สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ร่วมกับบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด (“โนโว นอร์ดิสค์”) จัดงานเวทีนโยบายรับมือโรคอ้วนระหว่างเดนมาร์ก-ไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเชิญผู้กำหนดนโยบาย บุคลากรทางการแพทย์ และตัวแทนธุรกิจในวงการสาธารณสุขมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายจากอัตราการเป็นโรคอ้วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “โรคอ้วน – ความท้าทายด้านสุขภาพและเศรษฐกิจระดับชาติ ร่วมมือกันวันนี้เพื่ออนาคตของทุกคน” ภายในงานประกอบด้วยปาฐกถาจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และการเสวนาบนเวทีจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายภาคส่วน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรง ในประเทศไทยโรคอ้วนถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญ โดยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้โรคอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังร้ายแรง อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง โดยเกือบ 1 ใน 3ของผู้ที่เป็นโรคอ้วนประสบกับภาวะเหล่านี้, นอกจากจะเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่สำคัญแล้ว โรคอ้วนยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในรูปแบบของประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และอุปสรรคระยะยาวต่อการพัฒนาของประเทศไทย มีการประมาณการเมื่อปีพ.ศ. 2562 ว่าโรคอ้วนส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (หรือราว 220,000 ล้านบาท) และคาดว่าตัวเลขนี้อาจสูงถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี (หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2603 หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการรับมือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เนื่องจากเป็นหนึ่งในความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทยและการพัฒนาประเทศ โดยขณะนี้กระทรวงฯ กำลังดำเนินการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่กำลังเพิ่มความรุนแรงขึ้นนี้
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรีและประธานสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอ้วนไม่ใช่แค่เรื่องของน้ำหนักตัวของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การรับมือกับปัญหานี้ ภาครัฐจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาคภาคเอกชนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาโรคอ้วนว่า สุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ เราจำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว
ในฐานะเจ้าภาพของงานเสวนาครั้งนี้ ฯพณฯ แดนนี่ อันนัน เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง เดนมาร์กเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่โนโวนอร์ดิสค์ ผู้นำระดับโลกด้านการจัดการโรคอ้วน ความร่วมมือระหว่างบริษัทเดนมาร์กกับหน่วยงานของไทย รวมถึงสถาบันด้านสาธารณสุขในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างเดนมาร์กและไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับองค์กรและระดับประชาชน
ภายในงานยังมีการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รศ. นพ. เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย และนายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด โดยการเสวนาเน้นทั้งนโยบายด้านโรคอ้วนในประเทศไทยและแนวทางจากต่างประเทศ โดยชี้ให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับอัตราการเป็นโรคอ้วนที่สูงโดยเฉพาะในเขตเมืองของประเทศไทย และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
“เราเชื่อว่าการรับมือกับวิกฤตโรคอ้วนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ และตัวแทนธุรกิจในวงการสาธารณสุขจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและจัดการกับโรคอ้วน” นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ด้านรศ. พญ. ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ รพ. รามาธิบดี กล่าวว่า โรคอ้วนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคนไทย 40% มีภาวะน้ำหนักเกิน และเกือบ 40% เป็นโรคอ้วนลงพุง โรคอ้วนถูกจัดเป็น “โรคเรื้อรัง” เช่นเดียวกับเบาหวาน ความดัน
ส่วนวิธีวัด: ค่า BMI (ค่าปกติ 18.5-23, เกิน 23 = น้ำหนักเกิน, เกิน 25 = อ้วน), เส้นรอบเอวเกิน 80 ซม. (หญิง) / 90 ซม. (ชาย) นอกจากนี้ ความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร่วม เช่น เบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด กระดูกเสื่อม นอนกรน ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ แนวทางรักษา: เริ่มที่ “ปรับพฤติกรรม” อาหาร + ออกกำลังกายระยะยาว หากไม่สำเร็จ อาจใช้ยา (เช่น ยาฉีด GLP-1 ลดได้เฉลี่ย 8-15%) ทางเลือกสุดท้ายคือ “ผ่าตัดลดกระเพาะ” ซึ่งได้ผลดีที่สุด (ลดได้ 20-30%) แต่ต้องมีการ ติดตามผลและกินวิตามินตลอดชีวิต
” การลดน้ำหนักแบบยั่งยืนนั้น คือลดไขมันแต่รักษากล้ามเนื้อไว้ ควรลดน้ำหนักเดือนละประมาณ 2 กก. อย่างปลอดภัย”รศ.พญ.ประพิมพ์พร กล่าว
รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น หัวใจวาย เส้นเลือดหัวใจตีบ ภาวะอักเสบในร่างกายจากความอ้วนทำให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดคราบไขมันสะสม ความอ้วนยังเป็นปัจจัยที่ทำให้โรค NCD อื่นรุนแรงขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน อย่างไรก็ตาม ภาวะอ้วนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจกระทบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ
“จึงขอเน้นย้ำว่า การลดน้ำหนักเพียง 5-10% ก็ลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้มาก ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า “ความอ้วนไม่ใช่ความผิดของคนไข้” แต่ต้องให้การสนับสนุนทั้งจากระบบแพทย์และนโยบายสาธารณสุข”รศ.นพ.ดิลก กล่าว