เกาะติดเงินบาท “แข็งค่า” สะวิงรุนแรง แตะระดับ 32 บาท เอกชนชี้แข็งค่าเกินระดับแข่งขันได้ “กอบศักดิ์-แบงก์กรุงเทพ” เผยปรากฏการณ์ใหญ่ “ดอลลาร์เสื่อมค่า” นักลงทุนปรับพอร์ตหนีดอลลาร์ ส่งผลสะเทือนเศรษฐกิจไทย ทั้ง “ส่งออก-ท่องเที่ยว-FDI” เพราะพึ่งพาเงินต่างชาติจะหดหาย ซ้ำเติมผลกระทบภาษีทรัมป์ แนะคุมค่าเงินไม่ให้แข็งกว่าคู่แข่ง “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” เผยร้านแลกเงินต้องปรับกลยุทธ์บริหารแบบ “ซื้อมา-ขายไป-ไม่มีกั๊ก” ปรับตัวทุกชั่วโมง หวั่นอัตราแลกเปลี่ยนสะวิง ผู้ว่าการแบงก์ชาติยันเข้าดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนรุนแรง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทิศทางค่าเงินในหลายประเทศแข็งค่าเร็ว เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย ซึ่งเงินบาทของไทยแข็งค่าไปแตะ 32 บาท สาเหตุจากนักลงทุนโลกกำลังปรับพอร์ตนำเงินออกจากดอลลาร์และสินทรัพย์ที่ถืออยู่ในรูปดอลลาร์ ไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าซื้อพันธบัตรไทยค่อนข้างมาก ซึ่งเงินเข้ามาในลักษณะนี้จะกระทบต่อตลาดและค่าเงินบาทแข็งค่า
“ปัญหาคืออเมริกาเป็น หนองน้ำใหญ่ เม็ดเงินที่ไหลออกไปแค่ 5% แต่เทียบกับตลาดอื่นคือ 100% ของเขา เพราะฉะนั้นจะกระทบตั้งแต่ภาพตลาดและค่าเงิน ซึ่งเราก็ต้องทำใจ เพราะขณะนี้กำลังเกิดเหตุการณ์ใหญ่คือ เรื่องความไม่มั่นใจ Dollar Asset จากผลที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำอยู่ ซึ่งทำให้ Safe Haven ที่สำคัญอย่างดอลลาร์กำลังเสื่อมค่าลง จึงกลายเป็นว่าตู้นิรภัยที่ใหญ่สุดของโลกกำลังมีปัญหา เหลือแต่ตู้นิรภัยเล็ก ๆ ในโลก ซึ่งพอเอาเงินใส่เข้าไปไม่หมด ก็เลยท่วมทุกที่”
ดังนั้นต้องติดตามต่อไป เพราะเรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่บางตลาดมีผลกระทบแรงกว่า อย่างเช่น ไต้หวัน ที่หนึ่งวันกราฟค่าเงินผันผวนแรงมาก หรือในฮ่องกงที่ต้องเริ่มรักษาค่าเงินให้แข็งค่าอยู่ในกรอบ
สำหรับผลกระทบเรื่องค่าเงินแข็งค่าเร็วจะมีผลต่อ 3 เซ็กเตอร์ใหญ่ที่เป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ก็คือ 1.ภาคส่งออก เพราะเวลาตีกลับเป็นเงินบาทได้น้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกซัฟเฟอร์และมีมาร์จิ้นลดลง 2.ภาคท่องเที่ยว ก็เช่นกันเมื่อตีเป็นเงินบาทแพงขึ้น ทำให้จะมีส่วนกดดันจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปบางส่วน เพราะทำให้ต้นทุนการเที่ยวเมืองไทยสูงขึ้น และ 3.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะมีความหนักใจขึ้น มีผลต่อต้นทุนในการลงทุนที่สูงขึ้น เพราะดอลลาร์อ่อนค่า เช่น จากเดิมเทียบแล้วใช้เงินซื้อที่ดิน 100 ล้านบาท แต่ตอนนี้คิดเแล้วอาจแพงขึ้นเป็น 110 ล้านบาท เป็นต้น
“ทั้ง 3 เรื่องนี้คือหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคท่องเที่ยว ภาคส่งออก และภาคการลงทุน แล้วทุกอย่างกำลังถูกกระทบ” ดร.กอบศักดิ์กล่าวและว่า
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพยายามบริหารจัดการให้ได้ โดยหัวใจสำคัญต้องพยายามทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่าคู่แข่ง ต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด เพราะตอนนี้ผลกระทบค่าเงินมาจากการเสื่อมค่าของดอลลาร์ ขณะที่ความปั่นป่วนจากโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ามาอีกเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจะมีผลกระทบเป็นระยะ ๆ ดังนั้น โจทย์ที่ทำได้ คือ “ต้องทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่าคู่แข่ง”
หรือจังหวะนี้อาจผ่อนหนักเป็นเบาในบางเรื่องได้หรือไม่ ซึ่งต้องตั้งโจทย์ให้ชัดก่อน ปัจจุบันยังดีที่รัฐบาลก็ออกมาพูดว่าอยากจะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่า มองว่าเป็นเรื่องดี สื่อสารออกมาเรื่อย ๆ เพราะจะช่วยทำให้เซนติเมนต์ดีขึ้น ความกังวลใจเรื่องการแห่ขายดอลลาร์และมาซื้อบาทเริ่มชะลอลง เพราะทางการเข้ามาดูแล้ว
ดร.กอบศักดิ์ฉายภาพเพิ่มเติมว่า ปีนี้เป็นปีที่ไม่ง่าย คนทำธุรกิจและนักลงทุนมีความกังวลใจมาก เพราะโลกกำลังผันผวนและปั่นป่วน ทุกคนมองว่าหุ้นขึ้นแล้วจบแต่ไม่ใช่ เพราะยังมีอีกหลายคลื่นที่จะเข้ามากระทบ เพราะระเบียบโลกกำลังเปลี่ยน ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้เกิดการปรับตัว ซึ่งจะกระทบสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น พันธบัตร ค่าเงิน และเศรษฐกิจจริงจะมีปัญหาถัดจากนั้นตามมา
โดยเห็นสัญญาณชัดเจนจาก “วอร์เรน บัฟเฟต์” นักลงทุนฉลาดที่สุดคนหนึ่งในโลก ปีนี้หันมาถือสภาพคล่องที่เป็น “เงินสด” เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่บอกว่าต้องลงทุน ซึ่งสะท้อนได้ว่าคงจะเห็นสัญญาณว่าสินทรัพย์อื่นคงมีความผันผวนและดูยาก
ขณะที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าที่มาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า เพราะความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ของดอลลาร์ลดลง ทำให้คนวิ่งหาสินทรัพย์ใหม่ คือ ทองคำ ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งค่าเงินบาทมีความเชื่อมโยงกับทองคำค่อนข้างเยอะ ประมาณ 60% รองลงมาเกาหลี 40% เพราะคนไทยชอบซื้อขายทอง จึงซ้ำเติมค่าเงินบาทแข็งค่า
ดังนั้น การบริหารจัดการ คือ ใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น นโยบายการเงิน เพราะค่าเงินตัวที่กระทบคือ ดอกเบี้ย และสิ่งที่ ธปท.ทำ คือการเข้าไปดูแลค่าเงิน แต่ไม่ได้กำหนดเป็นระดับ และไม่ฝืนกลไกตลาด แต่ทำให้การเคลื่อนไหวไม่สูงหรือผันผวนเร็วเกินไป โดยเฉพาะความผันผวนไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนสูง มองว่านโยบายการเงินขณะนี้ยังมีความเหมาะสมอยู่ แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรง ธปท.ก็พร้อมจะปรับนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด จะมีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มีความเป็นห่วงเรื่องของขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) จำกัด และพื้นที่ที่ปรับลดดอกเบี้ยลงมีไม่เยอะแล้ว และประสิทธิภาพการลดดอกเบี้ยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่ดอกเบี้ยสูงและปรับลดลง จะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งสะท้อนการส่งผ่านนโยบายการเงินในรอบนี้แล้ว
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินบาทมีความผันผวนค่อนข้างสูงตามกระแสข่าวรายวัน และโดนปัจจัยราคาทองคำตลาดโลกกระชากเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวตามราคาทองคำมากเกินปัจจัยราคาพื้นฐาน โดยในระหว่างวันค่าความผันผวนของเงินบาท “กว้าง” กว่าปีก่อน ซึ่งบางวันเห็นความผันผวนถึง 50 สตางค์ ถือว่าค่อนข้างสูง ในส่วนผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกก็มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) มากขึ้น
ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าตามสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และสกุลเงินประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากตลาดมองว่าเงินสกุลดอลลาร์มีความไม่แน่นอนสูง จึงลดการถือครองเงินดอลลาร์ หุ้น และพันธบัตรสหรัฐ รวมถึงกองทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อกองทุนในตลาดเกิดใหม่ ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า
“เงินบาทยังมีความผันผวนสูง หากราคาทองคำปรับฐานก็อาจจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าได้ และต้องรอดูตลาดตอบรับการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐ สุดสัปดาห์นี้ที่สวิตเซอร์แลนด์ และหลังครบกำหนด 90 วัน ตลาดจะกลับมากังวลอีกครั้ง หากทรัมป์ไม่ขยายเวลาก็เป็นเกมยาวของเทรดวอร์ ซึ่งต้องรอดูผลของการเจรจาคู่ค้าหากได้ดีลที่ดีกว่าไทย เราจะแย่ในระยะยาว”
นางสาวรุ่งกล่าวว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาดพันธบัตรของไทย ในวันที่ 6 พ.ค. 68 มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และวันที่ 7 พ.ค. 68 เงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรอีกราว 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นอีกปัจจัยส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า
ทั้งนี้มองว่าในระยะสั้น ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ในกรอบ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ และในช่วงกลางปี มีโอกาสเงินบาทขยับอ่อนค่าที่ระดับ 33.00-34.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้ โดยคาดว่าช่วงที่เหลือของปีจะลดอีก 2 ครั้ง ขณะที่ปลายปีเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกรอบ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ย และสงครามการค้ามีความชัดเจนขึ้น อาจเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.25-33.00 บาทต่อดอลลาร์
นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐ สร้างความผันผวนให้ตลาดค่อนข้างมาก โดยการบริหารธุรกิจ “ร้านแลกเงิน” ในช่วงนี้ จะใช้วิธีการซื้อมา-ขายไปทันทีแบบวันต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงของค่าเงินที่มีความผันผวน
“ตอนนี้ค่าเงินขึ้นอยู่กับนโยบายของสหรัฐเป็นหลัก มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง เราจึงต้องยึดหลักการบริหารเงินแบบซื้อมาขายไปให้เร็วยิ่งขึ้น ไม่มีกั๊กเก็บไว้ ซึ่งก็ขึ้นกับร้านแลกเงินบริหาร จากเดิมจะซื้อขาย หรือเก็บไว้ แต่ตอนนี้เก็บไม่ได้ เพราะมีความผันผวนสูงมาก เช่น ซื้อเงินตราต่างประเทศเข้ามาในช่วง 14.00 น. อาจจะขายทิ้งในช่วง 15.00 น. เป็นต้น เพื่อบริหารไม่ให้ Gap ของค่าเงินห่างเกินไป โดยช่วงที่ค่าเงินสะวิงมาก อาทิ ซื้อเข้าที่ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ แต่ค่าเงินจะไปที่ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ บริษัทจะขายในช่วง 32.15 บาท ให้กรอบค่าเงินห่างไม่เกิน 5-10 สตางค์”
ทั้งนี้ จะเห็นว่าหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี Tariffs ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปค่อนข้างเร็วจากระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ไปอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ และหลังจากทรัมป์เปลี่ยนท่าทีและเลื่อนการเก็บภาษีไป 90 วัน ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนโยบายภาษีกระทบทั่วโลก รวมถึงค่าเงินบาท ขณะที่ไทยพึ่งพาการส่งออก 70-80% ของจีดีพี ทำให้ได้รับผลกระทบจากค่าเงินของค่อนข้างเยอะ และอีกประเด็นที่ห่วง คือ นักท่องเที่ยวไม่มาเที่ยวไทย จะไม่มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบ ซึ่งต้องรอดูมาตรการภาครัฐจะเรียกความเชื่อมั่นได้แค่ไหน
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วถือว่าค่อนข้างน่ากังวล เพราะเป็นระดับที่เกินกว่าธุรกิจจะแข่งขันได้ ทั้งนี้ ภาครัฐควรดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป เพราะกระทบการส่งออกเพิ่มซ้ำเติมจากผลกระทบที่ถูกทรัมป์ขึ้นภาษีอีก
ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารเชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตร ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ