เงินบาทผันผวน รอสหรัฐเจรจาจีนสุดสัปดาห์นี้
jit May 10, 2025 08:41 AM

เงินบาทผันผวน รอสหรัฐเจรจาจีนสุดสัปดาห์นี้ ประเด็นภาษีศุลกากรและการค้า ขณะที่สหรัฐบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรแล้ว เป็นข้อตกลงฉบับแรกที่สหรัฐทำกับประเทศคู่ค้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (6/5) ที่ระดับ 32.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า (2/5) ที่ระดับ 33.03/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังนักลงทุนเกิดความวิตกกังวลอีกครั้งว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยในคืนวันศุกร์ก่อนหน้า (2/5) ค่าเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 138,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.9%

สำหรับความคืบหน้าด้านการเจรจาในเรื่องภาษีนั้น ทางสหรัฐยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในการเจรจากับทุกประเทศ อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า เขาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงจะทบทวนข้อตกลงการค้าที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อตัดสินใจว่าจะยอมรับข้อตกลงใดบ้าง

ทั้งนี้มีรายงานว่า สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ จะพบปะกับเหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีนที่สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นภาษีศุลกากรและการค้า

โดยจะต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิดว่าการเจรจาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางจีนยืนกรานว่าจะไม่ยอมเจรจา เว้นเสียแต่ว่าสหรัฐจะถอนภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจีนอยู่ในปัจจุบันออกก่อน ซึ่งดูเหมือนนายทรัมป์ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว

ทั้งนี้ในคืนวันพฤหัสบดี (8/5) ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ 100.75 หลัง ปธน.ทรัมป์แถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรแล้ว ซึ่งเป็นข้อตกลงฉบับแรกที่สหรัฐทำกับประเทศคู่ค้า

โดยสหราชอาณาจักรได้ตกลงที่จะปรับลดภาษีศุลกากรลงเหลือ 1.8% จากเดิม 5.1% และเปิดโอกาสให้สินค้าสหรัฐเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าครั้งใหม่นี้ ขณะที่ภาษีศุลกากรพื้นฐาน (Baseline Tariff) ในอัตรา 100% ที่สหรัฐเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าของสหราชอาณาจักรนั้น จะยังคงอยู่

มติเฟดคงดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 4.25-4.50% ในการประชุมเมื่อคืนวันพุธ (7/5) โดยธนาคารกลางสหรัฐได้แสดงถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้กล่าวถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยนายเจอโรม ยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐนั้นยังแข็งแกร่งและระบุว่ามีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคตหากมีข้อมูลทางเศรษฐกิจมาสนับสนุน แต่ยังคงต้องรอจนกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้เป็นเดือน ก.ค. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน มิ.ย. และคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาในสัปดาห์นี้ค่อนข้างไร้ทิศทาง

ในคืนวันจันทร์ (5/5) เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 50.8 ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 51.4 และชะลอลงจากระดับ 54.4 ในเดือน มี.ค. ส่วนดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ อยู่ที่ 50.6 ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 51.2 และชะลอลงจากระดับ 53.5 ในเดือน มี.ค.

ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 51.6 ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.8 ในเดือน มี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.6 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าสหรัฐขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขาดดุลการค้าแตะระดับ 140,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 14% จากเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 137,600 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 123,00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ก.พ.

เงินบาทถูกกดดันลดคาดการณ์ ศก.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องมาจากวันศุกร์ก่อนหน้า (2/5) ตามเงินในสกุลภูมิภาค โดยหลายสกุลเงินเอเชียได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นรุนแรงและรวดเร็ว จากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จนแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี

สาเหตุที่กระทบค่าเงิน คาดว่ามาจากที่นักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์ดอลลาร์สหรัฐ เพราะความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ และนโยบายภาษีของทรัมป์ จนเกิดความผันผวนในตลาดการเงินซึ่งเกิดจากแนวคิด “Sell America” ด้วยการเทขายสินทรัพย์สหรัฐ หันหาทางเลือกอื่น

โดยในช่วงเช้าวันอังคาร (6/5) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน เม.ย. 68 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.22% (YOY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน รวมถึงการลดลงของราคาผักสด สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.75% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน เม.ย. 68 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.98% (YOY) ทั้งนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2568 สูงกว่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.91% โดยการที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนนั้น ยังไม่ได้บ่งบอกว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าขึ้นมาเหนือระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐและการร่วงลงของราคาทองคำหลังสหรัฐและสหราชอาณาจักรได้มีรายงานว่ามีการบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันมีหลายสำนักได้ปรับลดคาดการณ์ จีดีพีของประเทศลง โดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ลงเหลือเพียง 2.0-2.2% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 2.4-2.9% หลังประเมินว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐ จะกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดคือสหรัฐมีการเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 36% ในช่วงครึ่งหลัง เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้เพียง 0.7-1.4% และมูลค่าการส่งออกอาจติดลบถึง -2%

โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.58-33.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/5) ที่ระดับ 33.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันอังคาร (6/5) ที่ระดับ 1.1291/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/5) ที่ระดับ 1.1342/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรแกว่งตัวอยู่ในกรอบ หลังยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับการเจรจาในด้านภาษีระหว่างสหรัฐและยูโรโซน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการประกาศระหว่างสัปดาห์นั้นยังออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายรวมภาคการผลิตและภาคบริการ (Composite) ของยูโรโซนจาก HCOB ขยับขึ้นแตะระดับ 50.4 ในเดือนเมษายนสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค. ยอดคำสั่งซื้อของโรงงานเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% หลังจากที่ทรงตัวในเดือน ก.พ. อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรไม่สามารถแข็งค่าทะลุระดับ 1.1400 ขึ้นไปได้จึงย่อตัวลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐโดยเฉพาะในช่วงคืนวันพฤหัสบดี (8/5) หลังมีการบรรลุการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1198-1.1380 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/5) ที่ระดับ 1.1245/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

เงินเยนแข็งค่า เจรจาภาษียังไม่มีข้อสรุป

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันอังคาร (6/5) ที่ระดับ 143.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/5) ที่ระดับ 144.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในฐานะเงินสกุลปลอดภัย หลังการเจรจาทางด้านภาษียังไม่มีข้อสรุป

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4/5) นายเรียวเซอิ อาคาซาว่า หัวหน้าผู้แทนเจรจาต่อรองของญี่ปุ่น เปิดเผยภายหลังจากที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่นและการเจรจาเรื่องภาษีในระดับรัฐมนตรีรอบที่ 2 ที่สหรัฐว่า ญี่ปุ่นไม่ต้องการทำข้อตกลงการค้ากับรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ หากไม่ได้มีการทบทวนข้อตกลงด้านการจัดเก็บภาษีใหม่ทั้งหมด

ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นกังวลคือ เรื่องการจัดเก็บภาษี 25% ที่พุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมยายนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว โดย ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งการให้เก็บภาษี 25% ของเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้า รวมทั้งเก็บภาษียานยนต์ที่ผลิตนอกสหรัฐ 25% ที่จะส่งผลกระทบกับทางญี่ปุ่นโดยตรง

ระหว่างสัปดาห์ ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้มีการเปิดเผยการประชุมประจำเดือน มี.ค. โดยหนึ่งในคณะกรรมการระบุว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐได้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเชิงลบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินญี่ปุ่นในรอบที่ผ่านมา พร้อมทั้้งยังระบุว่าหากเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่ ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

แต่นอกเหนือจากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐ BOJ ยังคงต้องคำนึงถึงภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานและสถานการณ์การค้าในการประชุมนโยบายการเงินครั้งถัดไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการ BOJ ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นและอัตราเงินเฟ้อยังคงสอดคล้องกับที่ทาง BOJ คาดการณ์ไว้ ทาง BOJ ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.37-146.17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/5) ที่ระดับ 145.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.