“แลนด์บริดจ์” อภิมหาโปรเจกต์งบลงทุน 1 ล้านล้าน!! ประตูศก.การค้าภาคใต้ ศูนย์กลางขนส่งสินค้าแห่งใหม่
GH News May 10, 2025 08:05 AM

“แลนด์บริดจ์” หรือ “โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง)” ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) หากสามารถลงทุนพัฒนาได้ตามเป้าหมายจะเป็นอภิมหาเมกะโปรเจกต์ของประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด “One Port Two Side” และการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือ ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์

โดยจากการศึกษาได้คัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่งที่เหมาะสมได้แล้ว คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ระยะทาง 93.9 กิโลเมตร เป็นระยะทางบนบก 89.35 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม. ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด  1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในโครงข่ายรวมของประเทศ โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น และอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น การพัฒนาแลนด์บริดจ์ประมาณมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.001 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1. การก่อสร้างท่าเรือ มูลค่าลงทุนรวม 636,477 ล้านบาท (ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 305,666.44 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู, ท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 330,810.56 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู) ,2. การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่าลงทุนรวม 141,103.47 ล้านบาท (ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 86,397.85 ล้านบาท ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 54,705.62 ล้านบาท) และ3. เส้นทางเชื่อมโยงชุมพร-ระนอง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ มูลค่าลงทุนรวม 223,626 ล้านบาท               

และด้วยประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ในการเป็นประตูการค้า การขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่างๆ ของโลก โดยมองว่า "แลนด์บริดจ์" จะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการขนส่งสินค้า และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการ คือ ลดระยะเวลาการขนส่งเส้นทาง จากที่ผ่านช่องแคบมะละกาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ EEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC

อีกทั้งจากการศึกษาวิเคราะห์เส้นทางเดินเรือหลักสายใหม่ที่จะเกิดขึ้น เมื่อมี "แลนด์บริดจ์" โดยจะเป็นการขนส่งสินค้า ระหว่างสหภาพยุโรป, ตะวันออก, อินเดีย, บังกลาเทศ, เวียดนาม, จีน โดยลูกค้าหลัก จะเป็นเรือสินค้า ฟีดเดอร์ ขนาด 5,000-6,000 ทีอียู และเป็นทางเลือกของสินค้าถ่ายลำ และการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก               

ขณะที่ความคืนหน้าล่าสุด “แลนด์บริดจ์” จากการลงพื้นที่ของ “นางมนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะขับเคลื่อนได้จำเป็นต้องมีกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ….. (พรบ. SEC) สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมได้รับมติจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการจัดทำ พรบ.SEC คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็น และร่าง พรบ.SEC ให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอไปยัง ครม.พิจารณาภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังจะเริ่มเปิดประชุมสามัญในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ และคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ผลักดันให้สามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคา โดยร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ในเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งจะประกวดราคาเป็นสัญญาเดียว ได้สิทธิดำเนินโครงการ 3 ส่วนทั้งท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์ และรถไฟ  คาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3 ปี 2569 เสร็จพร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2573

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  กล่าวว่า สนข. เปิดรับฟังความคิดเห็นส่วนของร่าง พรบ.SEC ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคมและ สนข. ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นราว 9,000 คน ซึ่งพบว่ากว่า 8,000 คนเห็นด้วยกับการพัฒนา พรบ.SEC และแลนด์บริดจ์ โดยมีประชาชนราว 700 คนที่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ ข้อกังวลเกี่ยวกับการจ้างงานในพื้นที่ ข้อกังวลเกี่ยวกับการชดเชยผลกระทบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ สนข.มีการศึกษารองรับแล้ว

สำหรับสาเหตุที่จะประกวดราคาครั้งเดียว เพราะต้องการให้เกิดการบูรณาการ เนื่องจากต้องการให้ทุกโครงสร้างพื้นฐานสามารถเชื่อมโยงกันได้ ผู้ประกอบการรายเดียวเข้ามาบริหาร ก็จะสามารถจัดการท่าเรือ เชื่อมต่อสินค้าไปที่รถไฟ หรือมอเตอร์เวย์ได้ทันที เป็นการบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว ซึ่งโครงการนี้จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมทุนไทย และเข้ามาลงทุนได้ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการร่วมลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

“กระแสขายชาติ ขอชี้แจงว่าการเวนคืนที่ดินพัฒนาโครงการจะทำโดยรัฐบาล ที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐทั้งหมด เป็นของคนไทย ไม่ได้ยกให้ใคร เพียงแต่ประมูลให้ต่างชาติมาลงทุน ก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้ และพื้นที่ที่เหลือก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนกลุ่มอื่นมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งมองโอกาสเป็นประเภทสินค้าเกษตร สินค้าประมง สิ่งเหล่านี้จะต่อยอดอุตสาหกรรมและส่งออกให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยการลงทุนนี้ก็จะไม่จำกัดนักลงทุนเป็นไทยหรือต่างชาติ แต่ต้องให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตามได้มีตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร เข้ายื่นหนังสือต่อ นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ ผู้ว่าฯ ชุมพร เพื่อขอคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ และร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่รัฐบาลนำเสนอนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร และผลักดันให้มีกฎหมายระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC โดยอ้างว่า จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งสองจังหวัด และภาคใต้โดยรวม ทั้งที่เรื่องนี้ยังมีงานวิชาการที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งยังมีความเห็นต่างของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการต้องสูญเสียที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เสมือนว่า พวกเราจะต้องเสียสละเพื่อคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะนักลงทุนชาวต่างชาติ               

“โครงการแลนด์บริดจ์” เป็นอีกหนึ่งอภิมหาโปรเจกต์กับงบลงทุน 1 ล้านล้าน!! จะเดินหน้าโครงการได้อย่างสะดวกโยธิน!! ต้องติดตามกันต่อไป!!

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.