12 พ.ค.2568- นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า วันนี้ ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ว่าเข้าข่ายมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามความในมาตรา 234 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในคำร้องนี้มีข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สาธารณชนสนใจติดตามเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี คำร้องจึงได้สรุปข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ ป.ป.ช. ซึ่งควรทราบอยู่แล้ว เป็นข้อ ๆ ดังนี้ ข้อ 1. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 มาตรา 7 บัญญัติว่า “มาตรา 6 กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจากการควบคุม ขัง หรือจำคุกไว้ในเรือนจำ แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมตลอดถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ”
“มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”
ข้อ 2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 บัญญัติว่า “มาตรา 246 เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต
(2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้นศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้ และให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง ลักษณะของสถานที่อันควรตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับสภาพของจำเลย และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสามหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายจำคุกได้”
ข้อ 3. กฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 กำหนดไว้ว่า หมวด 2 การขังในกรณีตามมาตรา 246 ส่วนที่ 1 สถานที่ขัง วิธีการควบคุม และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ข้อ 22 ให้นำบทบัญญัติในหมวด 1 ส่วนที่ 1 สถานที่ขัง ส่วนที่ 2 วิธีการควบคุม และส่วนที่ 3 มาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น มาใช้บังคับแก่สถานที่ขังวิธีการควบคุม และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามหมวดนี้ด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 4. ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) ตามหนังสือที่ ยธ 0904/ 02042 วันที่ 30 เมษายน 2551 และต่อมาเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ตามหนังสือที่ ยธ 0904/ 03050 วันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552)
ข้อ 5. ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำพ.ศ. 2563 โดยมีความบางข้อ เช่น “ข้อ 3 การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาล หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตของรัฐตามสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังและอยู่ในพื้นที่ที่สามารถส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาได้เป็นลำดับแรกเว้นแต่แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษามีความเห็นให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเพราะสถานที่รักษาของรัฐดังกล่าวขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการรักษาผู้ต้องขัง
ในกรณีที่สถานที่รักษาของรัฐตามวรรคหนึ่งอยู่ห่างไกล และหากผู้ต้องขังไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ ให้ส่งตัวผู้ต้องขังคนนั้นไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เมื่อผู้ต้องขังพ้นขีดอันตรายแล้ว ให้รีบส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาในสถานที่รักษาของรัฐตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว”
“ข้อ ๔ เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำให้ดาเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดเจ้าพนักงานเรือนจำอย่างน้อยจำนวนสองคนควบคุมผู้ต้องขังป่วยหนึ่งคนให้อยู่ภายในเขตที่กำหนด เว้นแต่การออกนอกเขตนั้นเป็นกรณีจาเป็นเร่งด่วนตามคำสั่งแพทย์ หรือกรณีมีเหตุฉุกเฉินอื่นอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องขัง… (๒) ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ทางราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ ๓ จัดให้”
“ข้อ ๕ ผู้ต้องขังซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ต้องปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้ … (๒) ใช้สิทธิของผู้ต้องขังตามที่ทางราชการจัดให้และห้ามเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ ๓ จัดให้”
“ข้อ ๗ กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ ๓ เป็นเวลานานให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ ดังต่อไปนี้ … (๓) พักรักษาตัวเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ”
ข้อ 6. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 แพทยสภาได้เผยแพร่ข่าวสำหรับสื่อมวลชน โดยสรุปความได้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติลงโทษแพทย์ 3 ท่าน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่เผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น
ข้อ 7. กรณีดังกล่าว เริ่มจากการกระทำของเจ้าพนักงานในส่วนของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ปรากฏข้อเท็จจริงพอสรุปได้ว่า ผู้ต้องขังรายหนึ่งไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ แต่กลับมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รายนี้ ออกไปจากสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก ให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องพิเศษเพียงคนเดียว เป็นเวลาประมาณ 180 วัน โดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และขัดต่อพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งรัฐมนตรีต้องทราบตามความในกฎกระทรวงฯ ข้อ ๗ (๓)
ข้อ 8. อีกทั้งยังน่าเชื่อว่า การนำตัวผู้ต้องขังรายนี้ออกไปจากสถานที่คุมขัง โดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ดังกล่าว คือ ไม่ได้มีการร้องขอให้ศาลซึ่งมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ตามความในมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากไม่พบข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หรือไม่
ข้อ 9. ดังนั้น หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลและติดตามข้อเท็จจริงของผู้ต้องขังรายนี้ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีและยังคงเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองที่สื่อมวลชนมีการติดตามและตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอดว่าได้ถูกจำคุกโดยหมายของศาลจริงหรือไม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่แพทยสภาได้มีมติออกมาลงโทษแพทย์ 3 ราย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ก็ยังไม่พบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ใช้หน้าที่และอำนาจเข้าไปติดตามตรวจสอบว่า จำเลยได้มีการปฏิบัติตามตามกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
ข้อ 10. ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่จะต้องรู้หรือควรรู้ว่า ผู้ต้องขังรายนี้ได้รับการบังคับให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 หรือไม่
ข้อ 11. แต่กลับไม่พบข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ใช้หน้าที่และอำนาจให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ต่อไปโดยเร็ว และขยายผลการตรวจสอบด้วยว่า มีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวทั้งในฐานะตัวการ ผู้ร่วม ผู้สนับสนุน หรือไม่ และบุคคลอื่นที่รู้เห็นหรือร่วมกระทำการจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย หรือไม่