“อิทธิพร” แจง “กกต.” ปิดหมายเรียก “ฮั้ว สว.” เป็นดุลพินิจ คกก.สืบสวนฯ ปัดโดนบีบ ลั่นไม่กังวลถูกมองเป็นการเมือง “วิสุทธิ์”เชื่อไม่ใช่เกมการเมือง ส่วน “รพ.ราชทัณฑ์” ร่อนหนังสือแจง โต้ฟ้องศาลเพิกถอนมติ “แพทยสภา” ขณะ ที่ “อนุสรณ์” เมินกระแสคว่ำงบฯ69 ปั่นการเมืองให้วุ่นวาย ย้ำ “รัฐบาล” มีเสถียรภาพ อยู่ครบ 4 ปี ส่วน“ซูเปอร์โพล”เผยปชช.มองรัฐบาลขัดแย้งทำการเมืองเริ่มเข้าสู่ทางตัน
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.68 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงคดีฮั้วเลือก สว. ตามที่มีการตั้งประเด็น กกต. ทำเกินไป ในการออกหมายเรียกโดยไม่มีการแจ้งทางไปรษณีย์ตามขั้นตอนหรือไม่ ว่า การปิดหมายการส่งหมายแจ้งนัดตามระเบียบเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ของ กกต. ที่ได้ตั้งขึ้นมา 25ชุดและ1คณะพิเศษ ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่
“ยืนยันว่า ดีเอสไอไม่ได้บีบ กกต. เรื่องนี้ กกต. ขอให้ดีเอสไอแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ที่มีมีความรู้ และประสบการณ์และความสามารถเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนทำงานร่วมกันชุดที่ 26 โดยไม่ได้มีใครบีบใครและขอย้ำว่า กกต.ไม่กังวล ที่ถูกมองเป็นเกมการเมือง เพราะดำเนินการทุกอย่างต้องยึดขั้นตอนตามกฎหมายและทราบดี ถึงแรงกดดันภายนอก ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องปกติ”
ด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีมีการตั้งข้อสังเกตการดำเนินคดีฮั้ว สว.เป็นเกมการเมืองว่า ไม่ใช่เรื่องการเมือง และเป็นหน้าที่ ของกกต.และดีเอสไอ ที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชน ขอยืนยันว่าว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องการเมือง เราต้องให้กำลังใจ กกต. ดีเอสไอ ด้วยซ้ำไป ที่ทำเรื่องไม่ถูกต้อง ให้ถูกต้อง เรื่องนี้คนจับตา เขากลัวอย่างเดียวอย่าให้มีมวยล้มต้มคนดูเท่านั้นเอง
ส่วน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการวางแผนเตรียมการคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 และความเป็นไปได้ในการยุบสภา ว่า กระแสข่าวที่ออกมาอาจเป็นเพียงความพยายามในการที่จะปั่นกระแสทางการเมืองให้เกิดความวุ่นวาย ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลยังแน่นหนา ไม่มีเงื่อนไขใดนำไปสู่การยุบสภาในเวลานี้ เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่น เพราะต่างตระหนักดีว่าหน้าที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าครองชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม รัฐบาลกำลังเดินหน้าลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส แก้หนี้ และปราบปรามยาเสพติด ทุกนโยบายต้องขับเคลื่อนด้วยงบประมาณเป็นเครื่องมือ
"หากร่างงบประมาณถูกคว่ำ ประชาชนจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2569 คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลไม่เล่นเกมการเมือง ไม่เอาอนาคตของประเทศชาติและประชาชนไปเสี่ยงทุกฝ่ายควรร่วมกันมองไปข้างหน้า ไม่ปล่อยให้ข่าวลือหรือความพยายามดิสเครดิตรัฐบาลมากลบเสียงของความเดือดร้อนที่แท้จริง และขอย้ำว่า รัฐบาลยังมั่นคง ยังทำงานได้เต็มที่ และจะเดินหน้าครบวาระ 4 ปีตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้”
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า จากกรณีที่มีสื่อมวลชนได้มีการเผยแพร่ข่าว และพาดหัวกล่าวว่า “รพ.ราชทัณฑ์ เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติแพทยสภา” อันเกิดจากมีมติลงโทษแพทย์ 3 ราย จากกรณีการรักษาพยาบาลนายทักษิณ ชินวัตร ณ โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 นั้น กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า เบื้องต้นขณะนี้ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับทราบ ข่าวสารเกี่ยวกับมติที่ประชุมแพทยสภา ในการพิจารณากรณีจริยธรรมของแพทย์ในการส่งนายทักษิณ ออกรักษาตัว ณ โรงพยาบาลตำรวจ ผ่านการเผยแพร่จากสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังคงต้องรอคำวินิจฉัยของกระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งข้อมูลที่สื่อมวลชนนำออกมาเผยแพร่นั้น อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมและอาจส่งผลกระทบระหว่างหน่วยงานต่างๆ อีกทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ ในสังกัด
กรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2559 เสมอมา ดังนั้นจากกรณีดังกล่าวกรมราชทัณฑ์ ยังอยู่ในระหว่างรอคำวินิจฉัยต่อไป
วันเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ทางตันของการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยผลสำรวจล่าสุด ประชาชนเกือบครึ่ง เชื่อการเมืองไทยเข้าสู่ทางตัน โดยพบว่า ร้อยละ 47.1 ขณะที่อีกร้อยละ 31.9 ไม่มีความเห็น และเพียงร้อยละ 21.0 เท่านั้น ที่ยังไม่คิดว่าการเมืองจะเข้าสู่ทางตัน โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการเมืองกำลังถึงทางตัน ได้แก่ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล ร้อยละ 45.7 ปัญหาในวุฒิสภา ร้อยละ 43.8 ปัญหาส่วนตัวของนักการเมืองใหญ่ ร้อยละ 40.9 ปัญหาความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อการตรวจสอบขององค์กรอิสระ ร้อยละ 39.7 และความรู้สึกว่ามีการเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 38.2 ปัจจัยเหล่านี้สะท้อน “วิกฤตศรัทธา” ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือบริหาร แต่ครอบคลุมถึงระบบตรวจสอบและความเป็นธรรมในสังคมการเมืองไทย
ผลสำรวจนี้ยังสะท้อนว่า ความหวังของประชาชนต่ออนาคตการเมืองไทยอยู่ที่การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยร้อยละ 68.5 ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาปากท้องได้อย่างแท้จริง ขณะที่ร้อยละ 64.3 ต้องการเห็นการเมืองที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน และอีกร้อยละ 62.7 ต้องการเห็นองค์กรอิสระที่เป็นกลาง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการคาดการณ์อนาคตทางการเมืองของประเทศ กลับพบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 57.8 ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 26.1 พอคาดเดาได้ และร้อยละ 16.1 ไม่มีความเห็น