป และเริ่มมีการรวมพื้นที่ให้มีแปลงใหญ่ ราคาที่ดินเริ่มปรับขึ้นไร่ละ 400,000-1,000,000 บาท

โดยเฉพาะพื้นที่ริมถนน เช่น พื้นที่สี่แยกสามทหาร หรือสี่แยกกบินทร์บุรี ซึ่งเป็นโซนพาณิชย์และโซนอุตสาหกรรมอยู่ บริเวณสหพัฒน์ หรือนิคมแถวนาแขม มีทำเลติดถนน 304 ซื้อขายกันไร่ละ 500,000 บาท หากมีการรวมพื้นที่ดินแปลงใหญ่ก็เกือบ 1,000,000 บาท ในขณะที่พื้นที่ ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี ยังคงมีพื้นที่ว่างหลาย 10,000 ไร่

“ตอนนี้เริ่มมีกระแสมาว่า มีนายทุนใหญ่เข้ามาพูดคุยเรื่องการรวมแปลงกันบ้างแล้ว แต่ที่ดินเปล่าส่วนใหญ่ยังเป็นของชาวบ้าน ซึ่งมีขนาดเล็ก ๆ ที่อาจจะต้องมีการรวมแปลงกันในอนาคตหากมีการตั้งโรงงาน ซึ่งบางพื้นที่ก็มีการรวมได้เกือบ 1,000 ไร่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นมีการซื้อขายชัดเจน จากปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีมี อ.กบินทร์บุรีกับ อ.ศรีมหาโพธิ์ ที่เป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรม โดย EEC จะส่งเสริมให้ทั้ง 2 อำเภอดังกล่าวเป็นลักษณะนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ส่วนอำเภออื่น ๆ เน้นเชิงธุรกิจที่สอดคล้องกัน เช่น ด้านการบริการ ด้านการท่องเที่ยว” นายธนกฤษกล่าว

อนาคตราคาที่ดินพุ่งไร่ละ 3 ล้าน

นายยอดชาย เมทนีกรชัย รักษาการประธานหอการค้าจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ตอนนี้ใน อ.กบินทร์บุรี มีการกว้านซื้อที่ดินไปแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 แทบจะไม่มีพื้นที่ว่างหลงเหลือ ส่วนทางด้านตั้งแต่ อ.ปากพลี จ.นครนายก จนถึง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ติดทางหลวงหมายเลข 33 เมื่อก่อนที่ดินไร่ละ 5 ล้าน แต่ปัจจุบันราคาปรับลงเหลือ 800,000-1,200,000 บาท

แต่หากเป็นที่ดินโซนสีม่วงราคาอาจจะแพงหน่อย หลักล้านต้น ๆ แต่ต่อไปหากผังเมืองได้ประกาศให้เป็นพื้นที่สีม่วงหรือที่ดินประเภทอุตสาหกรรมก็จะทำให้ราคาที่ดินปรับสูงขึ้นอย่างน้อยไร่ละ 2,000,000-3,000,000 บาท

ขณะที่นายสมมาตร ขุนเศรษฐ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะมีผู้ประกอบการเลือกไปลงทุนที่ปราจีนบุรีแทนที่จะไปลงทุนใน EEC ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปราจีนบุรีมีศักยภาพกว่า 3 จังหวัด EEC ในปัจจุบัน จากเหตุผลที่ว่า 1) ที่ดินถูกกว่าอย่างมีนัยถึง 3 เท่า เช่น ซื้อที่ดินที่อื่น 1 ล้านบาท แต่ซื้อในนิคมอาจจะ 3 ล้านบาท เพราะอ้างว่ามีระบบสาธารณูปโภคไฟ-น้ำ-ถนนให้ครบ เพราะเรื่องที่ดินเป็นเรื่องภาษีระยะยาว แต่การซื้อที่ดินจะต้องใช้เงินลงทุนทันที แต่ภาษีเป็นเรื่องของอนาคต

2) ปราจีนบุรี มีโอกาสหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายกว่า 3) การกระจายสินค้า มีการเตรียมขยายถนนเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง ได้ ไปสนามบินทั้งดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิไม่ยาก และเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพียง 1 ชม.เท่านั้น

ส่วนพลเอกจิรศักดิ์ บุตรเนียร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี แสดงความเห็นจะเป็นไปได้หรือไม่ บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯเข้ามาตั้งโรงงานในปราจีนบุรี จะต้องเสียภาษีให้กับสรรพากรในจังหวัดสถานที่ตั้งประกอบการ โดยที่ไม่ต้องเสียเพิ่มมากขึ้น เพียงคาดหวังให้ภาษีตกอยู่ในพื้นที่บ้าง

ห่วงปราจีนบุรี “ถังขยะ” อุตสาหกรรม

นายสุนทร คมคาย ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และที่ปรึกษาสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าจังหวัดปราจีนบุรีกลายเป็นจังหวัดที่ 4 ของ EEC สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ โรงงานอุตสาหกรรม ที่จะย้ายเข้ามาตั้งในจังหวัด จะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีเปรียบเสมือน “ถังขยะ” ที่รองรับขยะพิษของเสียจาก EEC อยู่แล้ว โดยจะเห็นได้ว่า มีโรงหลอม-โรงกำจัดขยะ สามารถมาตั้งในพื้นที่ ผังเมืองสีเขียว ในจังหวัดปราจีนบุรีได้

เนื่องจากสมัยรัฐบาล คสช.ได้ออกประกาศ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภทให้สามารถตั้งในพื้นที่ใดก็ได้ ได้แก่ (1) คลังน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (2) กิจการโรงงานลำดับที่ 88 : โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (โรงไฟฟ้าและสถานีส่งไฟฟ้า) (3) กิจการที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ขนส่ง และระบบจำหน่ายพลังงานของกิจการตาม (1) และ (2) (เช่น ท่อส่งน้ำมัน สายส่งไฟฟ้า)

(4) กิจการโรงงานลำดับที่ 89 : โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ (เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ) (5) กิจการโรงงานลำดับที่ 101 : โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม (เช่น โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ) (6) กิจการโรงงานลำดับที่ 105 : โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (เช่น หลุมฝังกลบขยะ) (7) กิจการโรงงานลำดับที่ 106 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม (โรงงานรีไซเคิล)

(8) กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอย ทำให้โรงงานแนบท้ายคำสั่ง คสช.จากจีนได้โอกาสมาตั้งใน จ.ปราจีนบุรีเป็นจำนวนมาก และประกาศฉบับนี้ก็ยังมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน ทางจังหวัดปราจีนฯจึงเป็นแหล่งรองรับมลพิษอยู่เต็มที่แล้วในขณะนี้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.