ยอมย้ายก็แล้ว ‘ชาวกม.11’ พ้อถูกไล่ที่ทำ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ ผู้ว่ารฟท.เซ็นให้เช่าที่ใหม่กี่โมง?
GH News May 12, 2025 08:27 AM

ชาวกม.11 พ้อ ยอมย้ายก็แล้ว – ถูกไล่ที่ทำ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ ผู้ว่าการรถไฟฯ เซ็นสัญญาเช่าที่ใหม่ ให้อีก 20 ชุมชนกี่โมง?

สืบเนื่อง ‘ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย’ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟ (ชมฟ.) , เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม และเครือข่ายชุมชนเมืองภาคอีสาน – ภาคใต้ รวมตัวชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม เมื่อ 18 – 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติสัญญาเช่าแก่ชุมชนแออัด เพื่อใช้พื้นที่เดิมในการทำโครงการบ้านมั่นคง ในปีงบประมาณ 2568

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ปัญหา (20 ก.พ.) พร้อมมีนโยบายสั่งการให้การรถไฟฯ เร่งจัดทำสัญญาเช่าแก่ 26 ชุมชนตามข้อเสนอ โดยปัจจุบันมีการลงนามสัญญาเช่าที่ดินระหว่างการรถไฟฯ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แล้ว 6 สัญญาแปลงที่ดิน ยังเหลืออีก 20 ชุมชน นั้น

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ชุมชนพัฒนากม. 11 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นางณภัค สุริยชน ตัวแทนเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) นำแถลงการณ์โดยมีใจว่า ผ่านไปเกือบ 3 เดือน มีการทำสัญญาเช่าได้เพียง 6 ชุมชน คงเหลืออีก 20 ชุมชนที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาเช่า ทั้งที่การรถไฟฯ ได้ทำหนังสือแจ้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยงานที่จะทำสัญญาเช่าจากการรถไฟฯ และนำที่ดินมาจัดระบบให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเช่าต่อตามโครงการบ้านมั่นคง

โดย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ยอมรับเงื่อนไขการเช่าตั้งแต่วันที่ 20-21 มีนาคม ซึ่งแสดงว่า การรถไฟฯ พร้อมให้เช่า และ พอช. ก็ตอบรับเงื่อนไขการเช่า และเตรียมเงินค่าเช่างวดแรกไว้พร้อมแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้เช่า จึงขอให้ผู้ว่าการรถไฟฯ อนุมัติทำสัญญาเช่าภายในวันที่ 23 พฤษภาคม เพื่อให้ พอช. สามารถเบิกงบได้ทันงบประมาณปี 2568

นางสำอางค์ บัวอาจ ตัวแทนชุมชนริมคลองกม.11 ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่จะต้องรื้อย้ายออกเพื่อให้รัฐบาลนำพื้นที่ไปทำโครงการบ้านเพื่อคนไทย เฟสหนึ่ง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาชาวชุมชนให้ความร่วมมือกับการรถไฟฯ มาโดยตลอด การรถไฟฯ บอกว่าพื้นที่ที่เราอยู่มีศักยภาพในเชิงธุรกิจ ให้คนจนอยู่ไม่ได้ ให้เราต้องไปอยู่ที่อื่น

“พวกเราก็ยอมที่จะย้าย และทำงานร่วมกับการรถไฟฯ จนกระทั่ง การรถไฟฯ ชี้ว่า สามารถจัดที่รองรับที่ แปลงซอยโชติวัฒน์ เขตบางซื่อ ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่เชิงธุรกิจแต่อย่างใด เพราะเป็นพื้นที่ที่เหลือจากที่การรถไฟฯ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สร้างทางด่วน” นางสำอางค์เผย

นางสำอางค์กล่าวด้วยว่า การเร่งอนุมัติให้ชุมชนเช่านั้น มีความสำคัญอย่างมาก เพราะว่าหากการรถไฟฯ อนุมัติให้เช่าล่าช้า ก็จะทำให้การเบิกงบประมาณจากโครงการบ้านมั่นคง เพื่อปรับปรุงที่ดินและสร้างบ้านล่าช้าไปด้วย เมื่อชุมชนไม่อาจย้ายออก โครงการบ้านเพื่อคนไทย ก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

ด้าน นายวิม กาญจนปาน ประธานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และประธานชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้าง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง กระทรวงคมนาคมแห่งใหม่ เปิดเผยว่า ขั้นตอนการตรวจวัดที่ดินที่แปลงโชติวัฒน์ ตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ภายในของการรถไฟฯ และสำนักงานเขตผ่านเรียบร้อยแล้ว

“แต่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดผู้ว่าการรถไฟฯ จึงไม่อนุมัติให้มีการเซ็นสัญญาเช่าเสียที”

ด้าน ด.ญ.ปริญญา มณีสาร หรือ ขนม ตัวแทนเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบ้านเพื่อคนไทย เป็นตัวแทนอ่านจดหมายถึง ‘คุณลุงผู้ว่าการรถไฟที่เคารพ’ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

“เวลานี้โครงการบ้านเพื่อคนไทย กำลังจะสร้างในชุมชนที่หนูอยู่ปัจจุบัน รถไฟ จัดสรรที่ดินให้พวกหนูเช่าบริเวณโชติวัฒน์ ซึ่งห่างจากชุมชน กม.11 ไม่ไกลมาก และใกล้โรงเรียนของหนูและเพื่อนๆ แม่บอกหนูว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไว้ให้พวกเราเตรียมสร้างบ้านแล้ว แต่เรายังนำมาใช้ไม่ได้ เราต้องมีสัญญาเช่าก่อน งบประมาณมีกรอบเวลา หากเบิกล่าช้ากว่ากำหนด โอกาสการมีบ้านมั่นคงดังหวัง ก็หมดไป”

ในตอนท้าย นายเชาวน์ เกิดอารีย์ ที่ปรึกษา ชมฟ. กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จากความล่าช้าที่เกิดขึ้น ผู้แทนจากขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยจำนวน 200 คน จะไปติดตามเรื่องจากกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เวลา 09.30 น.

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.