"นักวิชาการมธ." ห่วงคนความสับสนขายเหล้า-เบียร์ “วันพระใหญ่” ปชช. ทำผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหตุประกาศสำนักนายกฯ เป็นภาษากฎหมาย-รัฐสื่อสารน้อย หวั่นเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าขายได้ทุกสถานที่-ทุกกรณี แนะเร่งอธิบายให้ชัด ชงตั้ง กก.ร่วม 3 กระทรวงกำหนดโซนชัดเจน ป้องกันกฎหมายขัดแย้งกันเอง
วันที่ 11 พ.ค.2568 รศ. ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า รู้สึกกังวลต่อการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2568 ที่อนุญาตให้สถานที่ 5 รูปแบบ สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ได้ โดยประเด็นที่กังวลคือ อาจเกิดความสับสนและเข้าใจผิดแก่ประชาชนว่ากฎหมายอนุญาตให้สถานที่ทุกประเภทขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรีทุกกรณี ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
“ในวันวิสาขบูชานี้ กังวลว่าอาจมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนหนึ่ง เปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทำผิดกฎหมายด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” รศ. ดร.อัจฉรา กล่าว
รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในบางข้อเป็นภาษาทางกฎหมายที่อาจนำมาสู่การตีความอันกำกวมได้ เช่น การขายในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่คล้ายกับสถานบริการและตั้งอยู่ในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับประชาชนในการทำความเข้าใจ
ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาครัฐควรเร่งดำเนินการสื่อสารทางสังคมให้ประชาชนเกิดความกระจ่าง ซึ่งส่วนตัวมองว่า ที่ผ่านมาภาครัฐยังดำเนินการเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป
ทั้งนี้ อาจจะทำประเด็นคำถามที่คนมักจะสับสนและสงสัย นำมาทำให้เกิดความเข้าใจ โดยโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือสื่อทีวีที่มีคนติดตามเยอะอย่างรายการเล่าข่าว นำคำถามที่คนสงสัยมาทำให้กระจ่าง เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวทุกที่ขายได้หรือไม่ หรือร้านอาหารกับสถานบริการต่างกันอย่างไร หรือวันพระกับวันสำคัญทางศาสนาเหมือนกันหรือไม่ ขายได้แตกต่างกันอย่างไร หรือในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้สื่อท้องถิ่นช่วยประชาสัมพันธ์ เช่น เสียงตามสายในชุมชน หรือสื่อสารไปยังผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เข้าไปทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ ซึ่งอาจไม่ได้ติดตามข่าวสาร และฟังการบอกเล่ามาจากคนอื่น
นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะต้องกลับไปทบทวนด้วยว่า ประกาศฉบับดังกล่าว ขัดแย้งกันเองกับกฎหมายฉบับอื่นๆ หรือไม่ เช่น บางพื้นที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ขณะที่มีคำสั่งห้ามจากกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ในระหว่างทางการบังคับใช้
"ขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อดำเนินการศึกษาประเด็นพื้นที่ว่าตรงไหนที่มีความเหมาะสมในการประกาศอนุญาตให้มีการจำหน่ายได้ เพราะบางพื้นที่แม้จะอยู่ในขอบข่ายของเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เช่น บางสถานบริการซึ่งอยู่ในโซนพื้นที่ท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวก็ยังอยู่ใกล้แหล่งสถานศึกษาหรือโรงเรียน ซึ่งมีข้อบังคับห้ามจากกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง การมีคณะกรรมการจะช่วยแก้ไขปัญหาและคลี่คลายประเด็นที่ทับซ้อนเหล่านี้" นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว