ยานอวกาศ COSMOS 482 ได้ตกลงมาสู่โลกแล้ว รอยืนยัน ตกที่ไหน
วันที่ 10 พฤษภาคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า รายงานว่า ยานอวกาศ COSMOS 482 ได้ตกลงมาสู่โลกแล้ว เมื่อเวลาประมาณเที่ยงเศษ ตามเวลาในประเทศไทย
ส่วน ตกที่บริเวณจุดใด อยู่ระหว่างยืนยันความแน่นอนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) รายงานว่าสำหรับ ยานสำรวจดาวศุกร์คอสมอส 482 ของโซเวียต ซึ่งเป็นยานที่ล้มเหลวในการเดินทางไปยังดาวศุกร์ตั้งแต่ในยุคสมัยสงครามเย็น และโคจรอยู่รอบโลกนานกว่า 53 ปี
ยานคอสมอส 482 (Kosmos 482) ของอดีตสหภาพโซเวียตถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1972 เป็นยานสำหรับลงจอดบนพื้นผิวดาวศุกร์ แต่ระหว่างเดินทาง ยานไม่สามารถออกจากวงโคจรระดับต่ำรอบโลกได้ และแยกออกเป็นชิ้นส่วนหลายชิ้น ซึ่งชิ้นส่วนใหญ่ ๆ รวมถึงยานลงจอด ยังคงค้างอยู่ในวงโคจรรอบโลกมานาน 53 ปีจนถึงปัจจุบัน
สาเหตุเกิดจากจรวดท่อนบนของจรวดโซยุซ (Soyuz) ที่ใช้ส่งยานไปยังดาวศุกร์ได้หยุดการทำงานก่อนกำหนด ทำให้ยานถูกทิ้งค้างไว้ในวงโคจรรอบโลก ซึ่งล่าสุด Marco Langbroek นักติดตามดาวเทียมในห้วงอวกาศรอบโลกชาวเนเธอร์แลนด์ พบว่ายานลำนี้อาจจะตกลงสู่โลกแบบไร้การควบคุมในช่วงวันที่ 9-10 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 หลังจากการติดตามชิ้นส่วนยานลำนี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์มาหลายปี
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตกกลับสู่โลกของยานคอสมอส 482 คือ ยานลงจอดที่ออกแบบให้สามารถฝ่าบรรยากาศหนาทึบของดาวศุกร์ อาจสามารถรอดจากการฝ่าบรรยากาศโลกที่เบาบางกว่าบรรยากาศดาวศุกร์ได้ นั่นหมายความว่า ยานอาจไม่ได้ถูกเผาไหม้ไปจนหมดในชั้นบรรยากาศโลก สามารถฝ่าชั้นบรรยากาศและตกลงสู่พื้นผิวโลกในที่สุด
ยานคอสมอส 482 เป็นยานสำรวจดาวศุกร์ที่เป็นฝาแฝดกับยานเวเนรา 8 (Venera8) ของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเวเนรา 8 เป็นยานสำรวจลำที่ 2 ที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวดาวศุกร์ โดยถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1972 ก่อนลงจอดสำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน และส่งข้อมูลกลับมายังโลกนาน 50 นาที ก่อนที่จะยุติการทำงานจากสภาพแวดล้อมโหดร้ายบนดาวศุกร์
ขณะที่ ยานคอสมอส 482 ที่เป็นยานฝาแฝด ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศหลังยานเวเนรา 8 เพียง 4 วัน เมื่อออกจากวงโคจรรอบโลกไม่สำเร็จ ก็กลายเป็นขยะอวกาศอยู่รอบโลกและค่อย ๆ ลดระดับลงมา โดยชิ้นส่วนของยานที่ค้างอยู่ในวงโคจรรอบโลกเป็นยานลงจอดที่มีมวล 495 กิโลกรัม และสามารถทนต่อความร้อนสูงในการพุ่งฝ่าบรรยากาศหนาทึบได้